ปัจจุบัน บริการโซเชียลมีเดียจำนวนมากมุ่งเป้าไปที่เด็กและเยาวชน ทำให้บรรดาผู้ปกครองและครอบครัวพยายามหาความช่วยเหลือในเรื่องนี้
พ่อแม่บางคนมองเห็นถึงปัญหาสุขภาพจิตของลูก ๆ แม้ว่าจะมีการปฏิสัมพันธ์กับเพื่อน ๆ บน Instagram และ TikTok ก็ตาม และยังมีพ่อแม่อีกหลาย ๆ คนที่ตั้งคำถามว่า ควรให้เด็ก ๆ เล่นโซเชียลมีเดียหรือไม่
ในเดือนเมษายน สหภาพยุโรปอนุมัติกฎหมายใหม่ที่กำหนดให้บริษัทโซเชียลมีเดียลบเนื้อหาที่เป็นอันตรายหรือเสี่ยงต่อการจ่ายค่าปรับเป็นเงินจำนวนมหาศาล
ส่วนในสหรัฐฯ สมาชิกสภานิติบัญญัติของรัฐบาลกลางเพิ่งจะออกกฎหมายห้ามเด็กอายุต่ำกว่า 13 ปีใช้โซเชียลมีเดีย นอกจากนี้ยังกำหนดให้ผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปีต้องได้รับอนุญาตจากผู้ปกครองในการสร้างบัญชี
Federal Trade Commission หรือหน่วยงานกำกับดูแลด้านการค้าของสหรัฐฯ เสนอให้มีการเปลี่ยนแปลงเพื่อไม่ให้ Meta บริษัทแม่ของ Facebook สร้างรายได้จากข้อมูลที่ได้มาเกี่ยวกับเด็ก ๆ อีกด้วย
ทั้งนี้ กฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลของเด็ก หรือ Children’s Online Privacy Protection Act ซึ่งห้ามเด็กอายุต่ำกว่า 13 ปีใช้โซเชียลมีเดีย มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ปี ค.ศ. 2000 หลังจากนั้นบริษัทโซเชียลมีเดียจึงห้ามเด็กอายุต่ำกว่า 13 ปีสมัครใช้บริการของตน
แต่ก็มีรายงานว่าเด็ก ๆ ยังคงลงชื่อสมัครใช้บริการไม่ว่าจะได้รับความยินยอมจากผู้ปกครองหรือไม่ก็ตาม
อย่างไรก็ตาม เรื่องของความเป็นส่วนตัวนั้นไม่ได้เป็นเพียงความกังวลเดียวในการที่เด็ก ๆ ใช้อินเตอร์เน็ตในปัจจุบัน แต่ยังมีเรื่องของการถูกกลั่นแกล้ง การกินที่ผิดปกติ ความคิดฆ่าตัวตาย หรืออาจเลวร้ายไปกว่านั้น
หลายปีที่ผ่านมา มีแรงผลักดันจากบรรดาผู้ปกครอง นักการศึกษา และผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีในการประวิงเวลาที่จะให้โทรศัพท์มือถือแก่เด็ก ๆ และวิธีการเข้าถึงสื่อสังคมออนไลน์ จนกว่าพวกเขาจะโต แต่ทั้งบริษัทสื่อสังคมออนไลน์และรัฐบาลยังไม่ได้ทำการเปลี่ยนแปลงใด ๆ เพื่อเพิ่มการจำกัดอายุการสมัครใช้โซเชียลมีเดียเหล่านี้
คริสติน เอลเกอร์สมา ผู้เชี่ยวชาญด้านโซเชียลมีเดียของบริษัทไม่แสวงหาผลกำไร Common Sense Media กล่าวว่า “อายุ 13 ปีอาจไม่ใช่วัยที่เหมาะสมที่สุดในการที่เด็กจะเล่นโซเชียลมีเดีย” และว่า มีการเสนอร่างกฎหมายต่าง ๆ ในสหรัฐฯ ซึ่งรวมถึงการห้ามใช้งานโซเชียลมีเดียของผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 13 ปี แต่การตรวจสอบอายุของบุคคลเมื่อสมัครใช้บริการออนไลน์นั้นไม่ใช่เรื่องง่าย
เธอกล่าวต่อไปว่า บริษัทต่าง ๆ ได้เพิ่มการเปลี่ยนแปลงบางอย่างในช่วงหลายปีที่ผ่านมา แต่นักพัฒนาซอฟต์แวร์ทั้งหลายก็ควรสร้างแอปฯ โดยเริ่มคำนึงถึงเด็ก ๆ ด้วย
ผู้ปกครองบางคนเลือกที่จะห้ามบุตรหลานของตนไม่ให้ใช้สื่อสังคมออนไลน์โดยสิ้นเชิง แต่ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่าสิ่งนี้อาจทำให้เด็กบางคนรู้สึกแปลกแยก และไม่ได้รับรู้ถึงกิจกรรมและการสนทนากับเพื่อน ๆ บนโซเชียลมีเดีย นอกจากนี้ อาจเป็นเรื่องยากสำหรับเด็กที่ไม่เคยใช้สื่อสังคมออนไลน์เลย เมื่อได้รับอนุญาตให้ใช้ทันทีที่อายุครบ 18 ปีอีกด้วย
เอลเกอร์สมา แนะนำให้พ่อแม่เปิดการสนทนากับลูก ๆ ก่อนที่พวกเขาจะโตพอที่จะใช้โซเชียลมีเดียได้ สำหรับเด็กโต เธอแนะนำให้พ่อแม่เรียนรู้เกี่ยวกับความสนใจของพวกเขาเพื่อเป็นช่องทางในการสนทนา
ส่วน จีน โรเจอร์ส ผู้อำนวยการองค์กรไม่แสวงหาผลกำไร Fairplays Screen Time Action Network แนะนำผู้ปกครองว่าอย่าออกคำสั่งให้ลูกปิดโทรศัพท์เมื่อเห็นลูกเล่นโซเชียลมีเดียเป็นเวลานาน ๆ เพราะนั่นเป็นการไม่ใส่ใจว่าเด็ก ๆ มีชีวิตและโลกทั้งใบอยู่ในนั้น แต่ควรจะถามว่าพวกเขากำลังทำอะไรอยู่ และดูว่าลูก ๆ ต้องการที่จะเล่าให้ฟังหรือไม่
โรเจอร์สกล่าวด้วยว่า ผู้ปกครองส่วนใหญ่ประสบความสำเร็จในการนำโทรศัพท์ของบุตรหลานไปเก็บไว้ข้ามคืนเพื่อจำกัดการใช้สื่อสังคมออนไลน์ และว่าการอธิบายให้ลูกฟังว่าคุณกำลังใช้โทรศัพท์ทำอะไรอยู่ เช่นกำลังดูอีเมล ค้นหาไอเดียสำหรับอาหารค่ำ หรือจ่ายบิล เพื่อให้ลูก ๆ เข้าใจว่าคุณไม่ได้ใช้โทรศัพท์เพียงเพื่อความสนุก จากนั้นบอกให้ลูกรู้ว่าจะเลิกใช้โทรศัพท์เมื่อไหร่ ก็น่าจะเป็นประโยชน์สำหรับเรื่องนี้ด้วยเช่นกัน
- ที่มา: เอพี