เรือยักษ์ลำใหญ่สุดของสหรัฐฯ ประจำการแอตแลนติกเหนือท่ามกลางภัยคุกคามจากรัสเซีย

FILE - In this April 8, 2017 photo provided by the U.S. Navy, the USS Gerald R. Ford embarks on the first of its sea trials to test various state-of-the-art systems on its own power for the first time, from Newport News, Va.

เรือบรรทุกเครื่องบินลำใหม่ที่ทันสมัยที่สุดและมีขนาดใหญ่ที่สุดของกองทัพสหรัฐฯ เข้าประจำการบริเวณมหาสมุทรแอตแลนติกเหรือเมื่อวันอังคาร เพื่อเข้าร่วมในภารกิจฝึกฝนทหารชาติพันธมิตร และลาดตระเวณน่านน้ำดังกล่าวท่ามกลางความตึงเครียดระหว่างรัสเซียกับยุโรป

เรือบรรทุกเครื่องบิน ยูเอสเอส เจอรัลด์ อาร์ ฟอร์ด (USS Gerald R. Ford) เข้าประจำการในฐานะเรือจ่าฝูงของกลุ่มเรือจู่โจมที่ประกอบด้วยเรือรบ 6 ลำขององค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ หรือ นาโต้ (NATO) เรือของกองทัพสหรัฐฯ อีกหลายลำ และเรือดำน้ำหนึ่งลำ

นาวาเอก พอล แลนซิลอตตา เจ้าหน้าที่บัญชาการประจำเรือยูเอสเอส เจอรัลด์ อาร์ ฟอร์ด กล่าวกับผู้สื่อข่าวว่า "มหาสมุทรแอตแลนติกทั้งหมดจะเป็นสนามเด็กเล่นของเรา" และว่า "เราจะปฏิบัติภารกิจทุกอย่างที่อยู่ในขอบเขตทางทะเลและน่านฟ้าของมหาสมุทรแอตแลนติก"

กองทัพเรือสหรัฐฯ ระบุว่า "เรือขนาดใหญ่ที่สุดและทรงพลังที่สุดของอเมริกา" มีเทคโนโลยีสมัยใหม่กว่า 20 ประเภท และมีการออกแบบลานจอดเครื่องบินแบบใหม่ที่ทำให้สามารถเพิ่มเที่ยวบินของเครื่องบินไอพ่นได้มากกว่า 30% เมื่อเทียบกับเรือบรรทุกเครื่องบินลำอื่น

An F/A-18F Super Hornet jet flies over the USS Gerald R. Ford as the U.S. Navy aircraft carrier tests its EMALS magnetic launching system, which replaces the steam catapult, and new AAG arrested landing system in the Atlantic Ocean July 28, 2017. Picture

หนึ่งในเทคโนโลยีล่าสุดของเรือยักษ์พลังงานนิวเคลียร์ลำนี้ คือระบบเรดาร์แบบใหม่ที่สามารถตรวจจับภัยคุกคามต่าง ๆ ได้ และใช้ระบบปล่อยเครื่องบินพลังงานแม่เหล็กไฟฟ้า หรือ EMALS (Electromagnetic Aircraft Launch System) ในการส่งเครื่องบินออกจากลานจอดบนเรือ แทนระบบพลังไอน้ำเหมือนเรือรุ่นเก่าซึ่งต้องใช้พื้นที่บนเรือในการติดตั้งระบบท่อแรงดันไอน้ำและถังเก็บน้ำจืดในการสร้างไอน้ำ

ปัจจุบัน เรือยูเอสเอส ฟอร์ด คือเรือรบขนาดใหญ่ที่สุดในโลก ด้วยระวาง 112,000 ตัน มากกว่าเรือบรรทุกเครื่องบินชั้นนิมิตซ์ (Nimitz-class carrier) ราว 12,000 ตัน และมากกว่าเรือบรรทุกเครื่องบินลำใหม่ล่าสุดของจีน ฝูเจี้ยน (Fujian) ราว 32,000 ตัน

นอกจากนี้ จากการออกแบบใหม่และการติดตั้งระบบอัตโนมัติต่าง ๆ ทำให้เรือลำนี้ใช้ลูกเรือได้น้อยลงประมาณ 600 คน เมื่อเทียบกับเรือบรรทุกเครื่องบินชั้นนิมิตซ์ ซึ่งคาดว่าจะช่วยลดต้นทุนค่าใช้จ่ายด้านกำลังพลลงได้หลายพันล้านดอลลาร์ในช่วงเวลา 50 ปีที่เรือลำนี้ประจำการ

This handout picture released by the US Navy on May 17, 2019 shows the Nimitz-class aircraft carrier USS Abraham Lincoln (CVN 72) and the Wasp-class Amphibious Assault Ship USS Kearsarge (LHD 3)

สำหรับกองเรือจู่โจมของเรือยูเอสเอส ฟอร์ด ประกอบด้วยเรือรบจากสหรัฐฯ แคนาดา เดนมาร์ก ฟินแลนด์ ฝรั่งเศส เยอรมนี เนเธอร์แลนด์ สวีเดน และสเปน ถือกลุ่มเรือพันธมิตรที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในมหาสมุทรแอตแลนติกนับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่สอง อ้างอิงจากกองทัพเรือสหรัฐฯ

นาวาเอก พอล แลนซิลอตตา กล่าวว่า การประจำการในแอตแลนติกเหนือครั้งนี้จะถือเป็น "รากฐานสำคัญ" เพื่อเตรียมการสำหรับการประจำการทั่วโลกในระยะยาวที่จะเริ่มในปีหน้า ตลอดจนการซ้อมรบเพื่อการป้องกันตนเองในแอตแลนติกเหนือ การจู่โจมทางทะเลพิสัยไกล การกระจายปฏิบัติการในน่านน้ำ การซ้อมรบเพื่อต่อต้านการโจมตีจากเรือดำน้ำ และบูรณาการทางทะเล

พลเรือโท แดน ดไวเยอร์ ผู้บัญชาการกองเรือที่สองของกองทัพเรือสหรัฐฯ ซึ่งดูแลกิจการในแถบมหาสมุทรแอตแลนติกเหนือและอาร์กติก กล่าวว่า "ในการแข่งขันเชิงยุทธศาสตร์บนพื้นที่นี้ เราไม่สามารถทึกทักได้อีกต่อไปว่าสภาพทางภูมิศาสตร์จะช่วยป้องกันเราจากการเผชิญหน้าได้เหมือนในอดีต"

การประจำการของเรือลำใหญ่ที่สุดของกองทัพสหรัฐฯ ในครั้งนี้มีขึ้นหลังจากรัสเซียบุกรุกยูเครนเมื่อ 7 เดือนก่อน และประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน แห่งรัสเซีย สั่งระดมกำลังพลสำรอง 300,000 คนเมื่อเดือนที่แล้วเพื่อตอบโต้การสูญเสียดินแดนที่ยึดครองมาได้ให้แก่ยูเครน

In this photo released by the U.S. Navy, the Nimitz-class aircraft carrier USS Carl Vinson (CVN 70), the Ticonderoga-class guided-missile cruiser USS Lake Champlain (CG 57), and the Arleigh Burke-class guided-missile destroyer USS Chafee (DDG 90) conduct a passing honors ceremony with the Japan Maritime Self-Defense Force (JMSDF) Murasame-class destroyer JS Ikazuchi (DD 107) and the Kongo-class guided-missile destroyer JS Chokai (DDG 176) in the Pacific Ocean, Sept. 19, 2021.

อย่างไรก็ตาม บรูซ โจนส์ ศาสตราจารย์ที่ปรึกษาแห่งมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด และผู้อำนวยการโครงการระเบียบโลกและยุทธศาสตร์ ของสถาบันบรูกกิงส์ (Brookings Institution's Project on International Order and Strategy) กล่าวว่า แม้รัสเซียได้หันไปมุ่งเน้นการเสริมกำลังทางบก แต่กองเรือของรัสเซียยังคงแข็งแกร่งและไม่ได้รับผลกระทบมากนักจากสงครามครั้งนี้

นักวิชาการผู้นี้กล่าวกับวีโอเอว่า "ช่วงก่อนเกิดสงครามยูเครน เราเห็นการเพิ่มขึ้นของกิจกรรมทางทะเลของรัสเซียในแถบอาร์กติก ดังนั้นบริเวณแอตแลนติกเหนือจึงถือเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญที่สหรัฐฯ และชาติพันธมิตรต้องป้องกันการคุกคามจากรัสเซีย"

บรูซ โจนส์ ชี้ว่า การก่อวินาศกรรมท่อส่งก๊าซนอร์ดสตรีมในทะเลดำ คือตัวอย่างของความก้าวร้าวที่กองทัพเรือรัสเซียอาจนำมาใช้อีกในอนาคต "เพราะรัสเซียอาจต้องการยกระดับความขัดแย้งให้ไปไกลกว่ายูเครนในขณะที่สถานการณ์การสู้รบในยูเครนไม่เป็นใจต่อประธานาธิบดีปูติน"

The U.S. carrier USS Ronald Reagan is escorted as it arrives in Busan, South Korea, Friday, Sept. 23, 2022. The nuclear-powered aircraft carrier arrived in Busan port on Friday ahead of the two countries' joint military exercise that aims to show their strength against growing North Korean threats.

เรือบรรทุกเครื่องบินถูกสร้างมาให้เป็นเหมือนฐานทัพอากาศกลางทะเลที่สามารถเคลื่อนที่ได้ และใช้เป็นฐานการป้องกันทางอากาศให้แก่เรือรบที่ปฏิบัติหน้าที่อยู่ในน่านน้ำต่าง ๆ ทั่วโลก ตัวอย่างเช่น เหตุการณ์ที่สหรัฐฯ ใช้เรือบรรทุกเครื่องบินเป็นฐานโจมตีทางอากาศใส่ผู้ก่อการร้ายรัฐอิสลามในตะวันออกกลาง เป็นต้น

เมลานี ซิสซัน ผู้เชี่ยวชาญด้านนโยบายต่างประเทศแห่งสถาบันบรูกกิงส์ กล่าวว่า เรือบรรทุกเครื่องบินถือเป็น "กระดูกสันหลังของอเมริกา" ในการวางแผนขยายอำนาจทางทหาร ทั้งในด้านของการเคลื่อนกำลังรบและยังเป็นสัญลักษณ์สำคัญของพันธะผูกพันทางทหารของสหรัฐฯ ต่อชาติพันธมิตรทั่วโลก

ทั้งนี้ เรือยูเอสเอส ฟอร์ด ลำใหม่นี้ ถือเป็นเรือบรรทุกเครื่องบินชั้นใหม่ลำแรกในรอบ 45 ปีที่ออกประจำการ ในขณะที่เรือบรรทุกเครื่องบินชั้นรองลงมา คือ ยูเอสเอส นิมิตซ์ กำลังจะปลดประจำการในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า

  • ที่มา: วีโอเอ