ธนาคารกลางยุโรป (European Central Bank – ECB) ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอ้างอิงสำหรับประเทศที่ใช้สกุลเงินยูโร หรือ ยูโรโซน ขึ้นสู่ระดับสูงสุดในรอบ 22 ปี ในวันพฤหัสบดี พร้อมระบุว่า ภาวะเงินเฟ้อที่ยังสูงอยู่ทำให้ต้องมีการพิจารณาปรับขึ้นดอกเบี้ยต่อไปในการประชุมครั้งหน้าด้วย ตามรายงานของสำนักข่าวรอยเตอร์
ECB ปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายขึ้น 0.25% ซึ่งเป็นการปรับครั้งที่ 8 ติดต่อกันนับตั้งแต่เมื่อเงินเฟ้อทะยานพุ่งสูงเมื่อต้นปีที่แล้ว ทำให้อัตราดอกเบี้ยอ้างอิงของยูโรโซนอยู่ที่ 3.5% ในเวลานี้
นอกจากการประกาศการตัดสินใจขึ้นดอกเบี้ยแล้ว ธนาคารกลางยุโรปยังยืนยันว่า จะยุติโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ลงเหลือมาจากยุควิกฤตเศรษฐกิจ และเปิดเผยว่า มีการปรับขึ้นคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอีกครั้งด้วย
คริสตีน ลาการ์ด ประธาน ECB ระบุระหว่างการแถลงข่าวว่า “เพื่อสกัดกั้นการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญต่อพื้นฐานการดำเนินนโยบายของเรา มีความน่าจะเป็นอย่างมากว่า เราจะเดินหน้าปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อในเดือนกรกฎาคม” และว่า “[ถ้าจะถามว่า] จะพอไหม? เราจะหยุดการเดินหน้าปรับขึ้นดอกเบี้ยหรือยัง? ไม่ค่ะ เรายังไปไม่ถึงจุดหมายปลายทางของเรา ... และเรายังมีงานที่ต้องทำต่อหรือไม่? มีค่ะ เรายังมีสิ่งที่ต้องทำอีกมาก”
ธนาคารใน 20 ประเทศที่อยู่ในยูโรโซนเปิดเผยว่า ต่างคาดว่าภาวะเงินเฟ้อจะคงตัวอยู่ในระดับสูงกว่าเป้าหมายที่ 2% ไปจนกระทั่งถึงสิ้นปี ค.ศ. 2025
ลาการ์ด ยังเตือนเกี่ยวกับการปรับขึ้นของค่าจ้างและราคาสินค้าด้วยการระบุว่า “แรงกดดันด้านค่าจ้างที่เป็นภาพสะท้อนส่วนหนึ่งของค่าใช้จ่ายแบบจ่ายครั้งเดียวเสร็จ กำลังกลายมาเป็นต้นกำเนิดสำคัญของเงินเฟ้อ” แต่ก็ชี้ว่า “ยิ่งไปกว่านั้น บางภาคส่วนธุรกิจกลับสามารถรักษาผลกำไรของตนให้อยู่ในระดับสูงได้เสมอมา”
ทั้งนี้ รอยเตอร์ระบุว่า ภาวะเงินเฟ้อในยูโรโซนนั้นทรงตัวอยู่ในระดับปานกลางมาหลายเดือนแล้ว โดยเหตุผลส่วนหนึ่งคือ ราคาพลังงานที่ต่ำลงและการปรับขึ้นดอกเบี้ยอย่างรวดเร็วที่สุดในประวัติศาสตร์ 25 ปีของ ECB
อย่างไรก็ดี ระดับเงินเฟ้อปัจจุบันที่ 6.1% ยังสูงมากเกินกว่า ECB จะยอมรับได้ ในขณะที่ การเพิ่มขึ้นของราคาสินค้าพื้นฐานเพิ่งจะเริ่มชะลอตัว แม้จะมีสัญญาณการชะงักตัวของการขยายตัวทางเศรษฐกิจออกมาก็ตาม
- ที่มา: รอยเตอร์