องค์การอนามัยโลก หรือ WHO เผยประชากรโลกราวร้อยละ 90 ต้องสูดควันพิษเข้าปอดกันทุกวัน และมลพิษทางอากาศเป็นสาเหตุให้มีผู้เสียชีวิตราว 7 ล้านคนทั่วโลกทุกปี ชี้ กลุ่มประเทศในทวีปแอฟริกาและเอเชียได้รับผลกระทบหนักที่สุด
WHO เปิดเผยงานวิจัยด้านมลพิษทางอากาศฉบับล่าสุด ที่รวบรวมข้อมูลจาก 4,300 เมือง ใน 108 ประเทศทั่วโลก พบว่า ประชากรราว 7 ล้านคนทั่วโลกเสียชีวิตจากมลพิษทางอากาศทุกปี เนื่องจากการสูดเอาฝุ่นละอองขนาดเล็กเข้าปอด และกว่าร้อยละ 90 ของการเสียชีวิตจากมลพิษทางอากาศ กระจุกตัวอยู่ในกลุ่มประเทศที่มีรายได้ปานกลางและรายได้น้อย ส่วนใหญ่อยู่ในทวีปเอเชียและแอฟริกา
WHO มุ่งเน้นไปที่ค่าฝุ่นละอองซึ่งมีเส้นผ่าศูนย์กลางระหว่าง 2.5-10 ไมครอน หรือ PM10 และฝุ่นละอองที่มีขนาดเล็กกว่า 2.5 ไมครอน หรือ PM2.5 ซึ่งรวมถึงสารพิษจำพวกซัลเฟต ไนเตรต และคาร์บอนสีดำ ที่จะเข้าไปฝังอยู่ในปอดและระบบทางเดินหายใจ ซึ่งเป็นสาเหตุของโรคต่างๆ เช่น โรคหัวใจ ภาวะเส้นเลือดในสมองแตกเฉียบพลัน โรคปอดบวม มะเร็งปอด ภาวะติดเชื้อระบบทางเดินหายใจ
อย่างไรก็ตาม ในการวิจัยล่าสุดของ WHO พบว่า มีหลายเมืองทั่วโลก ที่เริ่มเก็บข้อมูลด้านมลพิษทางอากาศเป็นครั้งแรก และมีการผลักดันนโยบายลดมลพิษทางอากาศ เช่น มาตรการห้ามใช้รถยนต์ที่ใช้เชื้อเพลิงจากน้ำมันดีเซลในหลายประเทศทั่วโลก