Your browser doesn’t support HTML5
ที่โรงงานผลิตสิ่งทอในระวันดา แรงงานหลายร้อยคนกำลังนั่งเรียงกันเป็นแถวอยู่หน้าจักรเย็บผ้า เพื่อผลิตเสื้อผ้าที่จะส่งออกไปขายในร้านต่างๆ ทั่วโลก
การว่าจ้างโรงงานในประเทศกำลังพัฒนาให้ผลิตสินค้าโดยใช้แรงงานที่ค่าจ้างไม่สูง เป็นวิธีการทำธุรกิจในระดับทั่วโลกมานานหลายสิบปีแล้ว แต่ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีอาจจะสร้างการเปลี่ยนแปลงต่อเรื่องนี้
สถาบันการพัฒนาในต่างประเทศ (Overseas Development Institute) ในกรุงลอนดอน ได้ทำการศึกษาเรื่องนี้ และได้ยกตัวอย่างการผลิตเครื่องเรือนในแอฟริกา
คาริชมา แบงกา (Karishma Banga) ผู้ร่วมร่างผลการวิจัยชิ้นนี้ กล่าวกับผู้สื่อข่าววีโอเอที่กรุงลอนดอนว่า ในอีก 15-20 ปีข้างหน้า หุ่นยนต์ในสหรัฐฯ จะมีราคาถูกลงกว่าค่าแรงของแรงงานชาวเคนยาอย่างมาก โดยเฉพาะในด้านการผลิตเครื่องเรือน
เธอกล่าวว่า ภายในปี พ.ศ. 2576 บริษัทอเมริกันจะทำกำไรได้มากกว่าหากกลับมาผลิตสินค้าภายในประเทศแทน ซึ่งจะเป็นการนำตำแหน่งงานและการผลิตสินค้ากลับมายังสหรัฐฯ ซึ่งจะส่งผลกระทบทางลบอย่างแน่นอนต่อเศรษฐกิจของแอฟริกา
ในขณะที่หุ่นยนต์มีราคาถูกลง แรงงานกลับมีราคาสูงขึ้น
คุณแบงกา นักวิจัยในอังกฤษ กล่าวว่าราคาหุ่นยนต์หรือราคาเครื่องพิมพ์สามมิติจะถูกลงมาในระดับใกล้เคียงกัน หรือราว 6 เปอร์เซ็นต์ต่อปี ซึ่งถือว่าลดลงมาอย่างมาก ในขณะที่ค่าแรงของแรงงานในประเทศกำลังพัฒนาเพิ่มสูงขึ้น
ผลการวิจัยนี้ทำให้เชื่อว่า ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีหุ่นยนต์และราคาที่ถูกลง จะคุกคามต่องานของแรงงานคนในประเทศกำลังพัฒนา
แต่เจ้าของโรงงานในบางประเทศก็กำลังพยายามหาทางรับมือกับการเปลี่ยนแปลงนี้ อย่างโรงงานผลิตเครื่องเรือนฟันคิดซ์ (Funkidz Factory) ในเคนยา ที่กำลังปรับปรุงให้ทันสมัยขึ้นโดยใช้เลื่อยอัตโนมัติ ที่ควบคุมการทำงานด้วยระบบคอมพิวเตอร์และมีโปรแกรมเมอร์และเจ้าหน้าที่ทางเทคนิคคอยดูแล
การลงทุนปรับปรุงโรงงานนี้ช่วยส่งเสริมการเจริญเติบโตของธุรกิจ โดยได้ขยายตัวเข้าไปในยูกันดาและระวันดา แต่ เซียรู วาเรรู ไวทากา ประธานบริหารชาวเคนยาของบริษัท กล่าวว่าตนเองไม่สามารถหาแรงงานที่เหมาะสมกับงานได้
เธอกล่าวว่า ทางบริษัทมีเครื่องจักรกลที่ไม่ได้ใช้งานเพราะขาดแรงงานที่มีความสามารถ แม้ว่าจะมีคนมากมายที่ต้องการงานทำ แต่ไม่มีความสามารถตามที่โรงงานต้องการ เธอเรียกร้องให้รัฐบาลและสถาบันต่างๆ รีบหาทางแก้ปัญหาวิกฤติช่องว่างด้านความสามารถของแรงงานนี้อย่างเร่งด่วน
และเสียงเรียกร้องนี้ได้รับแรงหนุนจากทีมนักวิจัยของสถาบันการพัฒนาในต่างประเทศที่กรุงลอนดอนนี้ ซึ่งได้เร่งเร้าให้รัฐบาลต่างๆ ในแอฟริกา รีบใช้เวลาที่เหลืออยู่เร่งพัฒนาแรงงานในประเทศให้มีความสามารถทางอุตสาหกรรมและทางเทคโนโลยี ก่อนจะเจอกับปัญหาคนว่างงานจากช่องว่างทางเทคโนโลยี
(เรียบเรียงโดยทักษิณา ข่ายแก้ว วีโอเอภาคภาษาไทยกรุงวอชิงตัน)