ผู้พิพากษาสหรัฐฯ เริ่มใช้ 'ปัญญาประดิษฐ์' ช่วยพิจารณาคดีความ

Prisoners from Sacramento County await processing after arriving at the Deuel Vocational Institution in Tracy, California, Feb. 20, 2014.

Your browser doesn’t support HTML5

ปัญญาประดิษฐ์กับการตัดสินคดีความ

ในศาลรัฐบาลกลางสหรัฐฯ ผู้ต้องหาจะปรากฏตัวต่อหน้าผู้พิพากษาเกือบทันทีหลังจากถูกจับกุมตัว หลังจากนั้นผู้พิพากษาจะกำหนดวันไต่สวนคดีให้กับผู้ต้องหา ซึ่งอาจจะเป็นภายในไม่กี่สัปดาห์ หรืออาจจะหลายเดือนต่อจากนั้น

และผู้พิพากษาจะต้องตัดสินใจว่า ผู้ต้องหาควรถูกกักตัวในคุกในระหว่างที่รอให้ถึงวันไต่สวนคดี หรือควรปล่อยตัวได้จนกว่าจะถึงวันพิจารณาคดี

ศาลในสหรัฐฯ จำนวนมากยังใช้ระบบเรียกค่าประกันตัว โดยในระบบนี้ ผู้พิพากษาจะกำหนดจำนวนเงินค่าประกันตัวที่ผู้ต้องหาสามารถจ่ายได้ เพื่อหลีกเลี่ยงการจำคุกในขณะที่รอขึ้นศาลเพื่อไต่สวนคดี ผู้พิพากษามักจะตั้งจำนวนค่าประกันตัวที่สูง หากเห็นว่าผู้ต้องหามีความเสี่ยงสูงที่จะไม่กลับไปรายงานตัวเพื่อไต่สวนคดี

ในศาลในสหรัฐฯ หลายแห่ง บรรดาผู้พิพากษากำลังเริ่มใช้ปัญญาประดิษฐ์ หรือ Artificial Intelligence ที่เรียกกันสั้นๆว่า AI ในการช่วยตัดสินใจว่า ผู้กระทำผิดควรถูกจำคุกเมื่อไหร่ เเละนานเเค่ไหน

เพื่อสร้างระบบ AI ทีมนักวิจัยใช้เครื่องคอมพิวเตอร์หลายตัววิเคราะห์ข้อมูลจากคดีว่าความในศาลหลายพันคดี เครื่องคอมพิวเตอร์จะใช้ข้อมูลเหล่านี้เพื่อคาดเดาว่า ผู้ต้องหาจะก่ออาชญากรรมหนใหม่อีกหรือไม่ หรืออาจจะไม่มารายงานตัวในวันไต่สวนคดีตามกำหนด

ระบบปัญญาประดิษฐ์อย่างหนึ่งที่กำลังใช้งานโดยบรรดาผู้พิพากษาของสหรัฐฯ มีชื่อเรียกว่า ระบบประมวลผลความปลอดภัยของสาธารณะ หรือ Public Safety Assessment

ระบบนี้พัฒนาขึ้นโดยมูลนิธิลอร่าเเละจอห์น อาร์โนลด์ (Laura and John Arnold Foundation) ที่ใช้เงินสนับสนุนส่วนตัวเเละตั้งอยู่ในรัฐเท็กซัส ทางมูลนิธินี้ชี้ว่า ระบบ AI ของตนออกแบบให้สามารถให้ข้อมูลที่ไม่ลำเอียงเพราะปราศจากความคิดเห็น และความรู้สึกส่วนตัวเเก่ผู้พิพากษา เพื่อช่วยให้ตัดสินใจได้อย่างยุติธรรมแก่ผู้ต้องหาหรือผู้ต้องขัง

ขั้นตอนของการประมวลผลความปลอดภัยของสาธารณะนี้ จะเริ่มต้นขึ้นเกือบจะทันทีหลังจากผู้ต้องหาถูกพิมพ์ลายนิ้วมือ โดยข้อมูลต่างๆ จะถูกส่งเข้าไปในระบบที่ควบคุมด้วยคอมพิวเตอร์ส่วนกลาง เเละในการไต่สวนคดีครั้งแรกจากเรือนจำ ผู้ต้องหาจะปรากฏตัวต่อผู้พิพากษาผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ เเละจะมีการเเจ้งระดับคะเเนนความเสี่ยงจากผลการประเมินของผู้ต้องหาแก่ผู้พิพากษา

ผู้ต้องหาที่มีระดับคะแนนจากการประเมินความเสี่ยงต่ำ มักถูกปล่อยตัวภายใต้การควบคุมความประพฤติของศาล จนกว่าจะถึงวันนัดขึ้นศาลครั้งต่อไป

ผู้เชี่ยวชาญด้านกฏหมายบางคนเเสดงความชื่นชมต่อระบบนี้เพราะช่วยกักตัวผู้ต้องหาที่เป็นอันตรายต่อโลกภายนอกเอาไว้ในคุก ในขณะที่ให้เสรีภาพแก่ผู้ต้องหาที่ไม่เป็นอันตรายแก่สังคม

ระบบ AI นี้ยังมุ่งลดการตัดสินคดีเเบบลำเอียงที่มาจากสีผิว เพศ หรือหน้าตาของผู้ต้องหา โดยปัจจัยเสี่ยงที่ใช้ในการประเมินผลความเสี่ยงของผู้ต้องหา รวมทั้งอายุ ประวัติการก่ออาชญากรรมในอดีต แต่ไม่รวมเอาข้อมูลเกี่ยวกับ สีผิว เพศ ประวัติการทำงาน ที่อยู่อาศัยหรือประวัติการถูกจับกุม

อย่างไรก็ตาม ผู้ไม่เห็นด้วยกังวลว่าข้อมูลที่ประเมินโดยระบบปัญญาประดิษฐ์นี้ อาจจะเข้าไปแทนที่การตัดสินใจของผู้พิพากษาในด้านการวินิจฉัยเรื่องต่างๆ เกี่ยวกับตัวผู้ต้องหา เเละในการพิพากษากำหนดบทลงโทษ

คริสเตียน แฮมมอนด์ นักวิทยาศาสตร์ด้านคอมพิวเตอร์ที่มหาวิทยาลัยนอร์ธเวสเทิร์นของสหรัฐฯ ที่ร่วมก่อตั้งบริษัท AI ของตนเอง กล่าวว่า ข้อเสียที่อาจเกิดขึ้น คือผู้พิพากษาอาจจะเลิกใช้ความสามารถในการคิดวิเคราะห์ในระดับสูงในการพิจารณาคดี เพราะคอมพิวเตอร์คิดให้หมด

แต่ทางมูลนิธิลอร่าเเละจอห์น อาร์โนลด์ได้ย้ำอย่างชัดเจนว่า ระบบประมวลผลความปลอดภัยของสาธารณะ หรือ Public Safety Assessment ที่พัฒนาขึ้นนี้ ออกแบบเพื่อขั้นตอนการพิจารณาเกี่ยวกับตัวผู้ต้องหาเท่านั้น เเละผู้พิพากษาไม่ควรใช้ระบบนี้ในการพิจารณาบทลงโทษแก่ผู้ต้องหา

(เรียบเรียงโดยทักษิณา ข่ายแก้ว วีโอเอภาคภาษาไทยกรุงวอชิงตัน)