วิเคราะห์: สหรัฐฯและอาเซียนจะใช้เวที U.S.-ASEAN Summit อย่างไรได้บ้างเพื่อคานอิทธิพลทางเศรษฐกิจจีน

Police patrol outside the Morodok Techo National Stadium, funded by China's grant aid under its Belt and Road Initiative, during the stadium's handover ceremony in Phnom Penh on Sept12, 2021.

นักวิเคราะห์มองว่า การประชุมสุดยอดผู้นำสหรัฐฯและชาติสมาชิกอาเซียนในสัปดาห์นี้ที่กรุงวอชิงตันจะเปิดทางให้ประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เพิ่มแรงกดดันต่อสหรัฐฯ ในการคานอิทธิพลทางเศรษฐกิจของจีน

การประเมินดังกล่าวเกิดขึ้น ขณะที่หลายประเทศในภูมิภาคต้องการลดการพี่งพาทางการค้าและทางลงทุนจากจีนที่มากเกินไป

แอรอน ราบีน่า นักวิจัยแห่งมูลนิธิ Asia Pacific Pathways to Progress Foundation ที่กรุงมะนิลาของฟิลิปปินส์ กล่าวว่า ที่ผ่านมาสหรัฐฯ และอาเซียนมีการเน้นย้ำถึงมิติด้านการเมืองและความมั่นคง แต่ยังตามหลังจีนในเรื่องความคิดริเริ่มทางเศรษฐกิจ

เจ้าหน้าที่ชั้นผู้ใหญ่ของสหรัฐฯที่จะพบกับผู้นำอาเซียนมีใครบ้าง?

ประธานาธิบดีโจ ไบเดน จะพบกับผู้นำอาเซียนในวันศุกร์เพื่อ “แสดงให้เห็นว่าอาเซียนมีบทบาทหลักในการหาทางออกที่ยั่งยืนต่อสิ่งท้าทายที่เร่งด่วนที่สุดหลายประเด็นในภูมิภาค” ตามถ้อยแถลงของโฆษกทำเนียบขาวเจน ซากิ เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว

ผู้สื่อข่าววีโอเอรายงานว่า ตามกำหนดการ ณ ขณะนี้ ของการประชุมสุดยอดที่จะเกิดขึ้นในวันพฤหัสบดีและวันศุกร์ ผู้แทนการค้าสหรัฐฯ แคเธอริน ไท และรัฐมนตรีพาณิชย์อเมริกัน จีน่า ไรมอนโด อยู่ในบรรดาตัวแทนระดับสูงของสหรัฐฯ ที่จะพบกับผู้นำอาเซียนเช่นกัน

เจ้าหน้าที่เหล่านี้จะมีส่วนในการเจรจาประเด็นเรื่องการค้าและการแข่งขันทางเศรษฐกิจกับประเทศอาเซียน

ตัวอย่างอิทธิพลทางการค้าของจีนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีอย่างชัดแจ้งในช่วงหลายปีที่ผ่านมา

จีนคือประเทศคู่ค้าที่ใหญ่ที่สุดของอาเซียนมาตั้งแต่ค.ศ. 2008 และมูลค่าการค้าระหว่างจีนและอาเซียน ในปี ค.ศ. 2020 สูงถึง 731,900 ล้านดอลลาร์ ตามข้อมูลของสื่อ Global Times ของทางการจีน

ตัวเลขดังกล่าวแซงหน้า 362,200 ล้านดอลลาร์ ของการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับอาเซียนมากกว่าสองเท่า

อย่างไรก็ตาม หากเป็นเรื่องการลงทุนจากภาคเอกชน สหรัฐฯ เป็นต่อจีน โดยการลงทุนโดยตรงของนักลงทุนอเมริกันในอาเซียนสูงถึง 34,700 ล้านดอลลาร์ เทียบกับ 12,000 ล้านดอลลาร์ ของนักลงทุนจีน

FILE - Workers stand near flags of countries participating in the Belt and Road Forum at one of the venues of the forum in Beijing, April 27, 2019.

แต่จีนก็ลงทุนผ่านโครงการ Chinese Belt and Road Initiative อีกช่องทางหนึ่ง

ที่น่าสนใจคือจีนมีโครงการ Belt and Road Initiative หรือ “หนึ่งแถบ หนึ่งถนน” มูลค่ากว่า 4 ล้านล้านดอลลาร์ ซึ่งมีประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หลายแห่งได้รับประโยชน์ เช่น กัมพูชาและมาเลเซีย โดยจีนสร้างยุทธศาสตร์ 9 ปี ภายใต้โครงการนี้ในการก่อสร้างสาธารณูปโภคพื้นฐานพาดผ่านเอเชียและยุโรปเพื่อเปิดประตูการค้า

ขณะเดียวกัน สหรัฐฯ ไม่มีโครงการที่เทียบได้กับ Belt and Road Initiative ของจีน แต่มี โครงการเมื่อสองปีก่อนเรื่องการแก้ปัญหาความแห้งแล้งและการระบาดของโคโรนาไวรัส ใน 5 ประเทศลุ่มแม่น้ำโขง

ชาห์ริมาน ล็อคแมน นักวิเคราะห์แห่ง Institute of Strategic and International Studies ที่มาเลเซียอธิบายว่า การที่จีนสามารถดำเนินการโครงการ “หนึ่งแถบ หนึ่งถนน” ได้อย่างชัดเจนก็เพราะเป็นการผลักดันของรัฐบาลปักกิ่ง

เขากล่าวว่า รัฐบาลจีนมีเครื่องมือทุกอย่างในการสนับสนุน Belt and Road Initiative

ประเทศอาเซียนมาประชุมด้วยความหวังอย่างไรบ้างเกี่ยวกับความสัมพันธ์สหรัฐฯและจีน?

เจยันต์ มีน่อน นักวิจัยอาวุโสแห่ง โครงการศึกษาเศรษฐกิจส่วนภูมิภาคแห่งสถาบัน ISEAS-Yusof Ishak Institute ที่สิงคโปร์ กล่าวว่า ประเทศอาเซียนอยากให้สหรัฐฯ พยายามมากขึ้นในการยุติสงครามการค้ากับจีน ซึ่งกินเวลามานาน 4 ปีแล้ว

เขากล่าวว่า “ผู้นำอาเซียนอาจจะต้องการความมั่นใจว่าจะมีการหาทางออกให้กับสงครามการค้าในภายภาคหน้า”

ในเรื่องนี้ ลิ่ว เผิงหยู โฆษกประจำสถานทูตจีนประจำกรุงวอชิงตัน เร่งเร้าให้สหรัฐฯ แข็งขันมากขึ้น โดยกล่าวว่า “จีนหวังให้อเมริกาเลิกความคิดแบบสงครามเย็น เมื่อมีส่วนในความร่วมมือกับประเทศในเอเชียตะวันออก” เพื่อให้เกิดสันติภาพ การพัฒนาและความเจริญรุ่งเรืองในภูมิภาคนี้

U.S. President Joe Biden participates virtually with the ASEAN summit from an auditorium at the White House in Washington, U.S. October 26, 2021.

คาดกันว่าจะเกิดการบรรลุข้อตกลงกันด้านใดบ้างจากการประชุมครั้งนี้?

แอรอน ราบีน่า นักวิจัยแห่งมูลนิธิ Asia Pacific Pathways to Progress Foundation กล่าวว่า แม้การประชุมสุดยอดในสัปดาห์นี้ไม่น่าจะทำให้เกิดข้อตกลงทางเศรษฐกิจอย่างเป็นทางการ แต่ให้จับตาดูภาษาที่ใช้ในแถลงการณ์ร่วมระหว่างสหรัฐฯและอาเซียน

เขากล่าวว่า แถลงการณ์ร่วมอาจบ่งบอกถึงก้าวต่อ ๆ ไปของความร่วมมือระหว่างอาเซียนและสหรัฐฯ

เจยันต์ มีน่อน กล่าวว่า แถลงการณ์ร่วมอาจแตะเรื่องความร่วมมือเพื่อป้องกันวิกฤตด้านสาธารณสุข และความร่วมมือเรื่องสิ่งแวดล้อมและเศรษฐกิจจากพลังงานสะอาด

  • ที่มา: วีโอเอ