พ่อแม่จีนตั้งคำถามนโยบายจำกัดเวลาเด็กจ้องหน้าจอ

เอริสซา หยาน เด็กหญิงชาวจีนซึ่งใช้โทรศัพท์สมาร์ทโฟนได้อย่างคล่องแคล่วในวัย 6 ขวบ เริ่มใช้สมาร์ทโฟนตั้งแต่ตอนที่อายุเพียง 4 ขวบเท่านั้น

วาล หยาน คุณแม่ของเอริสซา มีความกังวลเกี่ยวกับการติดโทรศัพท์มือถือในหมู่เด็ก ๆ เช่นเดียวกับพ่อแม่คนอื่น ๆ ในประเทศจีน

เมื่อเดือนสิงหาคม รัฐบาลจีนได้ร่างกฎหมายซึ่งจำกัดให้เยาวชนสามารถใช้สมาร์ทโฟนได้สูงสุดวันละ 2 ชั่วโมง และห้ามใช้ในระหว่างเวลาสี่ทุ่มจนถึงหกโมงเช้า

รายงานข่าวจากสื่อท้องถิ่นระบุว่า เด็ก ๆ ที่อายุต่ำกว่าแปดขวบจะถูกจำกัดให้ใช้โทรศัพท์มือถือได้ไม่เกินวันละ 40 นาที โดยเมื่อใช้เกินเวลาที่กำหนด โทรศัพท์จะปิดแอปพลิเคชันอื่น ๆ โดยอัตโนมัติ

แต่หยานมีข้อสงสัยว่ากฎหมายดังกล่าวจะถูกนำมาบังคับใช้อย่างมีประสิทธิผลได้อย่างไร?

เธอกล่าวว่า เธอไม่แน่ใจนักว่าการควบคุมระยะเวลาที่เด็ก ๆ ใช้โทรศัพท์มือถือได้นั้นจะช่วยได้แค่ไหน เพราะตอนนี้สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ต่าง ๆ ก็มีโหมดสำหรับผู้สูงอายุและสำหรับเด็กอยู่แล้ว ดังนั้นเธอจึงต้องการทราบว่า มีงานวิจัยเกี่ยวกับประสิทธิภาพของการใช้กฏข้อบังคับนี้หรือไม่? และถ้าหากบริษัทต่าง ๆ เพิ่มฟังก์ชั่นนี้เข้าไปอีกจากฟังก์ชั่นพื้นฐานที่มีอยู่แต่เดิมแล้ว ก็ไม่รู้ว่าจะได้ผลดีกว่าเดิมหรือไม่

ถึงแม้ว่าเธอจะมีความกังวลในเรื่องการที่เด็ก ๆ ติดอินเทอร์เน็ต แต่เธอก็มองว่าการใช้โทรศัพท์เป็นส่วนสำคัญและไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ในสังคมยุคใหม่นี้

นอกจากนี้ วาลยังกังวลว่าเอริสซาจะตามเพื่อน ๆ ไม่ทันในเรื่องความคล่องแคล่วในการใช้เทคโนโลยีหากเวลาหน้าจอของเธอถูกจำกัดมากเกินไป

ทางด้าน แชรอน เหยิน นักจิตวิทยาเด็ก ที่แม้จะให้การสนับสนุนการจำกัดเวลาหน้าจอของเด็ก แต่เธอก็คิดว่าควรให้ความสำคัญกับความสัมพันธ์ระหว่างพ่อแม่และลูกมากกว่าการจำกัดการใช้โทรศัพท์มือถือเพียงอย่างเดียว

เธอกล่าวว่า พ่อแม่ต้องพยายามสานสัมพันธ์กับลูก ๆ ให้มากขึ้น โดยเฉพาะในสถานการณ์ที่พ่อแม่จำนวนมากต้องยุ่งอยู่กับงานจนไ่ม่มีเวลาให้ลูกของตนเช่นนี้ เพราะเมื่อเด็ก ๆ ไม่มีอะไรทำ พวกเขาก็ต้องหันไปพึ่งสมาร์ทโฟน

อย่างไรก็ตาม หน่วยงานกำกับดูแลทางไซเบอร์ของจีนไม่ได้แจ้งว่าจะบังคับใช้กฎดังกล่าวนี้หรือไม่ หรือจะเริ่มใช้เมื่อไหร่

ซึ่งตัววาลเองก็หวังว่า แทนที่จะใช้นโยบายที่เข้มงวดนี้ รัฐบาลควรจัดให้มีกิจกรรมนอกหลักสูตรสำหรับครอบครัว เพื่อเป็นการเปิดโอกาสให้เด็ก ๆ ได้พบปะผู้คนมากขึ้นจะดีกว่า

  • ที่มา: รอยเตอร์