เฟซบุ๊กและทวิตเตอร์ นำเครือข่ายผู้ใช้บัญชีปลอมออกจากระบบ โดยเป็นผู้ใช้บัญชีปลอมที่นำเสนอเนื้อหาหรือมีนโยบายสนับสนุนตะวันตกและวิจารณ์นโยบายของรัสเซีย จีน และอิหร่าน นับเป็นครั้งแรกที่สื่อสังคมออนไลน์ที่สองแห่งมีมาตรการต่อบัญชีลักษณะดังกล่าว
รายงานของมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดและกราฟิกา (Graphika) บริษัทวิเคราะห์สื่อสังคมออนไลน์ ระบุว่า บัญชีปลอมดังกล่าวละเมิดเงื่อนไขและข้อตกลงการให้บริการของสื่อสังคมออนไลน์ โดยใช้ “วิธีหลอกลวงเพื่อสนับสนุนท่าทีสนับสนุนตะวันตกในตะวันออกกลางและเอเชียกลาง” และอาจมีการทำเป็นขบวนการลับ ๆ มาแล้วห้าปี
รายงานฉบับนี้ระบุว่า ทวิตเตอร์และเฟซบุ๊ก ซึ่งแบ่งปันข้อมูลของบัญชีดังกล่าวให้นักวิจัย ไม่ได้เปิดเผยว่าองค์กรใดอยู่เบื้องหลังขบวนการเหล่านี้ แต่ในรายงานนี้ ระบุว่า ทวิตเตอร์ชี้ว่าสหรัฐฯ และอังกฤษอาจเป็นประเทศต้นกำเนิดของขบวนการ ขณะที่เมตา บริษัทแม่ของเฟซบุ๊กและอินสตาแกรม ระบุว่า สหรัฐฯ เป็นประเทศต้นกำเนิดของขบวนการ
ในช่วงไม่กี่ปีมานี้ บริษัทอินเตอร์เน็ตได้ปิดปฏิบัติการออนไลน์จากจีน อิหร่าน และรัสเซีย และการค้นพบปฏิบัติการออนไลน์จากสหรัฐฯ มีการใช้เทคนิคเดียวกัน เช่น การใช้บุคคลปลอมและผู้ติดตามปลอมเพื่อเผยแพร่แนวคิด ซึ่งทำให้เกิดคำถามว่า ใครอยู่เบื้องหลังปฏิบัติการดังกล่าว มีจุดประสงค์อย่างไร และปฏิบัติการนี้มีประสิทธิภาพหรือไม่
ในประเด็นที่วีโอเอสอบถามว่า กองทัพสหรัฐฯ สร้างบัญชีปลอมหรือไม่ พลอากาศจัตวาแพท ไรเดอร์ โฆษกทำเนียบขาว ระบุว่า เจ้าหน้าที่ต้องดูข้อมูลจากเฟซบุ๊กหรือทวิตเตอร์ก่อน เขาระบุว่า กองทัพสหรัฐฯ ได้ทำ “ปฏิบัติการสนับสนุนข้อมูลของกองทัพทั่วโลก” และกล่าวเสริมว่า กองทัพสหรัฐฯ ปฏิบัติการตามนโยบายที่กำหนดตามกฎหมายเท่านั้น
ความเชื่อมโยงกับสื่อต่าง ๆ
นักวิจัยระบุว่า บัญชีสื่อสังคมออนไลน์ปลอมมักเผยแพร่ลิงค์ข่าวปลอมและ “แหล่งที่มาที่เชื่อมโยงกับกองทัพสหรัฐฯ” เช่น เว็บไซต์ในเอเชียกลางที่ระบุว่า กองบัญชาการกลางของกองทัพสหรัฐฯ เป็นผู้สนับสนุนเว็บไซต์ดังกล่าว
บัญชีปลอมเหล่านี้ยังเชื่อมโยงกับบทความจากวีโอเอ ซึ่งเป็นสื่อที่ได้รับเงินสนับสนุนจากรัฐบาลกลางสหรัฐฯ และ Radio Free Europe/Radio Liberty หรือ RFE/RL ซึ่งเป็นสื่อในเครือเดียวกัน โดยเว็บไซต์ข่าวปลอมเหล่านี้คัดลอกเนื้อหาจากบีบีซี รัสเซีย วีโอเอ และแหล่งข่าวอื่น ๆ
สื่อสังคมออนไลน์ที่ถูกระงับอื่น ๆ ยังเชื่อมโยงกับบัญชีสื่อปลอมที่ปฏิบัติการในอิหร่าน เช่น Dariche News ที่อ้างว่าเป็นสื่ออิสระและมีเนื้อหาที่ผลิตเองบางส่วน อย่างไรก็ตาม รายงานฉบับนี้ระบุว่า บทความจำนวนมากของสื่อดังกล่าว เป็นเนื้อหาที่มาจากสื่อภาษาเปอร์เซียที่ได้รับเงินจากสหรัฐฯ เช่น Radio Farda ของ RFE/RL และวีโอเอ ภาคภาษาฟอร์ซี
ท่าทีจากหน่วยงานแม่ของ USAGM
เมื่อวันพฤหัสบดี United States Agency for Global Media หรือ USAGM ซึ่งเป็นหน่วยงานแม่ของวีโอเอและ RFE/RL ระบุว่า ทางหน่วยงานไม่ทราบเกี่ยวกับบัญชีปลอมดังกล่าว
เลสลีย์ แจ็คสัน โฆษกของ USAGM กล่าวทางอีเมลว่า USAGM ดูแลเพียงบัญชีสื่อสังคมออนไลน์และเว็บไซต์อย่างเป็นทางการ โดยใช้ “มาตรฐานสูงสุดเพื่อรับรองว่า บัญชีทางการนี้อยู่บนพื้นฐานของข้อเท็จจริง เข้าถึงได้ และตรวจสอบได้”
แจ็คสันยังระบุด้วยว่า USAGM ไม่ได้ทำงานกับหน่วยงานอื่น ๆ ของรัฐบาลสหรัฐฯ หรือกลุ่มอื่น ๆ ที่สนับสนุนเนื้อหาข่าวผ่านสื่อสังคมออนไลน์ปลอม โดยเขาระบุว่า USAGM มีภารกิจในการให้ข้อมูลและเชื่อมโยงกับผู้คนทั่วโลกเพื่อสนับสนุนเสรีภาพและประชาธิปไตย และจะสนับสนุนการไหลเวียนอย่างอิสระของข้อมูลที่เชื่อถือได้ และมีจุดยืนต่อต้านข้อมูลเท็จ ข้อมูลลวง และการปิดกั้นเนื้อหา
- ที่มา: VOA