ความเท่าเทียมทางเพศทั่วโลกต้องใช้เวลามากกว่า 5 ชั่วอายุคนเพื่อให้ไปถึงเป้าหมายดังกล่าว ในระหว่างที่ผู้หญิงยังคงห่างไกลจากผู้ชายในแง่ของบทบาททางเศรษฐกิจและการเมือง และภาวะเงินเฟ้อพุ่งสูงเมื่อปีที่แล้วได้ส่งผลกระทบต่อสุขภาพการเงินของผู้หญิงอย่างไม่เท่าเทียมเข้าไปอีก อ้างอิงจากรายงานของเวิลด์ อีโคโนมิก ฟอรัม (WEF) และจากข้อมูลของผู้เชี่ยวชาญที่เปิดเผยออกมาในวันสตรีสากลปีนี้
คงไม่จบที่รุ่นเรา
แม้ว่าที่ผ่านมาผู้ลงทุนและหน่วยกำกับดูแลพยายามผลักดันองค์กรเอกชนให้มีความหลากหลายทางเพศในองค์กร แต่ข้อมูลจาก WEF ชี้ว่าคงต้องใช้เวลาประมาณ 132 ปีจึงจะไปถึงระดับความเท่าเทียมทางเพศทั่วโลก ซึ่งดีขึ้นกว่าประมาณการในปี 2021 ที่ระบุว่าต้องรอไปอีก 136 ปีทีเดียว
รายงาน Global Gender Gap ของ WEF พิจารณาผลของความเหลื่อมล้ำทางเพศต่อโอกาสทางเศรษฐกิจ การศึกษา อำนาจทางการเมือง สุขภาพ และความปลอดภัย
ในอีกรายงานของทีมวิจัยจากแบงค์ออฟอเมริกา (BofA) พบว่า ผู้หญิงสูญเสียรายได้ราว 800,000 ล้านดอลลาร์ทั่วโลกเนื่องจากโควิด-19 และผู้หญิงจำนวนมากต้องใช้เวลามากขึ้นในการดูแลบุตรช่วงล็อกดาวน์ นอกจากนี้สถานการณ์ความไม่สงบในอิหร่านและสงครามในยูเครน ที่ดันภาวะเงินเฟ้อพุ่งสูง ได้ทำให้ผู้หญิงและเด็กหญิงต้องออกจากงานและหยุดเรียนมากขึ้นไปด้วย
ดิมเพิล โกไซ หัวหน้าฝ่ายสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาลของสหรัฐฯ จากแบงค์ออฟอเมริกา ให้ทัศนะกับรอยเตอร์ว่า รายได้และภาระที่ต้องรับผิดชอบในครอบครัว พ่วงด้วยภาวะเงินเฟ้อ ส่งผลกระทบต่อผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย หมายความว่าผู้หญิงมีความเสี่ยงที่จะสูญเสียรายได้มากกว่า “เรากังวลว่าเงินเฟ้อหลังโควิดกำลังคุกคามความก้าวหน้าของผู้หญิงไปหมด”
โกไซ เสริมว่า ต้นทุนค่าเลี้ยงดูบุตรที่แซงหน้ารายได้ที่เพิ่มขึ้น “เป็นอุปสรรคกีดขวางผู้หญิงในการเข้าสู่ ยังคงอยู่ และก้าวหน้าในหน้าที่การงาน”
เงินเฟ้อสะเทือนผู้หญิงอย่างไม่เท่าเทียม
ภาวะเงินเฟ้อยังบีบคั้นให้ผู้หญิงต้องเจอกับต้นทุนราคาสินค้าที่แพงกว่าผู้ชาย อย่างในสหรัฐฯ ผลิตภัณฑ์ของใช้ส่วนตัวสำหรับผู้หญิงยังแพงกว่าผู้ชายถึง 13% ขณะที่ในอังกฤษ ราคารองเท้าผู้หญิงยังแพงกว่าผู้ชายถึง 75% ด้วย
ด้านเจพีมอร์แกน ระบุว่า ทั่วโลกตอนนี้ สัดส่วนการเข้าสู่ตลาดแรงงานอย่างเป็นระบบของผู้หญิงทั่วโลกยังไม่คืบหน้าเท่าใดนักในช่วง 3 ทศวรรษที่ผ่านมา โดยผู้หญิงต่ำกว่า 47% ที่เข้าสู่ตลาดแรงงาน เมื่อเทียบกับ 72% ของผู้ชาย และผู้หญิงในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาเป็นกลุ่มที่มีความเปราะบางมากที่สุดในเรื่องนี้
ในแง่ของความเท่าเทียมด้านรายได้ยังพบความเหลื่อมล้ำทุกหนแห่งในโลก ผู้หญิงและชนกลุ่มชาติพันธุ์ในอเมริกายังมีสัดส่วนน้อยในกลุ่มแรงงานค่าจ้างสูงหรือในกลุ่มอุตสาหกรรมและงานที่ได้รับผลกระทบจากเงินเฟ้อในระดับต่ำ อย่างเช่นงานด้านเทคโนโลยีและการเงิน
ขณะที่สุขภาพการเงินของผู้หญิงที่จัดทำการสำรวจโดยบริษัทด้านการลงทุน Ellevest พบว่า ปีนี้ผู้หญิงในอเมริกาอยู่ในสภาวะการเงินที่ย่ำแย่ที่สุดนับตั้งแต่ปี 2018
ผลตอบแทนดีเมื่อองค์กรเพิ่มบทบาทสตรี-มีความหลากหลาย
ข้อมูลจากทีมวิจัยจากแบงค์ออฟอเมริกา พบว่าบริษัทอเมริกันที่มีความหลากหลายทางเพศสภาพในองค์กรจะให้ผลตอบแทนในหุ้นมากกว่าบริษัทที่ไม่มีความหลากหลายดังกล่าวราว 20% ในช่วงที่ภาครัฐ หน่วยงานกำกับดูแล รวมไปถึงนักลงทุนสหรัฐฯ ต่างผลักดันให้บริษัทเอกชนอเมริกันจ้างและแต่งตั้งผู้หญิงให้ดำรงตำแหน่งบอร์ดบริหารมากขึ้น
ส่วนในยุโรป ซึ่งทั้งสหภาพยุโรปและอังกฤษได้กำหนดโควต้าการจ้างผู้หญิงในบอร์ดบริหารที่ระดับ 40% ของพนักงานในบริษัท พบว่าเกือบ 80% ของบริษัทขนาดใหญ่ในภูมิภาค มีผู้หญิงนั่งบอร์ดบริหารราว 1 ใน 3 แล้ว อ้างอิงจากข้อมูลของแบงค์ออฟอเมริกา
ในการวิจัยของ Morgan Stanley Capital International (MSCI) และแบงค์ออฟอเมริกา ระบุว่ามีความเกี่ยวข้องอย่างมีนัยสำคัญระหว่างบทบาทของผู้หญิงในบอร์ดบริหารกับผลประกอบการทางการเงินที่แข็งแกร่งขององค์กร
อย่างไรก็ตาม ตำแหน่งของผู้หญิงในบอร์ดบริหาร ไม่ได้หมายถึงบทบาทของผู้หญิงในตำแหน่งผู้บริหารที่มากพอ เพราะข้อมูลการวิเคราะห์จาก MSCI ชี้ว่า ในระดับโลก ความไม่เท่าเทียมทางเพศในบอร์ดบริหารยังไม่หมดไปจนกว่าจะถึงปี ค.ศ. 2038 หรืออีก 15 ปีข้างหน้า
- ที่มา: รอยเตอร์