วีโอเอไทยพูดคุยกับนักศึกษาไทยจากมหาวิทยาลัยสี่แห่งตามเมืองใหญ่ของสหรัฐฯ เกี่ยวกับกระแสการประท้วงในสถานศึกษาทั่วประเทศ เพื่อเรียกร้องให้สถานศึกษาตัดความสัมพันธ์ทางการเงินกับอิสราเอล รวมถึงกับองค์กร บริษัทต่าง ๆ ที่สนับสนุนอิสราเอล ในช่วงสงครามในกาซ่า
เอพีรายงานว่า นับจนถึงวันที่ 7 พฤษภาคม มีนักศึกษาผู้ประท้วงถูกจับแล้วกว่า 2,600 คนในสถานศึกษา 50 แห่งทั่วสหรัฐฯ
ผมแซวกับเพื่อนว่า “ปีหนึ่งเราเจอโควิด ปีสองเรียนแบบไฮบริด ปีสามเจอเรื่องรัสเซีย-ยูเครน ปีสี่ก็เจอการประท้วงครั้งนี้”
เป็นการสรุปชีวิตในรั้วมหาวิทยาลัยทั้งสี่ปีของ “ไทม์” (ขอสงวนชื่อ-นามสกุลจริง) นักศึกษาระดับป.ตรี ชั้นปีที่ 4 ด้านวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์และทัศนศิลป์ มหาวิทยาลัยโคลัมเบีย นครนิวยอร์ก
“เหตุการณ์ครั้งนี้หนักที่สุดทั้งในเชิงความตึงเครียดและในเชิงการเมือง เพราะเป็นธรรมชาติของประเด็นอิสราเอล-ปาเลสไตน์ อยู่แล้ว” นักศึกษาไทยวัย 22 ปี กล่าวเมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม
“แต่ผมก็รู้สึกว่ามหาวิทยาลัยมีหน้าที่ต้องหาทางออกความตึงเครียดนี้ แล้วสุดท้ายมันก็มีคนที่ไม่ค่อยชอบ มันก็เลยทำให้การประท้วงออกมาหนักขึ้น”
ย้อนไปเมื่อวันที่ 17 เมษายน นักศึกษาของม.โคลัมเบีย ได้รวมตัวกางเตนท์ในพื้นที่ของมหาวิทยาลัยเพื่อแสดงออกการสนับสนุนปาเลสไตน์ กลายเป็นข่าวใหญ่ที่จุดกระแสครั้งนี้ ก่อนจะมีการรื้อถอนเตนท์ การเจรจาระหว่างบุคลากรของม.โคลัมเบียและนักศึกษาผู้ประท้วง การกางเตนท์ประท้วงครั้งใหม่ จนนำไปสู่การบุกเข้าอาคารเรียนฮามิลตัน ฮอลล์ โดยตำรวจ และจับกุมผู้ประท้วงกว่า 100 คน เมื่อวันที่ 30 เมษายน
เหตุดังกล่าวนับเป็นครั้งแรกที่ม.โคลัมเบียอนุญาตให้ตำรวจเข้าจับกุมผู้ประท้วงจำนวนมากในพื้นที่มหาวิทยาลัย นับตั้งแต่เหตุประท้วงสงครามเวียดนามเมื่อปี 1968 หรือเมื่อ 56 ปีที่แล้ว
เอพีรายงานว่า ในวันที่ 6 พฤษภาคม ทางม.โคลัมเบียตัดสินใจยกเลิกการจัดพิธีปริญญาส่วนกลาง ขณะที่เว็บไซต์ของทางมหาวิทยาลัยยืนยันว่า พิธีรับปริญญาระดับคณะจะดำเนินต่อไปในวันที่ 15 พฤษภาคม
“ผมเข้าพื้นที่มหาวิทยาลัยไม่ได้แล้ว แต่ยังโชคดีส่วนที่เทอมนี้ผมเรียนน้อยมาก และเรียนวิชาที่ไม่มีสอบจริงจัง” ไทม์ ซึ่งมีกำหนดจบการศึกษาในปีนี้ กล่าว “แต่ถ้าอยู่ปีสามคงมีปัญหามากๆ เพราะเป็นช่วงที่ทุกคนกำลังตั้งใจเรียน…การที่ไม่สามารถไปอ่านหนังสือในห้องสมุดได้ ไม่สามารถมีสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการเตรียมสอบได้ มันจะกระทบมาก”
ทั้งนี้ แถลงการณ์จากมินูช ชาฟิค อธิการบดีของม.โคลัมเบีย เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม ระบุว่า “ผู้ประท้วงเรียกร้องเพื่อสิทธิของชาวปาเลสไตน์และต่อต้านวิกฤตทางมนุษยธรรมในกาซ่า..แต่มีนักเรียนและนักเคลื่อนไหวจากภายนอกบุกเข้าอาคารฮามิลตัน ฮอลล์ และทำลายทรัพย์สิน...ถือเป็นการกระทำที่เป็นบ่อนทำลาย และไม่ใช่การสื่อสารทางการเมือง”
ไทม์ทิ้งท้ายกับวีโอเอไทยว่า “ส่วนตัวยังไงผมก็สนับสนุนเสรีภาพในการแสดงออก และการหาทางออกแบบการทูตก็คงเป็นทางเลือกที่ดีที่สุดอยู่แล้ว”
ห้ามผู้สำเร็จการศึกษาดีเด่นชาวมุสลิมขึ้นกล่าวในพิธีรับปริญญา ขยายปมเป็นการประท้วงสนับสนุนปาเลสไตน์
ข้ามฝั่งมายังมหาวิทยาลัยเซาเทิร์นแคลิฟอร์เนีย หรือ ยูเอสซี ในนครลอสแอนเจลิส รัฐแคลิฟอร์เนีย การประท้วงถูกจุดชนวนจากการประกาศระงับการขึ้นกล่าวในพิธีจบการศึกษาของอัสนา ทาบัสซัม ว่าที่บัณฑิตระดับป.ตรี โดยยูเอสซีให้เหตุผลด้านความปลอดภัย ขณะที่เอพีรายงานว่า ทาบัสซัมมีท่าทีสนับสนุนชาวปาเลสไตน์อย่างเปิดเผย
“หลักจากเขา (ทาบัสซัม) ถูกไม่ให้ขึ้นไปพูด ก็มีนักศึกษาเริ่มประท้วงแต่เป็นกลุ่มเล็กๆ ราว 60-70 คน เป็นการประท้วงที่ค่อนข้างสงบ ทำอยู่ได้ราว 1-2 วันก็เงียบไป จนะกระทั่งมีการประท้วงใหญ่ในวันที่ 24 เมษายน มีคนหลายร้อยคนเข้าร่วม และมีคนถูกจับทั้งหมด 93 คน” จิราพร คูหากาญจน์ นักศึกษาระดับป.โท ด้านศิลปะภาพยนตร์ของยูเอสซี กล่าวถึงบรรยากาศและตัวเลขของผู้ถูกจับกุมโดยตำรวจของนครลอสแอนเจลิส
ทั้งนี้ ยูเอสซีเป็นมหาวิทยาลัยขนาดใหญ่แห่งแรก ๆ ที่ยกเลิกพิธีรับปริญญาส่วนกลาง เมื่อวันที่ 25 เมษายน เนื่องจากเหตุนักศึกษาประท้วงสนับสนุนปาเลสไตน์
นักศึกษาไทยวัย 32 ปีผู้นี้ เล่าถึงผลกระทบที่เธอได้รับจากมาตรการของยูเอสซีในช่วงที่มีการประท้วง ซึ่งเป็นช่วงที่เธอต้องตัดต่อรายงานภาพยนตร์สั้นเพื่อส่งช่วงปลายภาคเรียน
“ด้วยความที่ม.จำกัดเวลาเข้าออกและปิดประตูรั้วทั้งหมด เหลือทางเข้าออกประมาณ 1-2 ทาง จะต้องถูกเช็คบัตรนักศึกษาด้วย ทำให้รถติด นักเรียนก็เข้าออกยาก ไปออกันที่ประตู…อย่างวันที่มีประท้วง (24 เมษายน) ห้องตัดต่อที่ปกติต้องปิดเที่ยงคืน มันก็ปิดเลยตอนหนึ่งทุ่ม ให้ทุกคนออก...แต่อีกวันหนึ่งมันก็กลับมาเป็นปกตินะคะ”
ทั้งนี้ แคโรล แอล โฟลท์ อธิการบดีของยูเอสซี ระบุในแถลงการณ์เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม ว่าทางหน่วยงานรักษาความปลอดภัยของยูเอสซีและทางตำรวจนครลอสแอนเจลิสได้รื้อถอนเตนท์ผู้ประท้วง โดยการดำเนินการเป็นไปอย่างเรียบร้อย เพื่อเปิดพื้นที่ให้นักศึกษากลับเข้ามาเตรียมสอบปลายภาคและเตรียมการจัดพิธีรับปริญญาระดับคณะ
ทางด้านจิราพรเห็นว่า ยูเอสซีควรเปิดพื้นที่ให้นักศึกษาได้แสดงออกอย่างสันติมากกว่านี้
“พื้นที่ม. ซึ่งเป็นพื้นที่ที่คนควรที่จะมาเพื่อการเรียนรู้ เราก็มาเพื่อที่จะใช้เสรีภาพในการแสดงออกของตัวเองได้อย่างเต็มที่ ก็ควรที่จะสามารถทำได้ในพื้นที่นั้น แล้วก็ไม่ควรมีการสลายการชุมนุมแบบรุนแรง” เธอกล่าว
“เสรีภาพในการแสดงออกเป็นพื้นฐานสำคัญ”
เมื่อวันที่ 26 เมษายน มหาวิทยาลัยจอร์จ วอชิงตัน ในกรุงวอชิงตัน สั่งพักการเรียนนักศึกษากลุ่มหนึ่งที่ปักหลักกางเตนท์ประท้วงสนับสนุนปาเลสไตน์ในพื้นที่ของมหาวิทยาลัย โดยให้เหตุผลว่า นักศึกษากลุ่มนี้ละเมิดกฎและรุกล้ำพื้นที่ของมหาวิทยาลัยซึ่งเป็นสถานที่ของเอกชน
“(การตัดสินใจของมหาวิทยาลัย) มันขัดกับเสรีภาพในการแสดงออก ซึ่งมันเป็นเรื่องที่สำคัญมากในสหรัฐฯ” สิรภพ พิชิตการณ์ นักศึกษาระดับป.ตรี ชั้นปีที่ 2 ด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ม.จอร์จ วอชิงตัน กล่าวกับวีโอเอไทยเมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม
สิรภพกล่าวต่อว่า ทางม.จอร์จ วอชิงตัน ได้สื่อสารกับนักศึกษาเกี่ยวกับสถานการณ์ล่าสุดในพื้นที่มหาวิทยาลัย การจัดการเรียนและการสอบ แต่ยังไม่มีการสื่อสารเกี่ยวกับข้อเรียกร้องของนักศึกษาผู้ประท้วง ที่ต้องการให้ทางสถาบันลดการรับการสนับสนุนทางการเงินจากองค์กรที่สนับสนุนอิสราเอล
“ผมอยากเห็นพัฒนาการในการคุยกันของทั้งสองฝ่าย ซึ่งตอนนี้ยังไม่เห็นจากมหาวิทยาลัยนี้”
ต่อมา ในวันที่ 8 พฤษภาคม ทางตำรวจเข้ารื้อถอนเตนท์ประท้วงในพื้นที่ของม.จอร์จ วอชิงตันและจับกุมผู้ชุมนุมกว่า 33 คน ขณะที่แอลเลน แกรนเบิร์ก อธิการบดีของม.จอร์จ วอชิงตัน กล่าวในแถลงการณ์ ว่า กลุ่มผู้ประท้วงได้ก่อกวนผู้เห็นต่าง โจมตีเจ้าหน้าที่ตำรวจ และเข้ายึดพื้นที่และทำลายทรัพย์สินของมหาวิทยาลัยโดยมิชอบ ทำให้ต้องมีการแทรกแซงโดยตำรวจเพื่อคืนบรรยากาศของสถานศึกษาในช่วงสอบปลายภาคและช่วงใกล้รับปริญญา
SEE ALSO: ตำรวจรวบ 33 รายตั้งแคมป์ประท้วงในม.จอร์จวอชิงตัน
บรรยากาศการอยู่ร่วมกันของความเห็นต่างในรั้วมหาวิทยาลัย
สันติภาพ สมศักดิ์ นักศึกษาระดับป.โท ด้านนโยบายสาธารณะและนโยบายสาธารณสุข มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด เมืองเคมบริดจ์ รัฐแมสซาชูเซตส์ เล่าให้วีโอเอไทยฟังถึงบรรยากาศความหลากหลายในชั้นเรียน
“คนที่มีอารมณ์โกรธแค้นก็เยอะมาก มันก็มีความตึงเครียดในห้องเรียน แต่ผมรู้สึกว่ามันอาจเป็นโรงเรียนเชิงการทูต แล้วก็เป็นโรงเรียนที่ (นักศึกษา) ส่วนใหญมีประสบการณ์ทำงานระดับหนึ่ง...ก็พออยู่กันได้ ไม่มีอะไรที่ถึงขั้นแตกหัก” นักศึกษาวัย 26 ปี กล่าวกับวีโอเอไทยเมื่อวันที่ 30 เมษายน
“มีการเดินออกจากห้องเรียนเพื่อไปให้กำลังใจผู้ประท้วง แต่ไม่ได้เป็นไปเพื่อกีดกันการเรียนการสอนแต่อย่างใด”
สันติภาพเล่าว่า บรรยากาศการประท้วงในรั้วม.ฮาร์วาร์ดเป็นไปอย่างค่อนข้างสันติ แม้จะมีการปิดกั้นพื้นที่จากสื่อมวลชน โดยการตั้งเตนท์ประท้วงจะอยู่ในบริเวณจัตุรัสกลางในพื้นที่ของนักศึกษาระดับป.ตรี และตัวเขาซึ่งเป็นนักศึกษาป. โท ยังไม่ได้รับผลกระทบจากการประท้วง
เมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม อลัน เอ็ม การ์เบอร์ รักษาการอธิการบดี ม.ฮาร์วาร์ด ออกแถลงการณ์ว่า ทางสถาบันจะเพิ่มการลงโทษทางวินัยที่รุนแรงขึ้นต่อนักศึกษาที่ “เข้าร่วมกิจกรรมที่ไม่ได้รับอนุญาตและสร้างความรบกวน” และย้ำว่า การกางเตนท์ปักหลักประท้วงเป็น “ความเสี่ยงอย่างยิ่ง” ต่อบรรยากาศการเรียนรู้ในมหาวิทยาลัย และผู้เข้าร่วมอาจถูกพักการเรียน
เช่นเดียวกับนักศึกษาไทยคนอื่น ๆ สันติภาพเห็นด้วยเช่นกันต่อการเปิดพื้นที่ให้นักศึกษาได้แสดงความเห็นอย่างสันติ
“มันเป็นอะไรที่เป็นขั้นพื้นฐานมาก ๆ แล้วก็เป็นอะไรที่ทาง ม.เองก็รู้สึกว่ามันเป็นส่วนหนึ่งของหลักสูตร ส่วนหนึ่งของความเป็นคนที่เขาต้องการฟูมฟักนักศึกษาก็คือความเข้าใจด้านสิทธิมนุษยชน การเป็นพลเมืองที่เข้มแข็ง และเปิดปากเมื่อเห็นความไม่เท่าเทียมกัน” สันติภาพกล่าว
Your browser doesn’t support HTML5
ทางด้านสถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงวอชิงตัน มีข้อแนะนำถึงนักศึกษาไทยในสหรัฐฯ ในช่วงกระแสการประท้วงว่า ขอให้ดูแลระมัดระวังตัวเอง พยายามอย่าเอาตัวเองเข้าไปอยู่ในสถานการณ์และสถานที่ที่อาจส่งผลกระทบต่อความปลอดภัยของตน ส่วนในเรื่องของการแสดงออกทางการเมืองนั้น ก็สามารถทำได้ตามสิทธิในขอบเขตของกฎหมายของแต่ละพื้นที่ โดยที่ไม่กระทบต่อสวัสดิภาพและการเรียนของแต่ละคน
- ข้อมูลบางส่วนจากเอพี