ความแก่ชราเกิดที่ส่วนไหน? และเราจะยื้อได้หรือไม่?

FILE -- Caregiver Warren Manchess, 74, left, shaves Paul Gregoline, 92, in Noblesville, Indiana.

Your browser doesn’t support HTML5

Aging Process

รายงานการศึกษาชิ้นใหม่ซึ่งเผยแพร่เมื่อวันจันทร์ที่ 13 มกราคม ในวารสาร Nature Medicine โดยนักวิจัยของมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด ที่มุ่งศึกษาเชิงลึกเกี่ยวกับกระบวนการชราภาพของมนุษย์ในระดับโมเลกุล พยายามหาคำตอบว่า ทำไมคนเราแต่ละคนจึงมีกระบวนการแก่ชราเร็วช้าไม่เท่ากัน?

รวมทั้งยังตั้งเป้าไว้ด้วยว่า วันหนึ่งเราจะสามารถเข้าแทรกแซงหรือสร้างผลต่อกระบวนการที่ว่านี้ได้ โดยอาศัยตัวยาหรือการปรับเปลี่ยนรูปแบบการใช้ชีวิตที่เหมาะสม

นักวิจัยได้ติดตามศึกษากลุ่มตัวอย่างอายุ 34 ถึง 68 ปีจำนวน 43 คนเป็นเวลาสองปี โดยเก็บตัวอย่างเลือดและอุจจาระเพื่อศึกษาสารเคมีที่ช่วยบ่งชี้ หรือ biomarkers ของร่างกาย

แพทย์ทราบมานานแล้วว่าเมื่อคนเราแก่ตัวลงนั้น ระดับของสารบ่งชี้บางอย่างจะเปลี่ยนไป เช่น มีโคเลสเตอรอลสูงขึ้น การทำงานของจุลชีวะบางอย่างในระบบลำไส้เพิ่มขึ้น รวมทั้งมีไขมันและโปรตีนต่าง ๆ มากขึ้นด้วย

และจากการศึกษานี้นักวิจัยชี้ว่า คนเรามีลักษณะหรือรูปแบบของความแก่ที่แสดงออกหรือสะท้อนให้เห็นได้อย่างน้อยสี่ด้าน หรือสี่ช่องทาง ซึ่งไม่ได้จำกัดเฉพาะแค่หน้าตาหรือผิวพรรณที่เหี่ยวย่นเท่านั้น

หน้าต่างที่ช่วยสะท้อนกระบวนการชราภาพดังกล่าว ได้แก่

  • กระบวนการย่อยอาหารและเผาผลาญพลังงาน
  • ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย
  • การทำงานของตับ
  • การทำงานของไต

ตัวอย่างเช่น ผู้ที่มีกระบวนการเผาผลาญของร่างกายเสื่อมถอยก็มีโอกาสเป็นโรคเบาหวาน คนที่มีจุดอ่อนในระบบภูมิคุ้มกันก็จะติดเชื้อหรือป่วยเป็นโรคต่าง ๆ ได้ง่าย ส่วนผู้ที่มีความอ่อนแอของตับและไตก็จะมีปัญหาเกี่ยวกับโรคเหล่านี้ ส่งผลให้สุขภาพร่างกายถูกบั่นทอนและนำไปสู่การถดถอยของสภาพสังขารโดยรวม เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม ทีมนักวิจัยอธิบายว่าคนเราแต่ละคนจะไม่ได้ถูกจำกัดว่าจะต้องมีช่องทางหรือกระบวนการของความชราภาพเพียงด้านใดด้านหนึ่งเท่านั้น เพราะบางคนอาจจะมีเส้นทางของความเสื่อมถอยของสังขารมากกว่าหนึ่งได้

แต่ทีมนักวิจัยของมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดก็บอกว่า ถ้าเราทราบและเข้าใจเกี่ยวกับรูปแบบความเสื่อมถอยของเราว่าเกิดขึ้นและแสดงออกผ่านทางช่องใด เรื่องนี้ก็อาจเป็นประโยชน์และจะเป็นโอกาสให้เราสามารถพยายามเข้าไปควบคุมจัดการ ปรับเปลี่ยน หรือพยายามชะลอกระบวนการชราภาพที่ว่านี้ได้

นักวิทยาศาสตร์หวังว่าข้อมูลและความรู้ที่จะได้จากการศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับกลไกของความแก่ชราและสาเหตุที่มานี้ จะช่วยให้สามารถออกแบบกระบวนการเพื่อชะลอความแก่ที่เหมาะสมสำหรับแต่ละบุคคลได้ในที่สุด