จีนเดินหน้าจับกุม-คุมขัง หลังประชาชนต่อต้านมาตรการคุมเข้มโควิด-19  

A volunteer uses a megaphone to talk to residents at an apartment building in Shanghai, China, April 12, 2022. (Xinhua News Agency via AP)

ที่ผ่านมาประชาชนชาวจีนส่วนใหญ่สนับสนุนนโยบาย “โควิดเป็นศูนย์” ของรัฐบาลจีน เพื่อควบคุมและป้องกันการระบาดของโควิด-19 ในช่วงสองปีที่ผ่านมา หลังจากเกิดการระบาดขึ้นครั้งแรกที่เมืองอู๋ฮั่น ก่อนที่จะลุกลามไปทั่วโลก

แต่แรงสนับสนุนดังกล่าวได้เริ่มอ่อนกำลังลง หลังจากการระบาดของโคโรนาไวรัสสายพันธุ์โอมิครอนในจีน ทำให้เกิดการบังคับใช้มาตรการกักตัว จนนำไปสู่การขาดแคลนอาหาร การต้องพรากจากกันของสมาชิกในครอบครัว การสูญเสียรายได้ และผลกระทบทางเศรษฐกิจ

สุ่น เจี้ยน นักศึกษาปริญญาโทวัย 37 ปี ที่เมืองยานไถ่ ได้รณรงค์ต่อต้านการใช้มาตรการโควิด-19 ของมหาวิทยาลัยตามลำพังมาเป็นเวลานานหลายเดือน และได้วิพากษ์วิจารณ์มาตรการดังกล่าวอย่างหนักทางโซเชียลมีเดีย

แต่ดูเหมือนว่าความอดทนของทางการจีนจะสิ้นสุดลง เมื่อสุ่น เจี้ยน เดินเข้ารั้วมหาวิทยาลัยในวันที่ 27 มีนาคมที่ผ่านมา พร้อมกับถือป้ายที่มีข้อความว่า “ยกเลิกการล็อคดาวน์ในหลู่ตง” ทำให้เขาถูกตำรวจจับกุมตัว ก่อนที่จะถูกไล่ออกจากมหาวิทยาลัยในวันที่ 1 เมษายน ตามการรายงานของสำนักข่าวรอยเตอร์

การประท้วงของสุ่น สะท้อนให้เห็นความอึดอัดคับข้องใจที่เพิ่มมากขึ้นของชาวจีน ที่อยู่ภายใต้สังคมที่คนส่วนใหญ่เชื่อฟังคำสั่งของทางการ จนกระทั่งพบว่ามาตรการต้านโควิด-19 ของรัฐนั้นกำลังถูกท้าทายอย่างยิ่งในการสู้กับสายพันธุ์โอมิครอน

ในบางกรณี การต่อต้านทางการจีนได้ถูกเผยแพร่ผ่านไปทางสื่อสังคมออนไลน์อย่างรวดเร็ว เช่นคลิปวีดีโอที่ชาวจีนยื้อยุดฉุดกระชากกับเจ้าหน้าที่ด้านสาธารณสุข และตะโกนด่าทอมาตรการล็อคดาวน์ด้วยความโกรธจากหน้าต่างอพาร์ทเมนต์ของพวกเขา

COVID-19 outbreak in Shanghai

พื้นที่ในการแสดงความคิดเห็นต่างในจีนนั้นได้ลดน้อยลง หลังจากที่จีนมีการใช้อำนาจเบ็ดเสร็จมากขึ้นภายใต้การปกครองของประธานาธิบดี สี จิ้นผิง การออกมาแสดงความโกรธเกรี้ยวของประชาชนต่อมาตรการโควิด-19 จึงได้สร้างความปวดหัวให้กับทางการ ที่ได้พยายามบอกให้ประชาชนยอมเสียสละเพื่อผลประโยชน์ของส่วนรวม

สุ่น เจี้ยน กล่าวกับสำนักข่าวรอยเตอร์ว่า มหาวิทยาลัยของเขาได้เปลี่ยนการเรียนการสอนมาเป็นระบบออนไลน์ และห้ามไม่ให้นักเรียนออกจากเขตมหาวิทยาลัย ห้ามรับพัสดุใด ๆ และห้ามสั่งอาหารจากภายนอกเข้ามารับประทาน

เขามองว่ามาตรการที่เข้มงวดดังกล่าวไม่มีความจำเป็น เพราะอัตราการเสียชีวิตที่เกิดจากการติดโควิดสายพันธุ์โอมิครอนนั้นมีอยู่ต่ำ

สุ่น เจี้ยน ซึ่งถูกทางการห้ามไม่ให้ใช้โซเชียลมีเดียทั้งหมด กล่าวว่า ความยุ่งยากที่เกิดจากโคโรนาไวรัสสายพันธุ์ใหม่นั้นเทียบไม่ได้เลยกับความวุ่นวายที่เกิดขึ้นจากมาตรการควบคุมโควิด-19 ของมหาวิทยาลัยของเขา

Virus Outbreak China

ระบายความอึดอัด

สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่าการจับกุมและการคุมขังที่เกี่ยวกับการทำผิดกฎข้อบังคับมาตรการควบคุมโควิด-19 ในเดือนมีนาคมได้พุ่งขึ้นสูงทั่วประเทศจีน ซึ่งเป็นข้อมูลที่ได้จากการค้นหาแถลงการณ์ของตำรวจ การโพสท์ของหน่วยงานราชการ และการรายงานข่าวของสำนักข่าวของรัฐบาลกรุงปักกิ่ง

ในเดือนมกราคมที่ผ่านมา มีรายงานตำรวจเกี่ยวกับการละเมิดมาตรการโควิด 59 ราย และถูกจับกุม 26 ราย แต่ในเดือนมีนาคม มีรายงานตำรวจเกี่ยวกับการละเมิดมาตรการโควิดมากกว่า 600 ราย และมีประมาณ 150 คนที่ได้รับการยืนยันว่าถูกจับกุม ซึ่งเป็นข้อมูลที่โพสท์ในสื่อสังคมออนไลน์เว่ยโป๋

เป็นไปได้ว่า ตัวเลขดังกล่าวที่ได้มาจากเว่ยโป๋นั้นจะเป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้นของการถูกจับกุมและควบคุมตัวทั้งหมด เพราะไม่ใช่ทุกกรณีจะมีการรายงานหรือเผยแพร่ทางโซเชียลมีเดีย หรือมีการรายงานโดยทางการ

นอกจากนี้ แผนกดูแลรักษาความปลอดภัยของในแต่ละพื้นที่ยังได้รายงานการปราบปรามการฝ่าฝืนมาตรการควบคุมโควิด-19 เพิ่มมากขึ้นอีกด้วย

Residents line up for nucleic acid testing at a residential area, during the second stage of a two-stage lockdown to curb the spread of the coronavirus disease (COVID-19), in Shanghai, China April 4, 2022. REUTERS/Aly Song

การละเมิดส่วนใหญ่มักเกิดจากการที่ชาวจีนต้องการเลี่ยงไม่ทำตามกฎบางอย่าง เช่น การต้องรายงานการเดินทางออกนอกพื้นที่ผ่านทางแอพพลิเคชัน การปลอมแปลงผลการตรวจโควิด-19 และการแอบหนีออกจากหมู่บ้านหรือพื้นที่ที่อยู่ภายใต้การล็อคดาวน์ เป็นต้น

การใช้กำลังกับเจ้าหน้าที่สาธารณสุขก็ได้เพิ่มสูงขึ้นเช่นกัน โดยตำรวจรายงานว่ามีการจับคุมชาวจีนที่ “ระบายความไม่พอใจ” โดยใช้ “ถ้อยคำที่ไม่เหมาะสม” เกี่ยวกับการระบาดของโควิด-19

เมื่อความไม่พอใจของประชาชนมีมากขึ้น ทางการก็ได้พยายามควบคุมโดยการเซ็นเซอร์ข้อความทางออนไลน์ การลบวีดีโอการประท้วง เป็นต้น สัปดาห์ก่อนหน้านี้ เมืองเซี่ยงไฮ้ยังประกาศว่าจะมีการจัดการกลุ่มแชททางโซเชียลมีเดียที่ปล่อย “ข่าวลือ” อีกด้วย

อย่างไรก็ตาม การต่อต้านจากฝั่งประชาชนก็สามารถนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงบางอย่างเช่นกัน เช่น ในเดือนมีนาคม นักศึกษามหาวิทยาลัยเสฉวนในเมืองเฉิงตู ได้ออกมาประท้วงกดดัน จนทำให้เจ้าหน้าที่มหาวิทยาลัยต้องยกเลิกมาตรการล็อคดาวน์ ตามการรายงานของสื่อ South China Morning Post