ธนาคารโลก (World Bank) หั่นคาดการณ์เศรษฐกิจโลกในปีนี้โตเพียง 2.9% พร้อมแสดงความกังวลว่าโลกกำลังเข้าสู่ภาวะ “Stagflation” หรือ ช่วงเวลาที่เศรษฐกิจซบเซาท่ามกลางภาวะเงินเฟ้อพุ่งสูง เหมือนที่เคยเกิดขึ้นในช่วงคริสต์ทศวรรษที่ 1970 ตามรายงานของเอพีและรอยเตอร์
ธนาคารโลก เปิดเผยรายงานทิศทางเศรษฐกิจโลกล่าสุดในวันอังคาร ระบุว่า มีแนวโน้มที่หลายประเทศทั่วโลกกำลังเข้าสู่ภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจ อันเนื่องมาจากภาวะการระบาดของโควิด-19 รวมทั้งผลกระทบจากการบุกยูเครนของรัสเซีย
รายงานของเอพี ระบุว่า ธนาคารโลก ปรับลดประมาณการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจโลกในปีนี้ มาอยู่ที่ระดับ 2.9% ต่ำกว่าระดับคาดการณ์เมื่อเดือนมกราคม ที่คาดว่าจะเติบโต 4.1% พร้อมกันนี้ ยังคาดว่าเศรษฐกิจโลกจะเติบโตได้ที่ระดับ 3% ในปีหน้า และในปี ค.ศ. 2024 ที่ระดับเงินเฟ้อสูงในหลายประเทศทั่วโลก
สำหรับเศรษฐกิจสหรัฐฯ ทางธนาคารโลก คาดว่าจะเติบโตได้เพียง 2.5% ปีนี้ ลดลงจากระดับ 5.7% เมื่อปีก่อน ส่วนเศรษฐกิจในกลุ่มประเทศที่ใช้สกุลเงินยูโร หรือ ซูโรโซน คาดว่า จะเติบโตที่ 2.5% ในปีนี้ เทียบกับระดับการเติบโตที่ 5.4% ในปีก่อน ขณะที่เศรษฐกิจจีนจะโตได้ 4.3% ในปีนี้ ลดลงจากระดับ 8.1% เมื่อปีที่แล้ว เนื่องการมาตรการล็อคดาวน์อย่างเข้มงวดตามนโยบายโควิดเป็นศูนย์ของทางการจีน ที่กดดันเศรษฐกิจในประเทศในชะลอตัว ด้านเศรษฐกิจในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาและเศรษฐกิจเกิดใหม่ คาดว่าจะเติบโตที่ระดับ 3.4% ลดลงจากระดับ 6.6% เมื่อปีก่อน
ประธานธนาคารโลก เดวิด มัลพาส ระบุในรายงานฉบับนี้ด้วยว่า ณ วันนี้มีความเสี่ยงจากภาวะ stagflation มากขึ้น จากการเติบโตทางเศรษฐกิจที่อ่อนแอจะยังคงดำเนินต่อไปในช่วงทศวรรษนี้ เนื่องจากการลงทุนที่อ่อนแอในหลายพื้นที่ทั่วโลก เมื่อรวมกับภาวะเงินเฟ้อในปัจจุบันที่พุ่งสูงเป็นประวัติการณ์ในรอบหลายทศวรรษ และปัญหาห่วงโซ่อุปทานที่ชะงักงัน สะท้อนว่ายังคงมีความเสี่ยงที่ภาวะเงินเฟ้อจะยังคงอยู่ในระดับสูงไปอีกนาน
- มีเนื้อหาบางส่วนจากเอพีและรอยเตอร์