เมื่อสี่ปีที่แล้ว อินเดียต้อนรับผู้นำชาติสมาชิกอาเซียนในพิธีเดินสวนสนามเนื่องในวันชาติ ซึ่งเป็นการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ของอินเดียถึงความสัมพันธ์ของตนกับชาติสสมาชิกอาเซียนทั้งสิบประเทศ
ความพยายามของอินเดียในการกระชับความสัมพันธ์กับอาเซียนเร่งเครื่องยิ่งขึ้นกว่าเดิม ขณะที่ อินเดียและประเทศอื่น ๆ เช่น สหรัฐฯ พยายามคานอิทธิพลของจีนในภูมิภาคอินโดแปซิฟิก
อินเดียเป็นเจ้าภาพการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนเป็นเวลาสองวัน โดยจะเริ่มในวันพฤหัสบดีนี้ เนื่องในวาระครบรอบ 30 ปี ความสัมพันธ์อินเดีย-อาเซียน และจะมีการหารือถึงการยกระดับความร่วมมือในปี 2022 ซึ่งเป็นปีมิตรภาพระหว่างอินเดียและอาเซียนด้วย
อรินดัม บักชิ โฆษกกระทรวงการต่างประเทศอินเดีย กล่าวว่า ความเป็นหุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์ระหว่างอาเซียนและอินเดียมีรากฐานที่มั่นคง โดยอาเซียนเป็นศูนย์กลางของนโยบายปฏิบัติการตะวันออกของอินเดียและวิสัยทัศน์ของอินเดียต่อภูมิภาคอินโดแปซิฟิก
แม้รัฐมนตรีต่างประเทศของอาเซียนและอินเดียจะประชุมกันทุกปีอยู่แล้ว แต่การประชุมที่กรุงนิวเดลีครั้งนี้ถือเป็นการประชุมพิเศษ โดยจัดขึ้นสามสัปดาห์หลังการประชุมสุดยอดของกลุ่มภาคีควอด (Quad) ในกรุงโตเกียว ซึ่งกลุ่มดังกล่าวเป็นเครือข่ายพันธมิตรระหว่างสหรัฐฯ อินเดีย ญี่ปุ่น และออสเตรเลีย
ในการประชุมของควอดครั้งนี้ ประธานาธิบดีโจ ไบเดน เปิดตัวกรอบเศรษฐกิจอินโดแปซิฟิก (Indo-Pacific Economic Framework หรือ IPEF) เพื่อเพิ่มกิจกรรมทางเศรษฐกิจกับภูมิภาคเอเชีย โดยสนธิสัญญาฉบับนี้ถูกลงนามโดยประเทศกลุ่มควอดและชาติอาเซียนเจ็ดประเทศ ได้แก่ บรูไน สิงคโปร์ อินโดนีเซีย ไทย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และเวียดนาม
มาโนจ โจชิ นักวิจัยของมูลนิธิ Observer Research Foundation ในกรุงนิวเดลี กล่าวว่า ประเทศมหาอำนาจต่างต้องการดึงดูดความสนใจของอาเซียน เนื่องจากอาเซียนมีความเป็นศูนย์กลางในภูมิภาคอินโดแปซิฟิก และเป็นกลุ่มประเทศที่มีความสำคัญในการออกนโยบายขับเคลื่อนภูมิภาคดังกล่าว
อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์ระบุว่า ขณะที่จีนเป็นหุ้นส่วนการค้าที่ใหญ่ที่สุดของอาเซียนนับตั้งแต่ปี 2009 แต่อาเซียนก็ถ่วงดุลความสัมพันธ์กับทั้งสองฝั่ง
เว็บไซต์ข่าวของจีน Global Times รายงานว่า มูลค่าการค้าระหว่างอาเซียนและจีนอยู่ที่ 878,000 ล้านดอลลาร์เมื่อปีที่แล้ว โดยจีนเป็นตลาดส่งออกใหญ่ของอาเซียน อย่างไรก็ตาม ประเทศอาเซียนบางส่วนก็มีความขัดแย้งในพื้นที่ทางทะเลกับจีน โดยจีนสร้างเกาะเทียมในน่านน้ำที่ประเทศในเอเชียตะวันออกหลายประเทศอ้างสิทธิ์
โจชิระบุว่า ชาติอาเซียนเน้นดำเนินนโยบายในทางปฏิบัติ โดยพยายามหาประโยชน์จากการสร้างความสัมพันธ์กับทั้งสองฝั่ง โดยชาติเหล่านี้ต่างต้องการการถ่วงดุลทางยุทธศาสตร์ในภูมิภาคอินโดแปซิฟิกขณะที่จีนขยายอิทธิพลมากขึ้น
อย่างไรก็ตาม บรรดานักวิเคราะห์ก็ระบุว่า อินเดียจะต้องเพิ่มนโยบายเศรษฐกิจกับชาติอาเซียนเพื่อเพิ่มอิทธิพลในภูมิภาคดังกล่าว ซึ่งในประเด็นนี้ อินเดียถือไพ่รอง เนื่องจากอินเดียไม่ได้เข้าร่วมความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (Regional Comprehensive Economic Pact หรือ RCEP) ซึ่งเป็นความตกลงทางการค้าที่ใหญ่ที่สุดในโลก และมีผลในทางปฏิบัติเมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา โดยชาติที่ลงนามในความตกลงนี้ ได้แก่ ประเทศสมาชิกอาเซียน จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์
อินเดียถอนตัวจากความตกลง RCEP เนื่องจากกังวลว่า การนำเข้าสินค้าที่มีราคาถูกลง โดยเฉพาะจากจีน จะส่งผลกระทบถึงอุตสาหกรรมท้องถิ่น
บิสวาจิต ธาร์ ศาสตราจารย์ของศูนย์ Centre for Economic Studies and Planning ของมหาวิทยาลัยยาวาฮาร์ลาล เนห์รู ระบุว่า อินเดียยังไม่สามารถเพิ่มการส่งออกไปยังภูมิภาคอาเซียนได้ เนื่องจากอุตสหากรรมการผลิตของอินเดียยังไม่มีประสิทธิภาพในการแข่งขันมากเพียงพอ แม้ตลาดของอาเซียนจะเปิดรับก็ตาม แต่อินเดียก็ต้องมีศักยภาพในการเข้าถึงตลาดเหล่านั้นด้วย
แม้จะไม่มีการยืนยันอย่างเป็นทางการ แต่รัฐมนตรีต่างประเทศของเมียนมาอาจไม่เข้าร่วมในการประชุมสุดยอดที่อินเดียเป็นเจ้าภาพครั้งนี้ โดยนับตั้งแต่มีการรัฐประหารในเมียนมาเมื่อปีที่แล้ว อาเซียนอนุญาตให้ตัวแทนที่ไม่ใช่จากฝ่ายการเมืองของเมียนมาเข้าร่วมการประชุมระดับสูงได้เท่านั้น โดยอาเซียนผลักดันให้มีการฟื้นฟูประชาธิปไตยและการยุติกวาดล้างนักการเมืองและนักเคลื่อนไหวในเมียนมา
- ที่มา: วีโอเอ