เป็นเวลาเกือบ 5 ปีแล้วที่สหรัฐฯ ต้อนรับและจัดการประชุมสุดยอดผู้นำสหรัฐฯ-อาเซียน นับตั้งแต่เมื่อกรุงวอชิงตันเป็นเจ้าภาพการหารือที่เมืองซันนีย์แลนด์ รัฐแคลิฟอร์เนีย เมื่อปี 2016 และในช่วงที่ผ่านมา เกิดเหตุการณ์สำคัญต่าง ๆ เกิดขึ้นมากมายทั้งในระดับภูมิภาคและทั่วโลก นับตั้งแต่การทำรัฐประหาร ไปจนถึงภัยพิบัติทางธรรมชาติ การระบาดของโควิด-19 และ ปัญหาการขาดแคลนอาหารและพลังงานดังเช่นในปัจจุบัน อันมีสาเหตุมาจากสงครามในยูเครนและการล็อกดาวน์ของท่าเรือต่าง ๆ ในประเทศจีน
มาร์ค มีลีย์ จากสภาธุรกิจสหรัฐฯ-อาเซียน (U.S. ASEAN Business Council – USABC) กล่าวว่า สำหรับผู้ที่คุ้นเคยกับนโยบายต่าง ๆ ของรัฐบาลในเอเชียแล้ว คงเข้าใจดีว่า การค้ามักถูกมองว่า เป็นกลยุทธ์อย่างหนึ่ง และประวัติศาสตร์ที่ผ่านก็ทำให้เราเรียนรู้ได้ว่า ขณะที่ สหรัฐฯ ประสบความสำเร็จอย่างมากในประเด็นกลยุทธ์ด้านความมั่นคง กลยุทธ์ด้านเศรษฐกิจนั้น ยังคงเป็นความท้าทายไม่น้อยสำหรับสหรัฐฯ
และแม้สมาชิก 6 ชาติอาเซียนที่จะเข้าร่วมประชุมในครั้งนี้ถือเป็นประเทศคู่ค้าหลักของสหรัฐฯ แต่ผู้เชี่ยวชาญหลายคนคาดการณ์ว่า กรุงวอชิงตันไม่น่าจะประกาศความคิดริเริ่มทางการค้าที่มีความสำคัญใด ๆ ในระหว่างการพบปะหารือในสัปดาห์นี้
แต่หากไม่มีการทำข้อตกลงใหม่ ๆ ที่มีนัยสำคัญในครั้งนี้ คำถามที่หลายคนสงสัยก็คือ อาเซียนจะได้อะไรจากการมาร่วมประชุมกับสหรัฐฯ กันแน่
ผู้สังเกตการณ์ให้ความเห็นว่า รัฐบาลของบรรดาประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้น่าจะต้องการคำมั่นจากสหรัฐฯ ว่า การที่กรุงวอชิงตันให้การสนับสนุนด้านการทหารแก่องค์การนาโต้และยูเครนเพื่อรับมือกับการรุกรานของรัสเซียนั้นจะไม่ส่งผลกระทบต่อความพยายามผลักดันความร่วมมือภายใต้แนวคิดอินโด-แปซิฟิก ที่สหรัฐฯ เป็นผู้ริเริ่มไว้
เกร็ก โพลิ่ง ผู้เชี่ยวชาญด้านเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และความโปร่งใส แห่งสถาบัน CSIS กล่าวว่า ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มักมีปัญหาสุดคลาสิคแบบ goldilocks ซึ่งหมายถึง สถานการ์ที่ชี้ว่า สิ่งที่สหรัฐฯ กระทำและมีผลต่อภูมิภาคนี้ไม่เคยพอดี คือ บางทีก็มากไป และบางทีก็น้อยไป และนี่จึงเป็นประเด็นที่อาเซียนต้องการให้สหรัฐฯ แก้ไขเสีย โดยตราบใดที่ปัญหานี้ยังดำเนินอยู่ รัฐบาลต่าง ๆ ก็จะยังคงประสบกับภาวะวิตกต่อไปไม่รู้จบ
นอกจากนั้น ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่า กรุงวอชิงตันเองต้องส่งสารอันชัดเจนเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างตนและจีนให้ทุกฝ่ายทราบ โดยเฉพาะเรื่องของเสรีภาพในการเดินเรือในทะเลจีนใต้
เกร็ก โพลิ่ง ชี้ว่า สหรัฐฯ ควรจะออกมาประณามจีนให้หนักขึ้น บนเวทีการประชุมสุดยอดทุกเวที ดังเช่นที่จะมีกับอาเซียน มิฉะนั้น บางประเทศอาจมองว่า สหรัฐฯ ไม่กล้าจริงก็เป็นได้
ประเด็นดังกล่าว เป็นสิ่งที่ มาร์ค มีลีย์ จากสภาธุรกิจสหรัฐฯ-อาเซียน เห็นด้วยอย่างยิ่ง
มีลีย์ กล่าวเสริมว่า การแสดงจุดยืนของสหรัฐฯ เกี่ยวกับจีนนั้นมีความสำคัญต่อชาติอาเชียนอย่างแน่นอน เพราะหลาย ๆ ประเทศต้องการทำความเข้าใจเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างสองมหาอำนาจนี้ เพื่อจะได้คาดการณ์ว่า จะมีการเปลี่ยนแปลงใด ๆ ในอนาคตหรือไม่ หรือว่า ตนควรจะฉวยโอกาสจากสถานการณ์ที่เปลี่ยนไปอย่างไร
ขณะเดียวกัน ภายใต้สภาพการณ์ในปัจจุบัน ชาติอาเชียนได้ก้าวเข้ามาแทนจีนบนเวทีการค้าโลกบ้างแล้ว และนั่นก็คือ การเสนอตัวเป็นทางเลือกในฐานะฐานการผลิตแทนจีน ซึ่งในประเด็นนี้ USABC คาดการณ์ว่า มาเลเซียน่าจะประกาศเรื่องการยกระดับความร่วมมือการเป็นผู้ผลิตเซมิคอนดักเตอร์หรือชิปสำคัญต่าง ๆ ในสหรัฐฯ ระหว่างที่เดินทางมาร่วมประชุมสุดยอดครั้งนี้ เป็นต้น
และขณะที่ ประเทศต่าง ๆ ในอาเซียนเดินหน้าผูกสัมพันธ์ด้านเศรษฐกิจกับทั่วโลกอยู่ คู่ค้าอื่น ๆ เช่น อินเดีย ก็เฝ้าจับตาดูการประชุมสุดยอดครั้งนี้อย่างใกล้ชิดยิ่งขึ้นแล้ว
เจย์ มานิยาร์ นักค้นคว้าแห่งมูลนิธิ National Maritime Foundation อธิบายว่า อินเดียนั้นมีส่วนได้ส่วนเสียอย่างมากในหลาย ๆ ด้านกับประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของความมั่นคงทางพลังงานหรือความมั่นคงทางการค้าในแถบช่องแคบทั้งหลายของภูมิภาคนี้
ท้ายสุด เหล่าผู้เชี่ยวชาญต่างเห็นพ้องว่า เอเชียตะวันออกเฉียงซึ่งเป็นภูมิภาคที่มีพลวัตอย่างยิ่งนี้ กำลังเริ่มมีบทบาทความสำคัญในแง่ของทั้งความท้าทายและโอกาสของโลก ในศตวรรษที่ 21 มากขึ้นเรื่อย ๆ อย่างแน่นอนแล้ว
- ที่มา: วีโอเอ