วิเคราะห์: สหรัฐฯ วางยุทธศาสตร์ใหม่สำหรับการทูตในเอเชียอย่างไร?

  • VOA

ประธานาธิบดีสหรัฐฯ โจ ไบเดนที่การประชุม APEC ที่ซานฟรานซิสโก เมื่อปี 2023

เป็นเวลาหลายทศวรรษที่สหรัฐฯ สร้างสัมพันธ์กับประเทศในเอเชียด้วยรูปแบบทวิภาคี แต่รัฐบาลประธานาธิบดีโจ ไบเดน ได้เปิดมิติใหม่ ด้วยการแสวงหาผลประโยชน์ร่วมของประเทศในภูมิภาค เพื่อสร้าง “รั้วลายสาน” ทางการทูต

“รั้วลายสาน” หรือ "lattice fence" เป็นการเปรียบเทียบว่าสหรัฐฯ ช่วยขยายเครือข่ายประเทศที่มีเเนวคิดคล้ายกัน มาประสานความสัมพันธ์ เพื่อสร้างระบบปกป้องผลประโยชน์ร่วม

โดยธรรมชาติ ประเทศต่าง ๆ ในเอเชียมีผลประโยชน์ที่แตกต่างกันและยากที่จะมีสนธิสัญญาร่วมที่ครอบคลุมหลายชาติ แบบเดียวกับสนธิสัญญาแอตเเลนติกเหนือ หรือนาโต้ในยุโรป

โดยบางประเทศในเอเชียอาจเป็นคู่แข่งขันหรือมีประวัติศาสตร์ที่บาดหมางกันด้วยซ้ำ

อย่างไรก็ตาม กลุ่มย่อย ๆ ภายใต้ยุทธศาสตร์ "lattice fence" ยังเป็นตัวอย่างความร่วมมือที่ซับซ้อนกว่าระดับทวิภาคี ระหว่างสหรัฐฯ และประเทศในเอเชียเเต่ละราย ซึ่งเป็นลักษณะของยุทธศาสตร์แบบเก่าที่เรียกว่า "hub and spokes" หรือ "ศูนย์รวมกับซี่ล้อ"

ภายใต้เเนวทางเดิม สหรัฐฯ เปรียบเหมือนมหาอำนาจแกนกลางและมีประเทศพันธมิตรในเอเชียแต่ละรายร่วมมือกับอเมริกาแต่ไม่ได้ร่วมมือระหว่างกันภายใต้กรอบพันธมิตรนี้

ตัวอย่างของการทูตแบบใหม่ เด่นชัดมากเมื่อสัปดาห์ที่แล้วที่ไบเดน เป็นเจ้าภาพการหารือระดับผู้นำที่ทำเนียบขาวในกรุงวอชิงตัน กับนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นฟูมิโอะ คิชิดะ และประธานาธิบดีฟิลิปปินส์ เฟอร์ดินานด์ มาร์กอส จูเนียร์ ในการประชุมสุดยอด 3 ฝ่ายที่ไม่เคยมีมาก่อน ท่ามกลางความกังวลที่เพิ่มขึ้นต่อบทบาทของจีนในภูมิภาค

สหรัฐฯ และญี่ปุ่นให้คำมั่นว่าจะให้การสนับสนุนฟิลิปปินส์เพิ่ม เพื่อการปรับระบบกลาโหมให้ทันสมัย และจะเพิ่มการซ้อมรบร่วมกันในภูมิภาค โดย มีประเทศเข้าร่วมจำนวนมากขึ้นในช่วงหลายปีที่ผ่านมา

อีกตัวอย่างหนึ่งเห็นได้จากที่ญี่ปุ่นมีส่วนร่วมอย่างเเข็งขันในกิจกรรมที่สหรัฐฯ เป็นแกนนำ เช่น ความร่วมมือด้านความมั่นคง Quad หรือ Quadrilateral Security Dialogue ที่เป็นกรอบพันธมิตรอย่างไม่เป็นทางการของอเมริกา อินเดีย ออสเตรเลีย และญี่ปุ่น

นอกจากนี้ผู้สังเกตการณ์ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศในเอเชีย ยังพบว่าญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ซึ่งมีประวัติศาสตร์แห่งความไม่ลงรอยกันมานานจากการที่ญี่ปุ่นเคยบุกยึดเกาหลีใต้ ต่างร่วมซ้อมรบกับสหรัฐฯ

เมื่อปีที่เเล้วรัฐบาลวอชิงตัน โตเกียวและโซลเปิดตัวโครงการแบ่งปันข้อมูลแบบเรียลไทม์เรื่องการเตือนภัยขีปนาวุธของเกาหลีเหนือ

อย่างไรก็ตาม ยังไม่ใช่เรื่องง่ายที่ยุทธศาสตร์ “รั้วลายสาน”ของสหรัฐฯ จะช่วยให้รัฐบาลวอชิงตันประสบความสำเร็จในการเเข่งขันทางการทูตกับจีน

เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว สถาบันคลังสมอง ISEAS-Yusof Ishak Institute ในสิงคโปร์เผยเเพร่รายงานประจำปีที่มีชื่อว่า State of Southeast Asia เพื่อสอบถามความเห็นตัวอย่างประชาชนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ว่า “หากต้องเลือกระหว่างจีนและสหรัฐฯ จะเลือกใคร”

SEE ALSO: ทั้งรักทั้งชัง! เมื่ออาเซียนต้องเลือกจีนในฐานะมหาอำนาจ

รายงานปีล่าสุด ชี้ว่า 50.5% ของผู้ตอบแบบสอบถามเลือกจีน และ 49.5% เลือกสหรัฐฯ ถือเป็นการพลิกขั้วครั้งเเรกตั้งเเต่สถาบันนี้เริ่มเสนอรายงานนี้เมื่อ 5 ปีก่อน

อดีตทูตนิวซีเเลนด์ ประจำเกาหลีใต้ ฟิลิป เทอร์เนอร์ กล่าวว่า สิ่งที่สหรัฐฯ พยายามริเริ่มด้านความร่วมมือทางเศรษฐกิจเพื่อเเข่งขันกับจีนในเอเชีย ภายใต้กรอบ IPEF (Indo-Pacific Economic Framework) ดูเหมือนว่าจะไม่ค่อยประสบความสำเร็จ

เขากล่าวว่า "หลายประเทศในเอเชีย (รวมถึงออสเตรเลียและนิวซีเเลนด์ )ได้ชี้ว่า ความล้มเหลวของสหรัฐฯ ในการสร้างพันธกิจทางเศรษฐกิจในภูมิภาคบั่นทอนสถานะผู้นำที่สหรัฐฯอ้างในภูมิภาคนี้"

เทอร์เนอร์กล่าวด้วยว่า เเม้ประเทศต่าง ๆ จะกังวลต่อพฤติกรรมของจีน แต่ก็มีน้อยรายในเอเชียที่สนับสนุนความพยายามในการจะตีกรอบการขยายตัวของจีน

อดีตทูตผู้นี้บอกว่าหลายประเทศอยากเห็นสหรัฐฯ ปรับท่าต่อจีนจากการบังคับทางเศรษฐกิจมาสู่แนวทางที่ลดความขัดแย้งมากกว่า

  • ที่มา: วีโอเอ