องค์การอนามัยโลกชี้มลพิษทางอากาศเป็นอันตรายต่อสุขภาพเด็ก

A person takes a picture of the smog over Santiago,

ข้อมูลขององค์การอนามัยโลกระบุว่า มลพิษทางอากาศคร่าชีวิตเด็กๆ ปีละหลายแสนคน และยังทำให้เยาวชนนับร้อยล้านคนมีความเสี่ยงทั้งต่อสุขภาพร่างกาย และต่อพัฒนาการทางระบบประสาทในระดับร้ายแรง

องค์การอนามัยโลกเผยแพร่รายงานที่ใช้ชื่อว่า "Air pollution and child health: Prescribing clean air" ในวันก่อนการประชุมระดับโลกเกี่ยวกับมลพิษทางอากาศและสุขภาพของหน่วยงานสหประชาชาติ ที่จะมีขึ้นเป็นครั้งแรก

องค์การอนามัยโลกรายงานว่า กว่า 90% ของเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปีหรือเกือบ 2 พันล้านคน ต้องสูดดมควันพิษเป็นประจำทุกวัน ปัญหาที่ว่านี้ล้วนเกี่ยวข้องกับมลพิษทางอากาศ โดยเริ่มต้นขึ้นตั้งแต่อยู่ในครรภ์มารดา และต่อเนื่องมาจนเข้าสู่วัยรุ่น

รายงานฉบับนี้ระบุว่า หญิงมีครรภ์ที่ได้รับมลภาวะในอากาศ มักจะคลอดก่อนกำหนดและให้กำเนิดทารกที่มีน้ำหนักตัวน้อย

Marie Noel Brune Drisse นักวิทยาศาสตร์และผู้เชี่ยวชาญด้านมลพิษทางอากาศขององค์การอนามัยโลก กล่าวเตือนว่า ปัญหานี้จะทำให้ทารกจำนวนมากมีปัญหาเรื่องพัฒนาการทางสมอง และส่งผลให้ IQ ต่ำลง

เธอกล่าวต่อไปอีกว่า มลพิษในอากาศจะทำให้สมองหยุดการเติบโต แม้กระทั่งตอนอยู่ในครรภ์มารดา และยังอาจนำไปสู่โรคภัยไข้เจ็บที่เราอาจไม่สามารถมองเห็นได้ในทันที แต่จะตรวจพบในเวลาที่โตแล้ว เพราะการทำงานของปอดและระบบทางเดินหายใจของคนเราจะถูกเปลี่ยนแปลงในเวลาที่ร่างกายกำลังพัฒนา

คุณ Drisse ผู้เชี่ยวจากองค์การอนามัยโลกผู้นี้ กล่าวต่อไปอีกว่า ปัญหามลพิษอาจนำไปสู่โรคระบบทางเดินหายใจเรื้อรัง โรคหัวใจ รวมไปถึงการเป็นโรคมะเร็งบางชนิดในวัยผู้ใหญ่

ในปี ค.ศ. 2016 รายงานการศึกษาคาดประมาณว่า มีเด็กจำนวน 600,000 คนเสียชีวิตจากการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจส่วนล่างอย่างเฉียบพลันที่เกิดจากอากาศที่ปนเปื้อน ส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นกับเด็กในประเทศที่มีรายได้น้อยและปานกลาง

นอกจากนี้รายงานยังพบว่า อัตราการเสียชีวิตที่สูงที่สุดอยู่ในเด็กอายุระหว่าง 5 ถึง 14 ปี จากมลพิษทางอากาศทั้งภายในและภายนอกครัวเรือนที่เกิดขึ้นในภูมิภาคแอฟริกา

อย่างไรก็ตาม รายงานยังแนะนำว่าการเปลี่ยนมาใช้เชื้อเพลิงและเทคโนโลยีสะอาดในการปรุงอาหาร และการให้ความร้อน จะสามารถช่วยชีวิตเด็กๆ ได้เป็นจำนวนมาก

ส่วนมาตรการอื่นๆ ที่จะใช้ในการลดมลพิษทางอากาศ ได้แก่ การเลิกการใช้เชื้อเพลิงจากฟอสซิล และแนะนำให้ใช้แหล่งพลังงานทดแทนที่สะอาดขึ้น ใช้รถยนต์ส่วนตัวให้น้อยลงหันมาใช้การขนส่งสาธารณะแทน ตลอดจนพัฒนาระบบการจัดการของเสียให้ดีขึ้น

เจ้าหน้าที่องค์การอนามัยโลกกล่าวว่า ผลประโยชน์จากการใช้มาตรการดังกล่าวนี้จะส่งผลให้เห็นได้เกือบจะในทันที