เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ หรือเอไอ (AI) ขยายพรมเเดนแห่งการทำหน้าที่แทนมนุษย์อย่างแทบไม่มีขีดจำกัด และเริ่มมีการนำไปใช้เพื่อให้ญาติยังสามารถพูดคุยโต้ตอบกับปัญญาประดิษฐ์ที่สร้างจากฐานข้อมูลของคนในครอบครัวที่เสียชีวิตไปแล้ว หรือกำลังจะจากไปได้
ปัจจุบันบริษัทหลายแห่งใช้ AI สร้าง "เพื่อนคุย" ด้วยจุดประสงค์ต่าง ๆ กัน เช่น โปรเจค ดีเซมเบอร์ (Project December) ที่เป็นเเช็ตบอตซึ่งเกิดจากข้อมูลที่ลูกค้ากรอกข้อมูลเกี่ยวกับคนที่เป็นญาติหรือเป็นเพื่อน จากนั้นลูกค้าจะมีโปรเเกรมปัญญาประดิษฐ์ของคน ๆ นั้นในการส่งข้อความคุยกันที่ราคา 10 ดอลลาร์
ส่วนบริษัทสตอรี่ไฟล์ (StoryFile) และเฮียร์อาฟเตอร์เอไอ (HereAfter AI) สร้างเเช็ตบอต จากข้อมูลสนทนาของบุคคลในรูปแบบวิดีโอ
ตัวอย่างอย่างหนึ่งของการใช้ AI เพื่อการเตรียมตัวจากโลกนี้ไปและให้คนรักยังสามารถพูดคุยกับปัญญาประดิษฐ์ของตนเองได้ ถูกสะท้อนมาจากความตั้งใจของไมเคิล บอมเมอร์ วัย 61 ปีผู้ป่วยมะเร็งลำไส้ใหญ่ระยะสุดท้ายซึ่งอาศัยอยู่ที่กรุงเบอร์ลิน
บอมเมอร์ ซึ่งเป็นนักธุรกิจวงการสตาร์ทอัพ กำลังร่วมมือกับบริษัทอีเทอร์นอส (Eternos) ในการสร้าง AI เสียงของเขาเพื่อให้ภรรยา เอเนตต์ บอมเมอร์ สนทนากับปัญญาประดิษฐ์นี้ เมื่อตนเองเสียชีวิตไปแล้ว
ผู้ที่ศึกษาปรากฏการณ์ด้าน AI บางคนกล่าว่าการใช้เครื่องมือเทคโนโลยีเหล่านี้เป็น "เพื่อนคุย" แทนผู้ล่วงลับสำหรับคนรักและญาติ อาจสร้างความยากลำบากต่อประสบการณ์อำลาคนที่จากไป เพราะดูเหมือนว่าการมีตัวเเทนรับช่วงต่อทำให้ความสัมพันธ์เดินหน้าต่อไปอย่างไม่มี "จุดสิ้นสุด"
คาทาร์ซินา โนแวคซิก-บาซินสกา นักวิจัยแห่งมหาวิทยาลับเเคมบริดจ์ ที่ศูนย์ Centre for the Future Intelligence ผู้ที่เขียนผลการศึกษาในหัวข้อนี้กล่าวว่ามีข้อมูลน้อยมากถึงผลระยะสั้นและระยะยาวจากการใช้โปรเเกรมดิจิทัลเสมือนจริงมาเป็นตัวแทนผู้เสียชีวิต
ดังนั้นนักวิชาการผู้นี้กล่าวว่าประสบการณ์แบบนี้ยังเป็น "การทดลองขนาดใหญ่" เชิงสังคมและเทคโนโลยีและว่าเวลานี้เป็นยุคของประวัติศาสตร์ที่เกิดการผสมผสานระหว่างกระบวนการหลังเสียชีวิตและการสร้างความเป็นอมตะ ร่วมกันกับตลาดทุนนิยม
แต่ไมเคิล บอมเมอร์ ที่คาดว่าจะเสียชีวิตในอีกไม่กี่สัปดาห์จากนี้กล่าวว่า ที่เขาสร้างเเช็ตบอตตัวของเอง ไม่ได้เกิดจากความต้องการให้ตนเองมีสถานะอมตะ
บอมเมอร์บอกว่า ถ้าเขาอยากจะทำให้ตนเองเป็นที่จดจำอย่างไม่มีวันตายจริง การเขียนหนังสือเกี่ยวกับตนเองที่ทุกคนสามารถอ่านได้ น่าจะทำได้ตามจุดมุ่งหมายนั้นมากกว่าสร้าง AI ในเวอร์ชั่นตัวเขาเอง
หนึ่งในคำถามที่สำคัญคือบริษัทผู้รับสร้างเเช็ตบอตสำหรับญาติของผู้ล่วงลับ ที่คนในวงการเรียกว่า 'deadbots' และ 'griefbots' ควรหรือไม่ที่ให้ญาติเหล่านั้น มีวันจากลาจากกับปัญญาประดิษฐ์
หรือหากว่าบริษัทล้มละลายไปแล้ว จะทำอย่างไรกับเเช็ตบอตเหล่านั้น
บริษัทอีเทอร์นอสที่สร้าง AI ให้กับครอบครัวบอมเมอร์ กล่าวว่าการสร้างปัญญาประดิษฐ์ที่เป็นเสียง มีค่าใช้จ่ายอยู่ที่ 15,000 ดอลลาร์หรือ กว่า 5 แสนบาท ระบบจะอัดเสียงลูกค้าจากข้อความ 300 ข้อความ เช่น "ผมรักคุณ" หรือ "ฉันรักคุณ" จากนั้นผู้ใช้สามารถฝึกให้โปรเเกรมเรียนรู้ความเป็นตัวตนของผู้ใช้ในเรื่องต่าง ๆ จากการป้อนข้อมูลเกี่ยวกับบุคลิก และมุมมองทางการเมือง เป็นต้น
ในที่สุด AI จะสามารถทำหน้าที่เล่าเรื่องราวชีวิตได้ โดยไม่ใช่การนำเสียงเก่ามาถ่ายทอดใหม่ แต่เป็นการผลิตขึ้นมาจากปัญญาประดิษฐ์
หลังจากที่ลูกค้าจากโลกนี้ไปเเล้ว สิทธิ์การครอบครองปัญญาประดิษฐ์จะเปรียบเหมือนทรัพย์สินที่ส่งต่อให้กับคนในครอบครัวได้
- ที่มา: เอพี