พารีซา อิมานิรัด นักวิทยาศาสตร์และนักวิจัยมะเร็ง ที่อาศัยอยู่ในนครซานฟรานซิสโก เธอแต่งงานแล้ว และมีชีวิตที่รายล้อมด้วยเพื่อนฝูงจำนวนมาก แต่ในทุกสัปดาห์จะมีอย่างน้อยหนึ่งวัน ที่เธอเลือกออกมาทานข้าวนอกบ้าน แบบตัวคนเดียว
อิมานิรัดเผยว่า ตอนทานอาหารคนเดียวเป็นช่วงที่เงียบสงบ เธอจะไม่หยิบโทรศัพท์มือถือ ปล่อยให้ตัวเองทบทวนสิ่งต่าง ๆ บางครั้งก็หยิบหนังสือขึ้นมาอ่าน เธอเปรียบว่า “มันคล้ายกับช่วงเวลาไปสปา แต่เป็น (ความผ่อนคลาย) อีกรูปแบบหนึ่ง”
ตามข้อมูลของ โอเพนเทเบิล (OpenTable) เว็บไซต์จองโต๊ะอาหาร ระบุว่าในช่วงสองปีที่ผ่านมา ตัวเลขการจองโต๊ะทานอาหารคนเดียวในสหรัฐ เพิ่มขึ้น 29% ส่วนในปีนี้ ที่เยอรมนีปรับสูงขึ้น 18% และในสหราชอาณาจักรอยู่ที่ 14%
นอกจากนี้ การสำรวจล่าสุดของสถาบัน Hot Pepper Gourmet Eating Out ชี้ว่า คนญี่ปุ่น 23% รับประทานอาหารนอกบ้านคนเดียว ตัวเลขดังกล่าวปรับเพิ่มขึ้นจาก 18% เมื่อเทียบกับปี 2018
แนวโน้มการทานอาหารคนเดียวที่เพิ่มขึ้นนี้เกิดขึ้นขณะที่มีประชากรที่อาศัยอยู่คนเดียวเพิ่มมากขึ้น งานวิจัยของศูนย์วิจัยพิว (Pew Research Center) เมื่อปี 2019 พบว่า 38% ของคนอเมริกันวัยผู้ใหญ่อายุระหว่าง 25 - 54 ปี อยู่ตัวคนเดียว เพิ่มขึ้นจากระดับ 29% เมื่อปี 1990
ส่วนที่ญี่ปุ่น ตัวเลขครอบครัวที่มีสมาชิกคนเดียวมีสัดส่วนราว 1 ใน 3 ของครัวเรือนทั้งหมดในปัจจุบัน และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 40% ภายในปี 2040 อ้างอิงข้อมูลจากรัฐบาลญี่ปุ่น
นอกจากนี้ แนวโน้มการเดินทางคนเดียวก็กำลังเป็นที่นิยมมากขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มนักเดินทางอายุเกิน 55 ปีขึ้นไป ซึ่งทำให้การรับประทานอาหารคนเดียวเพิ่มขึ้นตามไปด้วย
ร้านอาหารในญี่ปุ่นหลายแห่ง ได้ปรับตัวเพื่อรองรับกระแสของลูกค้าที่มาทานคนเดียว มาซาฮิโระ อินางากิ นักวิจัยอาวุโส จากสถาบันข้างต้น กล่าวว่า “แม้แต่ร้านอาหารแบบครอบครัว ก็เพิ่มที่นั่งตามเคาน์เตอร์สำหรับลูกค้าที่มาคนเดียว รวมถึงลดปริมาณอาหารต่อคอร์สให้น้อยลง เพื่อที่ลูกค้าจะได้ทานอาหารที่หลากหลายมากขึ้น”
เดบบี ซู ซีอีโอของ OpenTable เชื่อว่า “การทำงานทางไกล” เป็นหนึ่งเหตุผลที่อธิบายถึงกระแสการทานอาหารคนเดียวที่เกิดขึ้น แต่เธอยังมองไปถึงสิ่งที่ลึกซึ้งกว่านั้น “ฉันคิดว่าภาพรวม คือกระแสของการรักตัวเอง ดูแลตัวเองมากขึ้น และใช้เวลาอยู่กับตนเอง”
ทางด้าน แอนนา แมททิลา อาจารย์จากมหาวิทยาลัยเพนน์สเตท ที่ศึกษาเกี่ยวกับการรับประทานอาหารคนเดียว กล่าวว่า “บรรทัดฐานทางสังคมเปลี่ยนไปแล้ว ผู้คนเลิกมองลูกค้าที่มาคนเดียว แล้วจะคิดว่าคุณช่างเป็นคนที่โดดเดี่ยว” เธออธิบายว่า การระบาดใหญ่ที่ผ่านมา ทำให้ปฏิสัมพันธ์ทางสังคมลดลง โดยเฉพาะการกินข้าวนอกบ้าน อีกทั้งเครื่องมืออย่าง “สมาร์ทโฟน” ยังเข้ามาเติมเต็มช่วยให้คนอยู่ตามลำพังมากขึ้น
อย่างไรก็ดี ร้านอาหารบางแห่งมองว่าลูกค้าที่มาคนเดียว ทำให้เกิด “การเสียโอกาส” ของพื้นที่ให้บริการ แต่ผู้ประกอบการหลายคนเชื่อว่า หากให้บริการลูกค้าที่มาคนเดียว พวกเขามีแนวโน้มที่จะเป็นลูกค้าชั้นดี และกลับมาอุดหนุนซ้ำในอนาคต
ดรูว์ เบรดี ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการของ Overthrow Hospitality ที่ดูแลกลุ่มร้านอาหารปราศจากเนื้อสัตว์จำนวน 11 แห่งในมหานครนิวยอร์ก ให้ทัศนะว่า “แม้ในระยะสั้นอาจที่จะขาดทุน แต่เราอยู่ในธุรกิจระยะยาว (ควรที่จะ) สร้างให้ร้าน เป็นสถานที่ที่พิเศษอย่างแท้จริง”
เบรดีเสริมว่า นับตั้งแต่เกิดการระบาดใหญ่ จำนวนลูกค้าที่รับประทานอาหารคนเดียวก็เพิ่มมากขึ้น และเมื่อดูในรายละเอียด จะพบว่าคนกลุ่มนี้ แบ่งเป็นเพศชายและเพศหญิงในสัดส่วนที่เท่า ๆ กัน
แมททิลา จากมหาวิทยาลัยเพนน์สเตต ยังให้เคล็ดลับทิ้งท้ายสำหรับผู้ประกอบการ โดยอิงงานวิจัยที่ชี้ว่า สำหรับลูกค้าที่มาทานอาหารตามลำพัง มักที่จะชื่นชอบองค์ประกอบในร้านที่มี “ทรงเหลี่ยมมุม” เช่น ทางร้านควรเลือกใช้โต๊ะสี่เหลี่ยม มากกว่าโต๊ะทรงกลม โดยอธิบายว่ารูปทรงกลมจะไป ให้ความรู้สึก เกี่ยวกับ “ความเชื่อมโยงของหมู่คณะ” มากกว่า