นักสิ่งแวดล้อมใช้โดรนช่วยระบุแหล่งมลพิษทางน้ำ

WATER-DAY/GLOBAL

นักสิ่งแวดล้อม เบรนท์ วอล์ส ซึ่งทำงานให้กับองค์กร Waterkeeper Alliance เครือข่ายที่ทำงานด้านน้ำสะอาดทั่วโลก ได้นำเทคโนโลยีโดรนมาใช้ในการต่อสู้กับมลภาวะ นอกจากนี้เขายังสอนบรรดานักเคลื่อนไหวทั่วสหรัฐฯ ในการขับโดรนอีกด้วย

โดรนช่วยให้นักสิ่งแวดล้อมค้นพบพื้นที่ที่เข้าถึงได้ยากหรือมีค่าใช้จ่ายสูงในการเดินทาง ซึ่งเครื่องบินไร้คนขับนี้มีประโยชน์อย่างยิ่งในการค้นหาพื้นที่ที่ปกคลุมด้วยมลพิษ นอกจากนี้ภาพถ่ายจากโดรนยังช่วยให้นักสิ่งแวดล้อมสามารถดำเนินการทางกฎหมายต่อบรรดาผู้ก่อมลพิษภายใต้กฎหมายด้านน้ำสะอาดหรือ Clean Water Act ของสหรัฐฯ

กฎหมายนี้มีจุดมุ่งหมายในการปกป้องแหล่งน้ำจากมลพิษหลายรูปแบบ และไม่ใช่แค่เจ้าหน้าที่ของรัฐบาลกลางเท่านั้นที่สามารถใช้กฎหมายนี้ได้ แต่บุคคลทั่วไปก็สามารถใช้กฎหมายนี้ได้ด้วยเช่นเดียวกัน

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าโดรนจะมีประโยชน์มากในการค้นหาพื้นที่ที่มีมลพิษ แต่ปัจจุบันยังไม่ค่อยมีการนำโดรนมาใช้ในลักษณะนี้กันมากนัก ดังนั้นวอลส์หวังว่าเขาจะสามารถเปลี่ยนแปลงเรื่องนี้ได้

การใช้โดรนในการเก็บรวบรวมหลักฐานนั้น บรรดานักสิ่งแวดล้อมจะต้องมีใบรับรองนักบินที่ออกโดยรัฐบาลกลาง และพวกเขาต้องเรียนรู้ที่จะทำงานภายใต้กฎหมายรัฐและกฎหมายท้องถิ่นด้วย

วอลส์ เป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มที่มีชื่อว่า “Riverkeepers” ซึ่งเป็นองค์กรไม่แสวงหาผลกำไรที่ดูแลและปกป้องระบบแม่น้ำทั่วสหรัฐฯ ตัวเขาเองเป็น Riverkeeper สำหรับแม่น้ำโปโตแมคตอนบนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของสหรัฐฯ

บรรดา Riverkeepers เคยใช้โดรนในการรวบรวมหลักฐานสำหรับคดีความต่าง ๆ มาแล้วในอดีต วอลส์กล่าวว่า ภาพถ่ายจากโดรนช่วยผลักดันองค์กรเหมืองถ่านหินในรัฐเวสต์เวอร์จิเนียให้ทำความสะอาดเหมืองของตน

คารา ชีดท์เน็ชต์ แห่งกลุ่ม Riverkeeper ผู้ที่เพิ่งจะจบหลักสูตรการฝึกอบรมและได้รับใบรับรองนักบินโดรน บอกกับเอพีว่า การใช้โดรนจะช่วยให้เธอได้มองเห็นพื้นที่ในลุ่มน้ำซึ่งยากต่อการเข้าถึงโดยเรือ นอกจากนี้ โดรนจะช่วยให้เธอได้บันทึกเหตุการณ์น้ำท่วมและค้นหาผู้ก่อมลพิษ และว่ามุมมองจากด้านบนนั้น เป็น "Game Changer" หรือผู้พลิกสภานการณ์ ซึ่งในอดีตจะต้องจ่ายเงินให้นักบินสำหรับเที่ยวบินที่มีคนขับเท่านั้น

ทั้งนี้ เทคโนโลยีโดรนได้รับการพัฒนาอย่างรวดเร็ว โดยโดรนรุ่นใหม่จะบินได้ง่ายกว่าและถ่ายภาพได้ดีกว่าเมื่อเทียบกับรุ่นเก่า

ในปี 2019 วอลส์ได้นำภาพถ่ายจากโดรนและหลักฐานอื่น ๆ มอบให้แก่บริษัทเหมือง Specialty Granules ทำให้บริษัทนี้ตกลงที่จะวางระบบกรองน้ำไว้ในระบบน้ำของบริษัทที่ได้รับการลดระดับมลพิษแล้ว

แมธธิว แมคคลัว รองประธานฝ่ายปฏิบัติการที่ Specialty Granules กล่าวว่า ทางบริษัทใช้โดรนของตัวเองในการดำเนินธุรกิจ และว่าโดยทั่วไปแล้วบริษัทจะไม่ยินยอมให้มีการตรวจสอบจากโดรนที่ขับโดยนักสิ่งแวดล้อม โดยที่ไม่มีการแจ้งให้ทราบล่วงหน้า

มาร์ทิน ไลฟ์ลีย์ แห่ง Riverkeeper สำหรับแม่น้ำแกรนด์ที่อยู่ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของรัฐโอกลาโฮมา ซึ่งเป็นที่ตั้งของเหมืองเก่าที่มีรายชื่ออยู่ในกองทุน Superfund ของสหรัฐฯ กล่าวว่า แม่น้ำแกรนด์ปนเปื้อนไปด้วยมลพิษมากมาย ไม่ว่าจะเป็นตะกั่ว สังกะสี สารหนู แคดเมียม แมงกานีส ทำให้ต้องมีการทดสอบน้ำในแม่น้ำนี้บ่อยครั้ง แต่โดรนก็สามารถก้าวไปอีกขั้นได้ โดยสามารถช่วยในการสอดส่อง เช่น ตรวจสอบว่าแม่น้ำที่สะอาดแล้วอาจมีมลพิษซ้ำในช่วงน้ำท่วมหรือไม่

นอกจากนี้ โดรนยังเป็นเครื่องมือเล่าเรื่องที่สามารถถ่ายภาพที่จะเป็นประโยชน์ได้ และยังเป็นเครื่องมือที่ไม่ควรมองข้ามในการดำเนินคดีต่าง ๆ อีกด้วย

  • ที่มา: เอพี