วิเคราะห์อุปสรรคของสหรัฐฯ ในการคานอำนาจจีนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

Biden ASEAN

ประธานาธิบดีโจ ไบเดน มีกำหนดร่วมประชุมสุดยอดสหรัฐฯ-อาเซียน ที่กรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชาในสัปดาห์หน้า และหวังจะใช้เวทีนี้กระชับความสัมพันธ์กับประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ท่ามกลางอิทธิพลของจีน

บทบาทของสหรัฐฯและจีนในภูมิภาคนี้ ทำให้เอเชียตะวันออกเฉียงใต้เปรียบเสมือนสมรภูมิทางการทูตระหว่างสองมหาอำนาจ และแม้อเมริกาจะตั้งความหวังในการสร้างความคืบหน้าด้านต่าง ๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แต่นักวิเคราะห์เห็นว่า ความต้องการของสหรัฐฯ ที่จะตีกรอบจีนน่าจะพบกับอุปสรรค

โจแอน ลิน เว่ยหลิง ผู้ประสานงานร่วมแห่งศูนย์ “อาเซียนศึกษา” ที่สถาบัน ISEAS Yusof Ishak ที่สิงคโปร์ กล่าวถึงความยากลำบากที่รอสหรัฐฯ อยู่ ในการประชุมสุดยอด สหรัฐฯ-อาเซียน วันที่ 12 พฤศจิกายน ที่ประธานาธิบดีไบเดน มีกำหนดหารือด้วยตนเอง

เธอบอกว่า “จีนเป็นหุ้นส่วนสำคัญทางเศรษฐกิจประเทศหนึ่งของภูมิภาคนี้ และจีนได้สร้างรากฐานความร่วมมือระดับปฏิบัติการกับอาเซียนไว้หลายด้าน ไปเรียบร้อยแล้ว”

ภายใต้สิ่งท้าทายดังกล่าว สหรัฐฯ หวังที่จะได้รับความร่วมมือกับอาเซียนในด้านต่าง ๆ เช่น การเดินเรือ การพัฒนาที่ยั่งยืน ระบบคมนาคมขนส่ง เศรษฐกิจ และการเชื่อมต่อกันของระบบสาธารณูปโภคพื้นฐาน

สิ่งท้าทายอีกประการหนึ่งสำหรับสหรัฐฯ ในภูมิภาคนี้คือ ท่าทีการรักษาสมดุลกับมหาอำนาจของประเทศต่าง ๆ ตามทัศนะของ ฟิล โรเบิร์ตสัน รองผู้อำนวยการ Human Rights Watch ฝ่ายเอเชีย

เขาบอกกับวีโอเอภาคภาษาเขมรว่า “ความจริงของภูมิภาคนี้คือ ประเทศสมาชิกอาเซียนส่วนมากพยายามอย่างสุดแรงเพื่อที่จะไม่ให้ตนเองถูกบังคับเลือกว่าอยู่ฝ่ายสหรัฐฯ หรือ จีน”

“มีความคลุมเครือทางยุทธศาสตร์ในภูมิภาคนี้ ที่รัฐต่าง ๆ ต้องการได้ประโยชน์จากทั้งสองฝ่ายและในเวลาเดียวกันก็สร้างภาระผูกพันให้น้อยที่สุด เพราะอาจทำให้เกิดปัญหากับฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง”

In this photo released by Xinhua News Agency, Chinese President Xi Jinping waves as he chairs the ASEAN-China Special Summit to commemorate the 30th Anniversary of ASEAN-China Dialogue Relations via video link from Beijing, China on Monday, Nov. 22, 2021.

ประเทศที่เข้าร่วมการประชุมต่างหวังที่จะกระตุ้นความร่วมมือพหุภาคี ผ่านการเป็นหุ้นส่วนกันทางยุทธศาสตร์อย่างรอบด้าน หรือ U.S.-ASEAN Comprehensive Strategic Partnership

อีกปัจจัยหนึ่งที่สร้างความสลับซับซ้อนต่อการพบกันครั้งนี้คือ ประเด็นความขัดแย้งในจุดต่าง ๆ ของโลก ทั้งสงครามในยูเครน และการที่จีนมุ่งหมายที่จะควบคุมไต้หวัน

และภายในภูมิภาคเอเชียตะวันอออกเฉียงใต้เอง ก็มีประเด็นร้อนจากการรัฐประหารในเมียนมาเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ปีที่แล้ว

แม้อาเซียนต้องการแสดงบทบาทเป็นผู้รักษาสันติภาพ แต่เมียนมาปฏิเสธการแทรกแซงใด ๆ จากภายนอก

ฟิล โรเบิร์ตสันแห่ง Human Rights Watch กล่าวว่า เมียนมาจะเป็นหัวข้อการหารือที่เป็นหัวใจของการประชุมสุดยอดสหรัฐฯ-อาเซียนที่กรุงพนมเปญ

เขากล่าวเสริมด้วยว่า เมื่อประเทศในอาเซียนต้องแสดงความมุ่งมั่นเรื่องประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน “รัฐบาลกรุงวอชิงตันไม่น่าจะได้ข้อตกลงใด ๆ ที่หนักแน่นเลย”

  • ที่มา: วีโอเอ