สหรัฐฯ เตรียมจัดส่งความช่วยเหลือทางทหารรอบใหม่ให้แก่ยูเครน ด้วยจรวดที่สามารถโจมตีในระยะไกลลึกเข้าไปในเขตแนวหน้าของรัสเซีย ซึ่งทำให้รัสเซียอาจต้องเร่งปรับยุทธศาสตร์ใหม่เพื่อรับมืออาวุธชนิดใหม่นี้
อาวุธดังกล่าวเรียกว่าระเบิดนำวิถีขนาดเล็กที่ยิงจากภาคพื้นดิน (Ground Launched Small Diameter Bomb) หรือ GLSDB ซึ่งมีระยะยิงได้ไกล 150 กิโลเมตร ไกลกว่าระบบยิงจรวด High Mobility Artillery Rocket System (HIMARS) ของสหรัฐฯ ที่ยูเครนใช้อยู่ในขณะนี้ราวสองเท่า ซึ่งหมายความว่าจะสามารถโจมตีได้ถึงเส้นทางขนส่งเสบียงของกองทัพรัสเซียในภาคตะวันออกของยูเครน รวมทั้งบางส่วนของแคว้นไครเมีย
ยูเครนเชื่อว่า อาวุธใหม่นี้จะกดดันให้รัสเซียต้องถอยเส้นทางขนส่งเสบียงไปไกลจากแนวหน้ามากกว่าเดิม ซึ่งจะทำให้กองทัพรัสเซียอ่อนแอลงและยังเพิ่มความยากลำบากให้แก่รัสเซียในการโจมตีรอบใหม่ด้วย
แอนเดรีย ซาโกรอดเนียค อดีตรัฐมนตรีกลาโหมยูเครน เชื่อว่า "ระบบยิงจรวดแบบใหม่อาจทำให้การรุกคืบของรัสเซียช้าลงมาก และจะส่งผลกระทบต่อทิศทางของสงครามครั้งนี้ยิ่งกว่าที่ระบบ HIMARS เคยส่งผลมาแล้ว"
GLSDB คือระเบิดนำวิถีแบบร่อนที่ใช้จีพีเอสนำทาง สามารถสั่งการโจมตีเป้าหมายที่ยากต่อการเข้าถึง เช่น ศูนย์บัญชาการรบ ผลิตโดยบริษัทซาบ เอบี (SAAB AB) และ โบอิ้ง (Boeing Co) โดยประกอบระเบิดขนาดเล็กแบบ GBU-39 และมอเตอร์จรวด M26 เข้าด้วยกัน
แหล่งข่าวระบุว่า สหรัฐฯ อาจสามารถจัดส่งจรวดรุ่นนี้ให้แก่ยูเครนภายในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า โดยจะจัดหาเครื่องยิงจรวดแบบใหม่สำหรับ GLSDB ให้ด้วย
เส้นทางขนส่งเสบียงที่เปราะบางของรัสเซีย
เมื่อเดือนมิถุนายน สหรัฐฯ ส่งระบบยิงจรวด HIMARS ชุดแรกให้แก่ยูเครน ซึ่งมีระยะทำการ 77 กม. ซึ่งถือเป็นการยกระดับศักยภาพทางทหารของยูเครนได้อย่างมากในตอนนั้น ทำให้ยูเครนสามารถทำลายคลังอาวุธต่าง ๆ ของรัสเซียลงได้อย่างมาก
โอเลกซานเดอร์ มูซิเยนโก นักวิเคราะห์ด้านการทหารของยูเครน เชื่อว่า เมื่อยูเครนได้รับระเบิดนำวิถี GLSDB แล้ว ยูเครนจะสามารถโจมตีเป้าหมายที่อยู่ห่างออกไปเกิน 80 กม. ได้ และยิ่งหากสามารถโจมตีได้ถึงบริเวณติดพรมแดนรัสเซีย หรือในแคว้นไครเมีย ยูเครนก็จะชะลอการโจมตีของกองทัพรัสเซียลงได้เช่นกัน
Your browser doesn’t support HTML5
ที่สำคัญ ยูเครนจะสามารถโจมตีได้ถึงเส้นทางเชื่อมต่อระหว่างแคว้นไครเมียที่ถูกใช้เป็นค่ายทหารขนาดใหญ่ทางภาคใต้ กับเมืองเบอร์ดิอันสก์และเมืองเมลิโตโพล ซึ่งจะทำให้รัสเซียต้องเปลี่ยนเส้นทางขนส่งเสบียงไปทางสะพานไครเมียที่เพิ่งถูกทำลายอย่างหนักเมื่อเดือนตุลาคม
มูซิเยนโก กล่าวว่า "หากยูเครนสามารถโจมตีได้ไกล 150 กม. ก็จะสามารถทำลายเส้นทางขนส่งที่เชื่อมต่อกับแคว้นไครเมียได้"
ด้าน ทอม การาโก ผู้เชี่ยวชาญด้านอาวุธและความมั่นคง แห่ง Center for Strategic and International Studies (CSIS) ชี้ว่า "GLSDB คือก้าวสำคัญที่ช่วยให้ยูเครนโจมตีได้ไกลขึ้น และทำให้รัสเซียต้องคาดเดา" ซึ่งหมายถึงการสั่นคลอนความมั่นใจของรัสเซียด้วย
ถึงเวลาของขีปนาวุธ ATACMS หรือยัง?
นักวิเคราะห์มองว่า การที่รัฐบาลไบเดนตัดสินใจส่งอาวุธ GLSDB ให้แก่ยูเครนนั้น คืออีกก้าวหนึ่งที่จะนำไปสู่การส่งระบบขีปนาวุธเชิงยุทธศาสตร์ Army Tactical Missile System (ATACMS) ที่มีพิสัยทำการ 297 กม. ให้แก่ยูเครนตามที่รัฐบาลกรุงเคียฟเรียกร้องมา ซึ่งจนถึงขณะนี้สหรัฐฯ ยังยืนยันปฏิเสธที่จะส่งอาวุธดังกล่าวให้ยูเครนเพราะเกรงว่าจะทำให้ความขัดแย้งยิ่งยกระดับรุนแรงขึ้น
แม้ GLSDB ซึ่งมีขนาดเล็กกว่าและติดตั้งประจำการได้ง่ายกว่าเมื่อเทียบกับ ATACMS จะเหมาะสมต่อภารกิจของยูเครนสำหรับสถานการณ์ของสงครามในตอนนี้ คือการสกัดการโจมตีของรัสเซียและเพิ่มแต้มต่อให้กับกองทัพยูเครน แต่การาโก แห่ง CSIS เชื่อว่าในที่สุดแล้ว ยูเครนอาจจำเป็นต้องใช้ขีปนาวุธพิสัยไกลในอนาคต เช่นเดียวกับยุทโธปกรณ์อื่น ๆ ได้แก่ ระบบยิงจรวด HIMARS, ระบบป้องกันขีปนาวุธ Patriot และรถถังเอบรัมส์ ที่สหรัฐฯ อนุมัติให้แก่ยูเครนแล้วก่อนหน้านี้
- ที่มา: รอยเตอร์