เมืองใหญ่ในอเมริกาเร่งเสนอบริการขนส่งมวลชนฟรี

  • VOA

FILE - A woman boards a bus in Kansas City, Mo., March 3, 2021.

การผลักดันให้มีระบบขนส่งสาธารณะแบบไม่คิดค่าใช้จ่ายกำลังเพิ่มมากขึ้นในสหรัฐฯ แม้ว่าจะมีการถกเถียงอย่างมากในเรื่องนี้ก็ตาม

ในขณะที่บางเมืองกำลังค่อย ๆ ดำเนินการตามขั้นตอน แต่วอชิงตันซึ่งเป็นเมืองที่ใหญ่ที่สุดในการดำเนินโครงการนี้ ได้ผ่านมาตรการงดเก็บค่าโดยสารรถประจำทางในเมืองไปแล้วเมื่อไม่นานมานี้ และกำลังจะเริ่มใช้ในวันที่ 1 กรกฎาคม

ชาร์ลส์ อัลเลน (Cjarles Allen) สมาชิกสภาปกครองของวอชิงตันซึ่งผ่านร่างกฎหมายอย่างเป็นเอกฉันท์ และยังเป็นประธานคณะกรรมการด้านการขนส่งของเมืองด้วย กล่าวกับวีโอเอว่า เขาคิดว่าระบบขนส่งสาธารณะควรได้รับการพิจารณาเช่นเดียวกับบริการสาธารณะฟรีอื่น ๆ อย่างเช่น ห้องสมุด หรือหน่วยดับเพลิง

เขาตั้งข้อสังเกตว่า ระบบขนส่งมวลชนของวอชิงตันนั้นไม่มีกำไรและไม่ควรเก็บเงินเพราะเป็นสินค้าสาธารณะ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผู้โดยสารรถประจำทางนั้นเป็นกลุ่มคนที่มีรายได้ต่ำเป็นส่วนใหญ่

ก่อนหน้านี้ ชาววอชิงตันจำนวนมากเริ่มทำงานจากที่บ้านตั้งแต่ช่วงเริ่มต้นของการระบาดใหญ่ของโคโรนาไวรัส เช่นเดียวกับเมืองอื่น ๆ ทำให้จำนวนผู้โดยสารในระบบขนส่งสาธารณะลดลงอย่างมาก แต่อัลเลนกล่าวว่าในตอนนี้จำนวนผู้โดยสารบนรถประจำทางได้กลับมาอยู่ที่ 95% เท่ากับตอนก่อนเกิดโรคระบาดแล้ว

ร่างกฎหมายฉบับใหม่ได้เพิ่มเส้นทางรถเมล์ที่ให้บริการตลอด 24 ชั่วโมงประมาณ 12 เส้นทาง และสร้างกองทุนบริการปีละ 10 ล้านดอลลาร์สำหรับการปรับปรุงบริการรถโดยสาร ซึ่งอัลเลนหวังว่าจะช่วยดึงดูดผู้คนให้หันมาใช้บริการขนส่งสาธารณะกันมากขึ้น

เพราะยิ่งสามารถทำให้ผู้คนเลิกใช้รถยนต์และหันมาใช้บริการขนส่งสาธารณะฟรีได้มากเท่าไรก็ยิ่งดีมากขึ้นเท่านั้น

แคทเธอรีน การ์เซีย (Katherine Garcia) ผู้อำนวยการกลุ่มรณรงค์ด้านสิ่งแวดล้อม Clean Transportation for All กล่าวว่า The Sierra Club สนับสนุนโครงการค่าโดยสารฟรี และเชื่อว่าเรื่องนี้มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการลดมลพิษจากภาคการขนส่ง ทุกคนทราบดีว่าเมื่อมีผู้โดยสารใช้บริการขนส่งสาธารณะมากขึ้น ความแออัดของการจราจรจะลดลง และคุณภาพอากาศก็จะดีขึ้นตามไปด้วย

เมืองอเล็กซานเดรีย รัฐเวอร์จิเนีย ให้บริการรถโดยสารประจำทาง DASH ที่เปลี่ยนมาให้บริการฟรีในช่วงการระบาดใหญ่ ซึ่ง เอดูอาร์โด คัมโปส (Eduardo Campos) ชาวเมืองผู้หนึ่งกล่าวว่า การใช้บริการรถประจำทาง Dash ช่วยให้เขาประหยัดเงินและเวลาได้มาก

อย่างไรก็ตาม TransitCenter มูลนิธิที่สนับสนุนการพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะในสหรัฐฯ ที่อยู่ในนิวยอร์ก ต่อต้านการรณรงค์ค่าโดยสารเป็นศูนย์

เดวิด แบรกดอน (David Bragdon) ผู้บริหาร TransitCenter กล่าวกับวีโอเอว่า ปัญหาเรื่องอัตราเงินเฟ้อทำให้ระบบขนส่งสาธารณะต้องการเงินมากขึ้นในการดำเนินงาน ซึ่งเงินบางส่วนควรมาจากผู้เสียภาษีและบางส่วนมาจากค่าโดยสาร ดังนั้นในเมืองใหญ่ ๆ การยกเลิกค่าโดยสารจะเป็นการลดรายได้ลงอย่างมาก

ทั้งนี้ แคนซัสซิตี รัฐมิสซูรี เป็นเมืองแรกในสหรัฐฯ ที่เริ่มใช้ระบบขนส่งมวลชนฟรีสำหรับทหารผ่านศึก จากนั้นในปี 2019 ประชาชนทุกคนในเมืองสามารถขึ้นรถเมล์และรถรางได้ฟรี

ริชาร์ด จาร์โรล (Richard Jarrold) รองประธานของ Kansas City Area Transportation Authority กล่าวว่า โครงการนี้ประสบความสำเร็จและสร้างประโยชน์แก่ชุมชนโดยการช่วยให้ผู้คนได้ประหยัดเงินเพื่อใช้เป็นค่าเช่าบ้านและค่ารักษาพยาบาล

แต่แบรกดอนกลับมองเห็นข้อเสียของโครงการนี้ โดยกล่าวว่า แคนซัสซิตี้เคยมีระบบขนส่งที่มีคุณภาพต่ำซึ่งมีค่าโดยสาร 1.50 ดอลลาร์ และในตอนนี้ระบบการขนส่งนั้นก็ยังมีมีคุณภาพต่ำอยู่ดังนั้นจึงไม่ค่อยมีคนใช้แม้ว่าจะไม่เก็บค่าโดยสารแล้วก็ตาม

และตอนนี้แคนซัสซิตี้ก็กำลังเผชิญกับความท้าทายด้านการเงินอย่างมากเพื่อดำเนินการโครงการค่าโดยสารฟรีนี้ต่อไป ดังนั้นแทนที่จะยกเลิกค่าโดยสาร ทางเมืองควรจะใช้เงินที่ได้จากค่าโดยสารมาพัฒนาระบบขนส่งของตน

ขณะที่เมืองอื่น ๆ ก็ได้เกิดแนวคิดใหม่ ๆ เพื่อทดลองใช้ระบบขนส่งค่าโดยสารฟรีแล้ว อย่างเช่นระบบขนส่งสาธารณะในเมืองเดนเวอร์ รัฐโคโลราโด ที่ไม่เก็บค่าโดยสารเมื่อมีปริมาณมลพิษสูงในเดือนสิงหาคม ส่วนในซานฟรานซิสโก มีโครงการนำร่องสำหรับคนหนุ่มสาวและผู้สูงอายุ ให้สามารถโดยสารรถสาธารณะทั้งหมดโดยไม่มีค่าใช้จ่าย

อย่างไรก็ตาม แบรกดอนจาก TransitCenter เห็นว่า การให้เงินช่วยเหลือเพื่อเป็นค่าโดยสารสำหรับผู้มีรายได้น้อย เป็นแนวคิดที่ดีกว่าการที่ไม่เก็บค่าโดยสารเลย

  • ที่มา: วีโอเอ