Your browser doesn’t support HTML5
"รัฐอะแลสกา" ออกกฏระเบียบใหม่ให้กับนักปีนเขา ด้วยการจัดพื้นที่ทิ้งอุจจาระบนยอดเขาเดนาลีเสียใหม่ เพื่อแก้ปัญหาการจัดการของเสียของนักปีนเขา หลังจากที่นักปีนเขาได้ทิ้งปัญหานี้ไว้ให้กับเจ้าหน้าที่อุทยานมาหลายสิบปี
เมื่อปี 2552 อุทยานแห่งชาติเดนาลี รัฐอะแลสกา ได้ออกมาตรการให้นักปีนเขาจัดการกับของเสียของตัวเอง ด้วยการขับถ่ายในกระป๋อง ‘Clean Mountain Cans’ ที่ย่อยสลายตามธรรมชาติ ที่มีลักษณะเหมือนกับแก้วกาแฟที่ยาวกว่าปกติ ซึ่งทางอุทยานจัดไว้ให้ ก่อนจะให้โยนลงไปในเหวลึกของธารน้ำแข็งคาฮิลท์นา ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของอุทยานแห่งนี้ เพื่อหวังให้ย่อยสลายตามธรรมชาติ
นายไมเคิล โลโซ นักภูมิศาสตร์ผู้เชี่ยวชาญด้านธารน้ำแข็ง ประเมินผลกระทบจากอุจจาระของนักปีนเขาที่เข้ามาพิชิตยอดเขาเดนาลี แหล่งท่องเที่ยวยอดนิยมในอุทยานแห่งชาติเดนาลี รัฐอะแลสกา ตลอด 60 ปีที่ผ่านมา นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2494-2555 พบว่า นักปีนเขา 36,000 ชีวิต ได้ขับถ่ายของเสียรวมกันทั้งสิ้น 152,000-215,000 ปอนด์ หรือราว 69-97 ตัน
แต่เมื่อลงพื้นที่สำรวจธารน้ำแข็งดังกล่าว พบว่า ของเสียที่บรรจุอยู่ในถุงที่เตรียมไว้ไม่เคยไปถึงก้นบึ้งของธารน้ำแข็งตามคาด อีกทั้งยังไม่ย่อยสลายไปตามธรรมชาติจากสภาพอากาศหนาวจัด ซ้ำร้ายของฝากจากนักปีนเขาเหล่านี้ ยังปนเปื้อนไปในตามกระแสน้ำด้วย
ด้วยเหตุนี้ ทำให้นายคริส เอริคสัน เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติเดนาลี ได้ออกมาตรการใหม่ ด้วยการจัดโซนนิ่งจุดขับถ่าย ให้นักปีนเขาสามารถทิ้งของเสียของตัวเองลงไปในเหวได้เพียงจุดเดียวเท่านั้น ซึ่งเป็นบริเวณใกล้กับจุดสูงสุดของยอดเขา นอกเหนือจากบริเวณนั้น นักปีนเขาจะต้องนำของเสียที่ขับถ่ายไว้กลับลงมาด้วย จากเดิมที่เมื่อ 10 ปีก่อน ทางอุทยานอนุญาตให้นักปีนเขาสามารถทิ้งอุจจาระลงไปในหุบเหวระหว่างจุดตั้งแคมป์ไปจนถึงบริเวณที่มีความสูง 15,000 ฟุต
แต่ละปี มีนักปีนเขาราว 1,100 คน พยายามเข้ามาพิชิตยอดเขาเดนาลี ที่ความสูง 20,310 ฟุต ซึ่งสิ่งที่นักปีนเขาจะต้องเผชิญ เมื่อขึ้นไปใกล้ยอดเขาเดนาลีก็คือ การพึ่งพาน้ำดื่มจากหิมะที่ละลายตามธรรมชาติ แต่หิมะเหล่านี้ถูกปนเปื้อนด้วยของเสียมนุษย์ ที่อุดมไปด้วยแบคทีเรีย เช่น เชื้ออีโคไล ส่งผลให้นักปีนเขามีอาการท้องเสีย รุนแรงถึงขั้นขาดน้ำ ซึ่งอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้
การจัดการของเสียของนักปีนเขาเป็นปัญหาใหญ่สำหรับแหล่งท่องเที่ยวทั่วโลก อย่างที่ยอดเขาเอเวอร์เรสต์ของเนปาล เคยถูกทำเป็นสารคดีตีแผ่ปัญหาการจัดการของเสียบนยอดเขานี้มาแล้ว บางประเทศพยายามลดปริมาณของเสียจากนักปีนเขาให้ได้มากที่สุด ตัวอย่างเช่น ญี่ปุ่น ที่มีสุขาแบบ bio-toilet ตามเส้นทางขึ้นภูเขาไฟฟูจิ และเมื่อถึงยอดเขาจะมีสุขาแบบเตาเผาอยู่ด้านบนสุด ส่วนที่แทนซาเนีย ก็มีการสร้างห้องน้ำตามเส้นทางขึ้นเขาเช่นกัน