Deepfake หรือวิดีโอปลอมที่สร้างขึ้นโดยใช้ปัญญาประดิษฐ์ ช่วยสร้างความบันเทิงให้แก่ผู้คนตามโลกออนไลน์และในโรงภาพยนตร์ แต่ด้วยความหวั่นเกรงว่าจะมีการนำวิดีโอเหล่านี้ไปใช้ชี้นำในทางที่ผิด ๆ ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อการเลือกตั้ง จึงทำให้มีการเร่งพัฒนาเครื่องตรวจจับวีดีโอปลอม
แอพพ์ที่แสดงภาพใบหน้าผู้ใช้แอพพ์ให้กลายเป็นใบหน้าคนดัง อย่างเช่น ลีโอนาร์โด ดิคาปริโอ ซึ่งได้รับความนิยมเมื่อไม่นานมานี้ สร้างความสนุกสานและตื่นตาตื่นใจให้กับผู้หลงใหลในเทคโนโลยี "ดีพเฟค" (Deepfake) จำนวนมาก แต่ความกังวลว่าเทคโนโลยีนี้อาจกลายเป็นอาวุธในการปั่นป่วนให้เกิดความโกลาหลในการเลือกตั้ง ทำให้มีการห้ามใช้ Deepfake บนสื่อสังคมออนไลน์ รวมทั้งมีการเร่งพัฒนาเครื่องมือตรวจจับวีดีโอที่ใช้เทคโนโลยีเหล่านี้ด้วย
เมื่อปีพ.ศ. 2561 นักแสดงและผู้กำกับ จอร์แดน พีล ได้ใส่เสียงของเขาลงไปในวิดีโอที่จำลองใบหน้าของอดีตประธานาธิบดีบารัค โอบามา ทำให้ผู้คนเริ่มแยกแยะไม่ออกว่าเรื่องไหนจริง เรื่องไหนเท็จ หรือโอบาม่าพูดข้อความนี้จริงหรือไม่
Deepfake เป็นเทคโนโลยีที่ใช้ปัญญาประดิษฐ์เพื่อสร้างภาพมายาของใบหน้าบุคคลที่ดูมีความน่าเชื่อถือ ซึ่งสามารถใช้ในการหลอกลวงผู้คน แม้แต่คนที่คอยระวังตัวมากที่สุดได้
เรื่องนี้ทำให้เกิดความกังวลว่าจะเกิดปัญหาในฤดูกาลเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ที่กำลังจะมาถึงปลายปีนี้
ส.ส. Adam Schiff ประธานคณะกรรมาธิการข่าวกรองของสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ กล่าวว่า เทคโนโลยี Deepfake จะทำให้มีการกระทำที่เป็นการประสงค์ร้าย ยุยงให้เกิดความวุ่นวาย โกลาหล ทำให้เกิดการแบ่งแยก และอาจสามารถทำลายการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งประธานาธิบดีด้วย
เวลานี้บริษัทเจ้าของสื่อโซเชียลมีเดียต่างประกาศว่าจะลบวิดีโอที่ใช้เทคโนโลยี Deepfake ที่ถูกออกแบบมาเพื่อหลอกลวงผู้มีสิทธิลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง เริ่มตั้งแต่การค้นหาวีดีโอเหล่านั้นให้พบ ดังนั้นจึงมีการออกแบบเครื่องมือในการระบุวิดีโอที่ใช้เทคโนโลยีที่ว่านี้
Hany Farid ผู้เชี่ยวชาญด้านนิติวิทยาศาสตร์ดิจิตัล ที่มหาวิทยาลัย California-Berkeley มีความกังวลว่าจะมีการโจมตีโดยใช้เทคโนโลยี Deepfake ในช่วงวันท้าย ๆ ของการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งประธานาธิบดี คือราว 48 หรือ 24 ชั่วโมงก่อนคืนการเลือกตั้ง โดยการปล่อยวิดีโอที่อาจสร้างความเสียหายให้แก่ผู้สมัครคนใดคนหนึ่ง โดยใช้เทคโนโลยีนี้ทำให้ผู้สมัครคนนั้นพูดอะไรบางอย่างที่พวกเขาไม่เคยพูดมาก่อน เช่น คำพูดที่ก้าวร้าว หรือผิดกฎหมาย
ทีมงานของ Farid กำลังฝึกใช้ซอฟต์แวร์ AI ให้สามารถตรวจจับเทคโนโลยี Deepfake โดยให้ AI เรียนรู้กิริยาท่าทางเฉพาะตัวของผู้สมัครเหล่านั้น
Delip Rao จากมูลนิธิ AI ซึ่งเข้าร่วมพัฒนาเครื่องมือตรวจจับนี้ด้วย กล่าวว่า เครื่องมือดังกล่าวจะสามารถระบุได้ว่าส่วนใดของวิดีโอที่ถูกตัดต่อบ้าง นอกจากนี้ทางมูลนิธิได้เปิดตัวแพลตฟอร์มที่มีชื่อว่า Reality Defender ซึ่งรวบรวมเอาเครื่องมือตรวจจับหลายแบบมาไว้ด้วยกันเพื่อให้ผู้คนสามารถนำไปใช้งานได้
คุณ Rao บอกว่าการต่อสู้กับการปล่อยข้อมูลผิด ๆ เหล่านี้เป็นโครงการขนาดใหญ่ ซึ่งต้องการความร่วมมือจากหลายฝ่าย และผู้บริโภคสื่อออนไลน์ก็มีบทบาทสำคัญในการหยุดการแพร่กระจายข้อมูลที่ผิด ๆ เหล่านี้ด้วย
Hany Farid นักวิเคราะห์ดิจิทัลจากมหาวิทยาลัย California-Berkeley กล่าวส่งท้ายว่า
ในฐานะผู้บริโภค ทุกคนควรจะเริ่มทำความเข้าใจกับเนื้อหาที่บริโภคให้มากขึ้น ก่อนที่ส่งต่อข้อมูลเหล่านั้น