ลิ้งค์เชื่อมต่อ

วิเคราะห์: ได้ผลหรือไม่? เมื่อสื่อโซเชียลให้ผู้ปกครองควบคุมบัญชีใช้งานของลูกได้มากขึ้น


(FILES) In this file photo taken on October 21, 2020 shows the logo of the multinational American Internet technology and services company, from left : Google, the American online social media and social networking service, Facebook, Twitter,…
(FILES) In this file photo taken on October 21, 2020 shows the logo of the multinational American Internet technology and services company, from left : Google, the American online social media and social networking service, Facebook, Twitter,…

ความวิตกกังวลถึงผลกระทบของสื่อโซเชียลสุขภาพจิตของกลุ่มวัยรุ่นได้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเรื่อง จนบริษัทใหญ่ ๆ อย่าง อินสตาแกรม (Instragram) สแนปแชท (Snapchat) และ ติ๊กตอก (TikTok) ดำเนินการเพิ่มมาตรการใหม่ ๆ เพื่อให้การบริการและเนื้อหามีความปลอดภัยและสอดคล้องกับอายุของผู้ใช้

บริษัทข้างต้นพูดเสมอว่าผู้ปกครองควรมีส่วนร่วมดูแลเนื้อหาที่เด็ก ๆ เข้าถึง แต่สำนักข่าวเอพีชี้ว่า มาตรการของบริษัทสื่อโซเชียลไม่พุ่งเป้าไปที่อัลกอริทึมที่มักป้อนเนื้อหาอย่างไม่มีที่สิ้นสุด จนทั้งกลุ่มวัยรุ่นและผู้ใหญ่ตกเป็นเหยื่อ

ไอรีน ลิน ทนายความเป็นส่วนตัวขององค์กรไม่แสวงผลกำไร Common Sense Media กล่าวว่า “บริษัทสื่อโซเชียลรู้ดีว่าอัลกอริทึมอาจทำให้เนื้อหาที่รุนแรงเผยแพร่ไปได้เร็วขึ้น แต่บริษัทเหล่านี้กลับเลือกที่จะไม่ทำอะไร เพราะยิ่งวัยรุ่นดูเนื้อหาเหล่านี้และมีปฏิกิริยาตอบโต้มากเท่าไหร่ บริษัทก็จะสามารถทำเงินได้มากเท่านั้นด้วย…ดู ๆ แล้วไม่มีอะไรเป็นสิ่งจูงใจให้แพลตฟอร์มออนไลน์เปลี่ยนกลไกและกลยุทธ์เลย”

ยกตัวอย่างจากกรณีของ Snapchat ที่เพิ่งเปิดตัวเครื่องมือใหม่ชื่อ Family Center เมื่อวันอังคารที่ผ่านมาเพื่อช่วยให้ผู้ปกครองสามารถตรวจดูได้ว่า ลูก ๆ ส่งข้อความไปหาเพื่อนคนไหนบ้าง แต่ผู้ปกครองจะไม่สามารถเห็นข้อความที่ส่งได้เพื่อรักษาความเป็นส่วนตัว และการเปิดใช้เครื่องมือนี้ ทั้งฝ่ายลูกและผู้ปกครองจะยินยอมด้วยกันทั้งคู่

snapchat
snapchat

โนนา ฟาแรนนิก ยาเดกา ผู้บริหารของ Snapchat ที่ดูแลนโยบายการใช้และผลกระทบต่อสังคม เปรียบเทียบว่า เครื่องมือข้างต้นทำหน้าที่คล้ายกับเวลาที่ผู้ปกครองสอบถามลูก ๆ ว่า ออกไปทานข้าวที่ไหน กับใคร รู้จักคนคนนี้ได้อย่างไร โดยอุปกรณ์ข้างต้นตอบโจทย์ผู้ปกครองที่ส่วนใหญ่อยากทราบว่า ลูกสุงสิงอยู่กับใคร โดยเด็ก ๆ ยังคงมีความเป็นส่วนตัวและสามารถร่วมตัดสินใจว่าจะให้ผู้ปกครองเข้ามาสอดส่องหรือไม่

แต่ปัจจุบัน เด็ก ๆ มักใช้ช่องทางออนไลน์ต่าง ๆ มากมายที่มีการวิวัฒนาการไปอย่างรวดเร็วจนทำให้ผู้ปกครองหลายคนตามไม่ทันจึงไม่สามารถควบคุมหรือดูแลการใช้ได้หมดอย่างเหมาะสม

จอช โกลิน ผู้บริหาร Fairplay ซึ่งเป็นกลุ่มการรณรงค์การใช้งานอุปกรณ์ดิจิทัลของเยาวชน ชี้ว่า “สิ่งที่ควรทำมากกว่าการพึ่งผู้ปกครองที่งานหนักอยู่แล้ว คือ การบังคับใช้ให้แพลตฟอร์มออนไลน์ออกแบบการใช้งานบริการให้มีความปลอดภัยขึ้น”

จอช โกลิน ตำหนิว่าเครื่องมือใหม่ของ Snapchat ไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาเรื่องการใช้งานที่ไม่เหมาะสมในหมู่วัยรุ่นหลายๆ ข้อ เช่น ฟีเจอร์​ Snapstreak ที่ชักชวนให้เด็กเสพติดแพลตฟอร์มอย่างงอมแงมด้วยการขึ้นจำนวนวันที่ผู้ใช้ถ่ายรูปหากันไปมา ซึ่งหลายคนมักจะใช้ทุกวันเพื่อให้ได้ยอดวันที่สูงขึ้นเรื่อย ๆ ซ้ำ Snapchat ยังส่งเสริมการกลั่นแกล้งทางออนไลน์ (cyberbullying) เพราะไม่ยอมจัดการฟีเจอร์ที่เป็นอัตลักษณ์แพลตฟอร์ม ซึ่งอนุญาตให้ข้อความหายไปทันทีเมื่อผู้ใช้อ่านเสร็จ

แต่ โนนา ฟาแรนนิก ยาเดกา ผู้บริหารของ Snapchat ที่ดูแลนโยบายการใช้และผลกระทบต่อสังคมย้ำว่า บริษัทของเธอมีมาตรการที่เข้มงวดหลายอย่างในการยับยั้งไม่ให้เด็กที่อายุต่ำกว่า 13 ปี หลอกว่า ตนเองอายุมากกว่านั้น เพราะหากผู้ใช้มีการละเมิดกฎเพราะอายุต่ำกว่ากำหนดจริง ทาง Snapchat จะโอกาสแก้ตัวหนึ่งครั้งในแก้อายุให้ถูกต้อง และหายังไม่ทำตามหรือทำผิดกฎต่อไป ก็จะลบบัญชีนั้น ๆ ทันที

แพลตฟอร์มสื่อโซเชียลต่าง ๆ ยังใช้ปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence – AI) เพื่อตรวจดูว่า ผู้ใช้งานโกงอายุหรือไม่ โดยดูจากเนื้อหาที่ผู้ใช้เข้าดูและกลุ่มเพื่อนที่ผู้ใช้ส่งข้อความถึง เพราะส่วนใหญ่แล้ว ผู้ใช้ที่มีอายุรุ่นเดียวกันมักจะส่งข้อความถึงกัน และหากผู้ปกครองท่านใดไม่สามารถเปิดระบบควบคุมโดยผู้ปกครอง (parental controls) ในบัญชีของลูก ๆ ได้ นั่นก็เป็นแปลว่า เด็กคนนั้นไม่ได้ระบุอายุที่แท้จริงของตนเอง

ทั้งนี้ ความปลอดภัยของเด็กและสุขภาพจิตของวัยรุ่นที่ใช้สื่อโซเชียลถือเป็นประเด็นสำคัญที่นักการเมืองทั้งจากพรรคเดโมแครตและรีพับลิกันให้ความสำคัญและพยายามวิจารณ์บริษัทเทคโนโลยีให้ทำการการควบคุมให้ดีกว่านี้มาตลอด โดยเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา อัยการหลายรัฐได้เปิดการสอบสวน TikTok เกี่ยวกับกรณีผลกระทบร้ายแรงที่มีต่อสุขภาพจิตของเยาวชนผู้ใช้งานแอปนี้แล้ว

รายงานของ Pew Research Center ที่เพิ่งเผยแพร่ออกมาเมื่อสัปดาห์ที่แล้วชี้ว่า สื่อโซเชียลที่ได้รับความนิยมมากที่สุดถึง 67% ในหมู่วัยรุ่นอเมริกัน คือ TikTok ซึ่งเป็นบริษัทของประเทศจีน โดยลำดับต่อมา คือ Instagram ที่คนนิยมราว 62% และ Snapchat ที่ 59% ส่วนแอปที่รั้งท้ายและได้รับความนิยมจากวัยรุ่นน้อยลงมาตั้งแต่ปี 2014 จนตอนนี้ได้เพียง 32% คือ Facebook

TikTok ชี้ว่า บริษัทได้เน้นการให้บริการเนื้อหาที่สอดคล้องกับอายุผู้ใช้ และระงับการใช้การฟังก์ชันบางอย่าง เช่น การส่งข้อความถึงบัญชีผู้ใช้ที่เป็นเยาวชน ขณะที่ การดูเวลาการใช้งานของเด็ก ๆ ช่วยให้ผู้ปกครองเห็นว่า ลูก ๆ ดูอะไรบ้างไปและใช้เวลานานแค่ไหน

อย่างไรก็ดี นักวิเคราะห์หลายคนยังมองว่ามาตรการข้างต้นนั้นหละหลวมอยู่ดี

และเมื่อฤดูใบไม้ร่วงที่ผ่านมา ฟรานเชส ฮอแกน อดีตพนักงาน Facebook ออกมาเปิดเผยต่อสาธารณะว่า ผลวิจัยภายในองค์กรชี้ว่า แพลตฟอร์มใช้อัลกอริทึมที่ส่งผลกระทบต่อปัญหาสุขภาพจิตและอารมณ์ในหมู่วัยรุ่นที่ใช้ Instagram โดยเฉพาะวัยรุ่นหญิง และการเปิดโปงข้างต้นทำให้ Meta ซึ่งเป็นเจ้าของ Instragram ยกเลิกการแผนการเปิดตัว Instragram เวอร์ชั่นสำหรับเด็กที่อายุต่ำกว่า 13 ปี และเปิดตัวระบบควบคุมโดยผู้ปกครองใหม่ควบคู่กับการแจ้งเตือนวัยรุ่นหากใช้แพลตฟอร์มนานเกินไปด้วย

  • ที่มา: เอพี
XS
SM
MD
LG