AI สู้กลับ! ใช้ตรวจจับ เสียง Deepfake ลวงโลก

  • VOA

การตรวจสอบเสียงสังเคราะห์จาก Deepfake

“เสียงสังเคราะห์” จากเทคโนโลยี Deepfake ถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือในการหลอกลวง โดยเฉพาะในช่วงเปลี่ยนผ่านด้านการเมืองของหลายประเทศที่พบว่า มีเสียงสังเคราะห์จำนวนมากถูกผลิตขึ้นพร้อมเจตนาที่ต้องการบิดเบือนความเป็นจริง และผู้เชี่ยวชาญในสหรัฐฯ ชี้ว่า เราสามารถนำปัญญาประดิษฐ์ (AI) มาช่วย “ตรวจจับ” และ “จำแนก” เสียงที่ได้ยิน ว่าเป็นของแท้หรือไม่

ซาราห์ บาร์ริงตัน ผู้เชี่ยวชาญด้านการพิสูจน์หลักฐานทางดิจิทัล มหาวิทยาลัยแห่งแคลิฟอร์เนีย วิทยาเขตเบิร์กลีย์

ซาราห์ บาร์ริงตัน ผู้เชี่ยวชาญด้านการพิสูจน์หลักฐานทางดิจิทัล มหาวิทยาลัยแห่งแคลิฟอร์เนีย วิทยาเขตเบิร์กลีย์ อธิบายว่า เมื่อเราป้อนข้อมูลเสียงต้นแบบผ่านบริการออนไลน์ ภายในระยะเวลาเพียงไม่กี่นาที ระบบจะสังเคราะห์เสียงเลียนแบบที่มีความใกล้เคียงกับเสียงจริงจนน่าทึ่ง

บาร์ริงตัน ชี้ถึงวิธีจำแนกเสียงต้นแบบออกจากเสียงสังเคราะห์ โดยจะนำคลิปเสียงมาแปลงเป็นคลื่นสัญญาณแสดงผ่านหน้าจอ จากนั้นเปรียบเทียบลักษณะของคลื่น มองหาเสียงรบกวน และระบุข้อแตกต่าง

เธอเสริมว่า ในบางครั้ง ผู้เชี่ยวชาญที่ผ่านการมาฝึกมาแล้ว เพียงแค่มองคลื่นสัญญาณเสียง ก็สามารถระบุได้ว่าเสียงใดถูกสังเคราะห์ขึ้น อย่างเช่นในตัวอย่าง เสียงต้นแบบของมนุษย์ จะมีจังหวะเว้นช่องว่าง ที่มากกว่าท่อนเสียงที่ถูกสังเคราะห์ขึ้น

การตรวจสอบพบ “เสียงสังเคราะห์” จากเทคโนโลยี Deepfake

นอกจากนี้ มีการใช้เทคโนโลยี AI เพื่อช่วยวิเคราะห์และตรวจจับเสียงที่ถูกผลิตขึ้น ผู้เชี่ยวชาญด้านการพิสูจน์หลักฐานทางดิจิทัลรายนี้ กล่าวว่า “รูปแบบต่าง ๆ ของ (เสียงสังเคราะห์ Deepfake) อาจจะเป็นจุดเล็กๆ ที่ไม่มีความชัดเจน และละเอียดเกินกว่าที่หูของมนุษย์จะได้ยิน (แต่) สำหรับระบบ AI มันชัดเจนมาก”

อย่างไรก็ดี ในบางครั้ง ระบบ AI เจอกับเสียงสังเคราะห์ ที่มีรูปแบบแตกต่างออกไป ไม่เหมือนกับที่เคยพบก่อนหน้า ส่งผลให้การตรวจจับเสียงปลอมทำได้อย่างลำบาก

การใช้ซอฟต์แวร์สร้างเสียงสังเคราะห์

บาร์ริงตัน ย้ำว่า “การที่เรามุ่งแก้ปัญหา (เสียงสังเคราะห์ Deepfake) เชิงเทคนิค นับเป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น แต่อีกด้านหนึ่ง สังคมและกลุ่มผู้กำหนดนโยบาย จะต้องเข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องในความเปลี่ยนแปลงนี้”

ถึงแม้ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี จะช่วยตรวจจับและแยกเสียงจริงออกจากเสียงปลอมได้ แต่กระบวนการนี้เป็นเสมือน “ปลายเหตุ” ที่สายเกินไป เพราะเสียงสังเคราะห์ Deepfake อาจจะเป็นไวรัลบนสื่อโซเชียลไปแล้ว ดังนั้นจึงเป็นหน้าที่ของเราทุกคน ที่จะต้องตั้งคำถาม ก่อนที่จะเชื่อ ก่อนที่จะแชร์ คลิปเสียงและวิดีโอต่าง ๆ บนโลกออนไลน์

  • ที่มา: วีโอเอ