สิงคโปร์เป็นประเทศแรกในโลกที่ไฟเขียวให้ขายเนื้อสัตว์ที่เพาะขึ้นในห้องทดลอง และถึงแม้เวลาจะผ่านไปเกือบสองปีครึ่ง แต่ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่าอุตสาหกรรมนี้ยังคงดิ้นรนกับปัญหาด้านอุปทานและอุปสรรคต่าง ๆ เช่น การยอมรับจากสาธารณะ
เนื้อสัตว์สังเคราะห์ที่ปลูกถ่ายหรือเพาะเนื้อเยื่อในห้องทดลอง ทำโดยการสกัดเซลล์จากสัตว์และเพาะเลี้ยงกล้ามเนื้อจนได้เนื้อชิ้นโต โดยมีคุณค่าทางโภชนาการ และรสชาติของเนื้อเหมือนกับสัตว์ชนิดนั้นจริง ๆ
ผลิตภัณฑ์เหล่านี้อาจเป็นวิธีแก้ปัญหาที่เป็นไปได้สำหรับหลายประเด็น รวมไปถึงความไม่มั่นคงทางอาหารที่เพิ่มขึ้นซึ่งเกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอันเกิดจากน้ำมือของมนุษย์ ดินที่เสื่อมโทรม และความหลากหลายทางชีวภาพ รวมทั้งวิธีลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากปศุสัตว์ เป็นต้น
ทั้งนี้ แถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นพื้นที่ที่มักได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศก่อนที่อื่น ๆ ด้วยคลื่นความร้อนที่แผ่ไปทั่วและความมั่นคงทางอาหารที่กลายเป็นประเด็นสำคัญในวาระการประชุมของภูมิภาค นอกจากนี้ปัญหาการขาดแคลนที่ดินในสิงคโปร์ก็รุนแรงมากยิ่งขึ้น ทำให้ประชากรต้องนำเข้าอาหารที่บริโภคในประเทศถึง 90%
การหันมาใช้เนื้อสัตว์ที่ยั่งยืนให้มากขึ้นเป็นหนึ่งในกลยุทธ์ด้านอาหารของสิงคโปร์ โดยโครงการที่ใช้ชื่อว่า “30 by 30” ตั้งเป้าที่จะผลิตอาหารให้ได้ 30% ของความต้องการทางโภชนาการของสิงคโปร์ภายในปี 2030
ตัวอย่างเช่น ข้าวมันไก่ซึ่งกลายมาเป็นอาหารประจำชาติสิงคโปร์ แต่เพื่อนบ้านอย่างมาเลเซียห้ามส่งออกไก่ไปยังสิงคโปร์เมื่อปีที่แล้ว เนื่องจากปัญหาการขาดแคลนอาหารที่เกิดขึ้นทั่วโลก
ออนเดร ฮิวเบอร์ (Andre Huber) กรรมการบริหารของ Huber’s Butchery and Bistro ซึ่งเป็นร้านอาหารเพียงแห่งเดียวในสิงคโปร์ที่ให้บริการอาหารที่ทำจากเนื้อไก่ที่เพาะเลี้ยงในห้องทดลอง กล่าวกับวีโอเอว่า “สิงคโปร์ต้องพยายามแก่งแย่งช่วงชิงเนื้อไก่จากประเทศอื่น ๆ” และว่า การที่สิงคโปร์ไม่มีที่ดินสำหรับเลี้ยงสัตว์ รัฐบาลจึงตัดสินใจที่จะทดลองเพาะเนื้อสัตว์ในห้องทดลองเอง
อย่างไรก็ตาม แม้สิงคโปร์จะอนุมัติให้ขายเนื้อไก่ที่เพาะเลี้ยงในห้องทดลองได้ตั้งแต่เดือนธันวาคมปี 2020 แต่จนถึงขณะนี้ ผลิตภัณฑ์ดังกล่าวจากบริษัท GOOD Meat ของสหรัฐฯ ยังคงมีจำหน่ายเฉพาะในร้าน Huber’s เท่านั้น และยังมีในปริมาณที่จำกัด อันเนื่องมาจากปัญหาทางด้านเงินลงทุน
นอกจากปัญหาในเรื่องโครงสร้างพื้นฐานแล้ว ข้อโต้แย้งอีกประการหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับเนื้อสัตว์สังเคราะห์ คือการใช้เซรั่มของตัวอ่อนในครรภ์แม่วัว ซึ่งมักทำโดยการฆ่าวัวในขณะที่พวกมันตั้งท้องอยู่
ผลการศึกษาเมื่อเร็ว ๆ นี้แสดงให้เห็นว่า ทั่วโลกใช้ลูกวัวที่อยู่ในท้องแม่วัวมากกว่า 2 ล้านตัวเพื่อผลิตเซรั่มดังกล่าวประมาณ 800,000 ลิตร ซึ่งจุดประกายความขัดแย้งทางจริยธรรมในอุตสาหกรรมนี้ นอกจากนี้การใช้เซรั่มดังกล่าวยังขัดแย้งกับคุณสมบัติเบื้องต้นของเนื้อสัตว์ที่เพาะเลี้ยงในห้องทดลองที่ต้องไม่มีการฆ่าสัตว์มาเกี่ยวข้องอีกด้วย
จุน ชอง (Jun Chong) จากแผนกพัฒนาผลิตภัณฑ์ของบริษัท GOOD Meat กล่าวว่า ทางบริษัทเพิ่งจะได้รับการอนุมัติให้ใช้เซรั่มจากพืชชนิดใหม่ที่จะสามารถแทนที่เซรั่มจากตัวอ่อนวัวได้ และอีกไม่นานทางบริษัทจะนำเซรั่มตัวใหม่นี้มาใช้ในการเพาะเลี้ยงเนื้อไก่แทน
ในขณะเดียวกัน อัลเฟรโด ฟรังโก โอเบรกอน (Alfredo Franco-Obregon) รองศาสตราจารย์แห่งมหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ ได้ค้นพบวิธีใช้แม่เหล็กประกอบการเพาะเลี้ยงเนื้อจากเซลล์ที่อาจใช้แทนเซรั่มของวัวที่อยู่ในท้องแม่วัวได้ โดยเขาบอกว่าวิธีนี้ดีพอ ๆ กับการใช้เซรั่มตัวอ่อนวัวเลยทีเดียว
ผู้เชี่ยวชาญด้านการเจริญเติบโตของกล้ามเนื้อกล่าวว่า หากเนื้อสัตว์ที่เพาะขึ้นในห้องทดลองสามารถเพิ่มขนาดได้ หวังว่าฟาร์มปศุสัตว์ที่ไร้มนุษยธรรมจะถูกกำจัดให้หมดสิ้นไป
ทางด้าน หวัง เดเจี๋ยน รองหัวหน้าภาควิชาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการอาหารของมหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ กล่าวว่า “จากนี้ไปอีกหนึ่งหรือสองทศวรรษ บางที 50% ของเนื้อสัตว์ทั้งหมดในตลาดจะเป็นเนื้อที่ใช้เนื้อเทียมผสม หรือเป็นเนื้อสัตว์สังเคราะห์ที่เพาะเลี้ยงในห้องทดลองโดยใช้ทั้งเซลล์สัตว์และเซลล์จากพืชผสมกัน”
- ที่มา: วีโอเอ