จับตาแผนยุทธศาสตร์แปซิฟิกของจีน ตัวเปลี่ยนเกมศึกชิงอำนาจในเอเชีย?

In this photo released by Xinhua News Agency, Solomon Islands Prime Minister Manasseh Sogavare locks arms with visiting Chinese Foreign Minister Wang Yi in Honiara, Solomon Islands, May 26, 2022.

เมื่อเดือนเมษายน จีนลงนามในสนธิสัญญาด้านความมั่นคงกับประเทศหมู่เกาะโซโลมอน ทำให้สหรัฐฯ และชาติพันธมิตรเกิดความกังวลว่าจีนอาจกำลังพยายามสร้างฐานที่มั่นทางทหารในแแปซิฟิกใต้ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่อยู่ในการดูแลของกองทัพเรือสหรัฐฯ มานาน

อย่างไรก็ตาม จีนได้เดินหมากทางทหารในแถบเอเชีย-แปซิฟิกอีกในสัปดาห์นี้ ด้วยการเสนอให้ 10 ประเทศขนาดเล็กในเเถบมหาสุมทรแปซิฟิก ยอมรับร่างความตกลงที่ครอบคลุมหลายประเด็น ตั้งเเต่การประมง ระบบโทรคมนาคมและการค้า การตั้งสถาบันขงจื้อ และการอบรมด้านความมั่นคง และยังต้องการทำความตกลงด้านการค้าเสรีกับประเทศเหล่านี้

สำนักข่าวเอพีรายงานด้วยว่า จีนต้องการฝึกฝนเจ้าหน้าที่ตำรวจประจำภาคพื้นแปซิฟิก ซึ่งทำหน้าที่ควบคุมดูแลในด้านความมั่นคง และขยายความร่วมมือด้านการรักษากฎหมายด้วย

สำนักข่าวเอพี ระบุว่า 10 ประเทศดังกล่าว ได้เเก่ ประเทศหมู่เกาะโซโลมอน คิริบาส ซามัว ฟิจิ ตองกา วานูอาตู และปาปัวนิวกินี รวมไปถึงหมู่เกาะคุกส์ นีอูเอ และสหพันธรัฐไมโครนีเซีย ซึ่งหากประเทศเหล่านี้ยอมรับข้อเสนอบางส่วนจากจีน อาจทำให้จีนสามารถแผ่ขยายอำนาจในแถบแปซิฟิกไปไกลถึงบริเวณใกล้ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ รัฐฮาวาย ไปจนถึงเกาะกวมซึ่งมีฐานทัพของสหรัฐฯ ตั้งอยู่

จีนเน้นย้ำว่า ข้อเสนอดังกล่าวมีเป้าหมายที่การสร้างเสถียรภาพและการกระตุ้นเศรษฐกิจในภูมิภาคนี้ แต่ผู้เชี่ยวชาญและรัฐบาลหลายประเทศหวั่นเกรงว่าจีนอาจมีแผนซุกซ่อนอยู่ใต้สิ่งที่แถลงออกมา นั่นคือการขยายอิทธิพลในพื้นที่สำคัญทางยุทธศาสตร์

SEE ALSO: จีนเดินหมากขยายความร่วมมือ 10 ประเทศขนาดเล็กแถบแปซิฟิก

ความสำคัญในเชิงยุทธศาสตร์

ประธานาธิบดีเดวิด ปานูเอโล แห่งไมโครนีเซีย ซึ่งเป็นประเทศที่มีความใกล้ชิดกับสหรัฐฯ แสดงท่าทีไม่ยอมรับข้อตกลงดังกล่าว โดยเเสดงความกังวลต่ออิทธิพลของจีนที่อาจมีมากเกินไปในภูมิภาค พร้อมเตือนว่า "จีนกำลังก่อภัยคุกคามในภูมิภาคนี้ ซึ่งหากมองในแง่ดีก็คือ อาจเกิดสงครามเย็นยุคใหม่ แต่หากมองแง่ร้ายก็คือ การเกิดสงครามโลก"

ประธานาธิบดีปานูเอโล ระบุในจดหมายที่สำนักข่าวเอพีนำมาเผยแพร่ว่า "กรณีนี้อาจเป็นการเพิ่มความเสี่ยงที่จะเกิดความขัดแย้งระหว่างจีนกับออสเตรเลีย ญี่ปุ่น สหรัฐฯ และนิวซีแลนด์ หากจีนตัดสินใจส่งทหารบุกไต้หวัน"

แม้ประเทศหมู่เกาะเล็ก ๆ ในมหาสมุทรแปซิฟิกเหล่านี้ต่างอยู่ไกลจากไต้หวันหลายพันกิโลเมตร แต่ก็ถือว่ามีความสำคัญกับจีนในเชิงยุทธศาสตร์ หากจีนคิดจะบุกโจมตีไต้หวันจริง ๆ เพราะต่างตั้งอยู่ในพื้นที่มหาสมุทรกว้างใหญ่ระหว่างอเมริกากับเอเชีย นอกจากนี้ยังเคยเป็นส่วนหนึ่งในการสู้รบระหว่างสหรัฐฯ กับญี่ปุ่นในช่วงสงครามโลกครั้งที่สองด้วย

ยวน แกรม นักวิชาการอาวุโสแห่ง International Institute for Strategic Studies ในสิงคโปร์ ชี้ว่า ในมุมมองด้านการทหาร หากจีนสามารถส่งกองเรือไปประจำการตามหมู่เกาะเหล่านั้นได้ จะช่วยเพิ่มศักยภาพของกองทัพเรือจีนในการชะลอปฏิบัติการทางทะเลของสหรัฐฯ รวมทั้งตัดการขนส่งเสบียงต่าง ๆ ในกรณีที่เกิดสงครามขึ้นจริง

นักวิชาการผู้นี้กล่าวว่า หากลากเส้นเชื่อมต่อระหว่างประเทศหมู่เกาะเล็ก ๆ กลางมหาสมุทรแปซิฟิกเหล่านี้ ตั้งแต่ออสเตรเลียมาถึงสหรัฐฯ และจากออสเตรเลียไปถึงญี่ปุ่น อาจจะพอมองเห็นได้ว่าจีนกำลังต้องการทำอะไร

FILE - Chinese Premier Li Keqiang, left, and Solomon Islands Prime Minister Manasseh Sogavare review an honor guard during a welcome ceremony at the Great Hall of the People in Beijing, on Oct. 9, 2019.

การทูตระดับสูงของจีน

ทั้งนี้ รัฐมนตรีต่างประเทศของจีน หวัง อี้ เริ่มกำหนดการเยือนประเทศหมู่เกาะ 7 ประเทศเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว โดยหวังว่าประเทศเหล่านั้นจะยอมรับข้อเสนอด้านความมั่นคงของจีนระหว่างการประชุมในวันที่ 30 พฤษภาคมที่ประเทศฟิจิ

นักวิชาการ ยวน แกรม เชื่อว่า การเยือนต่างประเทศของรมต.หวัง อี้ ครั้งนี้ มีขึ้นหลังจากที่ออสตรเลียเพิ่งมีนายกรัฐมนตรีคนใหม่ แอนโธนี อัลบานีส ซึ่งจีนต้องการเดินหน้าในเรื่องนี้ก่อนที่รัฐบาลชุดใหม่ของออสเตรเลียจะตั้งตัวทัน และว่า "นี่คือการดำเนินการทางการทูตแบบเปิดเผยในระดับสูงของจีนแบบที่ไม่เคยเห็นมาก่อน โดยมีเป้าหมายเคาะประตูบ้านเพื่อนำข้อเสนอไปยื่นให้ประเทศเหล่านั้น" ซึ่งแตกต่างจากการเคลื่อนไหวในหลังฉากเหมือนที่เป็นมา

อย่างไรก็ตาม นายกฯ อัลบานีส ซึ่งเพิ่งร่วมประชุมกับผู้นำกลุ่มจตุภาคี Quad ที่กรุงโตเกียว ร่วมกับประธานาธิบดีโจ ไบเดน เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว กล่าวกับสื่อของออสเตรเลียว่า "เราจำเป็นต้องตอบโต้ต่อท่าทีล่าสุดของจีนซึ่งชี้ให้เห็นว่า จีนกำลังขยายอิทธิพลในภูมิภาคนี้ที่ซึ่งออสเตรเลียมีพันธกิจในการร่วมรักษาความมั่นคงมาตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่สอง"

นายกฯ อัลบานีส กล่าวว่า ออสเตรเลียเดินหมากพลาดหลังจากปล่อยให้ความสัมพันธ์กับประเทศหมู่เกาะในแปซิฟิกเหล่านี้เสื่อมถอยลงในสมัยนายกรัฐมนตรีสก็อตต์ มอร์ริสัน สืบเนื่องจากจุดยืนของผู้นำออสเตรเลียคนก่อนในเรื่องการสนับสนุนอุตสาหกรรมถ่านหิน ในขณะที่ประเทศหมู่เกาะเหล่านั้นต่างเชื่อว่าภาวะโลกร้อนคือภัยคุกคามอันดับหนึ่งต่อการดำรงอยู่ของประเทศตน

SEE ALSO: วิเคราะห์สัญญาณจากไบเดนสู่จีนระหว่างเยือนเอเชีย – ความริเริ่มที่ยังขาดรายละเอียด

รมต.หวัง เยือนประเทศสาธารณรัฐคิริบาสเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา ท่ามกลางความกังวลว่าจีนอาจเสนอส่งฝูงเรือประมงพาณิชย์ขนาดใหญ่ไปยังคิริบาสเพื่อทำการประมงในพื้นที่ที่มีความเปราะบางด้านสิ่งแวดล้อม และอาจใช้กองเรือดังกล่าวเพื่อประโยชน์ในการสอดแนมและความมั่นคงด้วย อ้างอิงจากความเห็นของ แอนนา พาวล์ส นักวิชาการที่มหาวิทยาลัย Massey ในนิวซีแลนด์

นักวิชาการผู้นี้ชี้ว่า จดหมายของประธานาธิบดีเดวิด ปานูเอโล แห่งไมโครนีเซีย ที่ปฏิเสธข้อเสนอของจีน แสดงให้เห็นถึงความกังวลร่วมกันของบรรดาประเทศหมู่เกาะต่อข้อเสนอดังกล่าว ซึ่งรวมถึงการประมงและความมั่นคง

อย่างไรก็ตาม ในจำนวนนี้มีอย่างน้อย 3 ประเทศ คือ หมู่เกาะโซโลมอน คิริบาสและวานูอาตู ที่มีท่าทียอมรับจีนมากขึ้น ซึ่งเกี่ยวกับเรื่องนี้ ยวน แกรม แห่ง International Institute for Strategic Studies ในสิงคโปร์ ชี้ว่า หากจีนสามารถทำข้อตกลงกับ 3 ประเทศนี้ได้ ก็อาจนำไปสู่การเปลี่ยนมุมมองทางภูมิยุทธศาสตร์ในภูมิภาคนี้ และจะทำให้ออสเตรเลียต้องปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ด้านการป้องกันประเทศในอนาคตด้วย

นักวิชาการผู้นี้เชื่อว่า สำหรับประเทศหมู่เกาะเหล่านั้น มิได้หมายความว่าพวกเขาจำเป็นต้องเลือกระหว่างจีนกับชาติตะวันตก แต่หากมีเพียงบางประเทศที่ตัดสินใจลงนามกับจีนจริง ๆ ก็เพียงพอที่จะส่งผลกระทบมหาศาลต่อภูมิรัฐศาสตร์ในแถบเอเชีย-แปซิฟิก ได้เช่นกัน

  • ที่มา: เอพี และวีโอเอ