จีนสร้างเครือข่าย “อินฟลูเอ็นเซอร์” ข้ามชาติ-แพร่ภาพลักษณ์เชิงบวกของประเทศ

foreign video bloggers appear on CGTN

สำนักข่าวเอพีของสหรัฐฯออกรายงานฉบับยาววันที่ 30 มีนาคม ที่ระบุถึง สื่อ CGTN ของทางการจีน ที่สร้างเครือข่าย “อินฟลูเอ็นเซอร์” กว้างไกล บนสื่ออเมริกัน เช่น อินสตาเเกรม เฟซบุ๊คและยูทูบว์ รวมถึงแพลตฟอร์มเอกชนของจีนอย่าง TikTok

เอพีรายงานว่าเครือข่ายเหล่านี้ ซึ่งมีทั้ง “อินฟลูเอ็นเซอร์” ในจีนและในโลกตะวันตก มีจุดประสงค์เพื่อเผยแพร่ภาพลักษณ์เชิงบวกของประเทศจีน และบางครั้งมีการเผยเเพร่ข้อมูลโฆษณาชวนเชื่อที่เป็นลบต่อตะวันตก

ในหลายกรณี “อินฟลูเอ็นเซอร์” ให้ข้อมูลในบัญชีโซเชี่ยลมีเดียว่าเป็น “บล็อกเกอร์” หรือ “นักเดินทาง” ตลอดจน “ผู้ชื่นชอบอาหาร” แต่อันที่จริงพวกเขามีความเชื่อมโยงกับสื่อ CGTN ของทางการจีน

เอพีรายงานว่า มีสตรีชาวจีนที่ชื่อ วิค่า หลี่ เจ้าของบัญชีโซเชี่ยลมีเดีย TikTok อินสตาเเกรม เฟซบุ๊คและยูทูบว์ ซึ่งมีคนติดตามรวมกัน 1 ล้าน 4 แสนคน

วิค่า หลี่ ออกสื่อ CGTN หลายครั้งและถูกระบุบนเว็บไซต์ของบริษัทว่าเป็น “นักข่าวดิจิทัล” และเเม้เธอบอกแฟนๆบนบัญชีโซเชี่ยลมีเดียส่วนตัวว่า สร้างช่องโซเชี่ยลเหล่านี้ขึ้นเอง แต่เอพีพบว่ามีบุคคลอย่างน้อย 9 รายช่วยบริหารจัดการบัญชีผู้ใช้ดังกล่าว

Your browser doesn’t support HTML5

เปิดเครือข่าย “อินฟลูเอ็นเซอร์” ข้ามชาติจีน กลยุทธ์สร้างภาพลักษณ์ผ่านโลกออนไลน์

สำนักข่าวเอพีรายงานด้วยว่าทางการจีนสร้างเครือข่าย “อินฟลูเอ็นเซอร์” อย่างเงียบๆ บุคคลในเครือข่ายนี้จะเสนอมุมมองของรัฐบาลจีน ในลักษณะที่คล้องจองอย่างมากกับค่านิยมจีน เเละความพยายามที่จีนต้องการเบี่ยงประเด็นที่ถูกวิจารณ์จากนานาชาติ เช่นเรื่องสิทธิมนุษยชน รวมถึงสนับสนุนจุดยืนของจีนในประเด็นโลกอย่างการรุกรานยูเครนโดยรัสเซีย

บริษัท Miburo ที่จับตาปฏิบัติการเเพร่ข่าวสารบิดเบือนในต่างประเทศ ระบุว่า มี “อินฟลูเอ็นเซอร์” อย่างน้อย 200 รายที่โยงใยกับรัฐบาลจีนหรือสื่อของรัฐบาลปักกิ่ง โดยกระจายข้อมูลเป็น 38 ภาษา

กรรมการผู้จัดการใหญ่บริษัท Miburo คลินต์ วัตส์ ซึ่งเคยทำงานให้กับหน่วยงานสืบสวนกลางสหรัฐฯหรือเอฟบีไอกล่าวว่า “ถ้าคุณโหมให้ข้อมูลต่อผู้ชมเป็นเวลายาวนานพอด้วยเรื่องราวที่เหมือนกันตลอด คนจะมีเเนวโน้มเชื่อสารที่ได้รับเมื่อเวลาผ่านไปเรื่อยๆ”

Li Jingjing, CGTN journalist

นักข่าวจีนของ CGTN อีกรายหนึ่งที่ชื่อ หลี่ จิงจิง โพสต์เนื้อหาวิดีโอบนแอคเคาท์ ยูทูบว์ของเธอ โดยคลิปมีชื่อว่า “วิกฤตยูเครน: โลกตะวันตกไม่สนใจสงครามเเละหายนะที่พวกเขานำพาไปสู่ตะวันออกกลาง”

บางส่วนของเนื้อหาที่เธอโพสต์ยังช่วยโหมกระพือ การโฆษณาชวนเชื่อของรัสเซียที่ว่าเกิดการ “ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์” ในยูเครน และสหรัฐฯเเละนาโต้ยั่วยุให้รัสเซียบุกยูเครน

การใส่เนื้อหาการเมืองมักทำเเทรกเนื้อหาท่องเที่ยวประเทศจีน และสำนักข่าวเอพีพบบัญชีโซเชี่ยลมีเดียลักษณะนี้ของ “อินฟลูเอ็นเซอร์” หลายสิบคนที่มีคนติดตามรวมกันกว่า 10 ล้านราย โดยเกือบทุกแอคเคาท์บนเฟซบุ๊คจะพุ่งเป้าโฆษณาไปที่คนดูนอกประเทศจีนในมาติดตามเพจเหล่านี้

เจสซิกา เเบรนด์ท ผู้เชี่ยวชาญด้านยุทธวิธีข่าวสารแห่งสถาบันวิจัยนโยบาย Brookings Institution กล่าวว่า เทคนิคเหล่านี้ชี้ให้เห็นว่าเจ้าของแอคเคาท์ต้องการส่งเสริมภาพลักษณ์ที่ดีของจีนมากลบประเด็นเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนภายใต้รัฐบาลปักกิ่ง

สำหรับในต่างประเทศ เมื่อเดือนธันวาคม มีการเปิดเผยว่าสถานกงสุลจีนที่นครนิวยอร์กจ่ายเงินให้บริษัทสื่อ Vippi Media ในรัฐนิวเจอร์ซีย์เป็นเงิน 300,000 ดอลลาร์ ให้หา “อินฟลูเอ็นเซอร์” ในการโพสต์เนื้อหาบน อินสตาเเกรมและ TikTok ช่วงมหกรรมกีฬาโอลิมปิกที่ปักกิ่ง รวมถึงเนื้อหาที่ให้ความสำคัญกับกิจกรรมของรัฐบาลปักกิ่งในการจัดการปัญหาอากาศเปลี่ยนแปลงผิดธรรมชาติ

วิปป์ เเจสวาล ซีอีโอของ Vippi Media ปฏิเสธที่จะให้รายละเอียดเเก่เอพีเกี่ยวกับโพสต์เหล่านั้น

และที่รัฐเวอร์จิเนีย เอพีรายงานว่า บริษัท New World Radio ได้รับเงินหลายล้านดอลลาร์ ให้ออกอากาศเนื้อหาของสื่อจีน CGTN เป็นเวลา 12 ชั่วโมงต่อวัน โดยอ้างอิงเอกสารจากกระทรวงยุติธรรมสหรัฐฯ อย่างไรก็ตามเเพทริเชีย เลน เจ้าของร่วมของ New World Radio กล่าวว่าได้ยุติความสัมพันธ์กับสื่อจีนรายนี้ไปเเล้วเมื่อเดือนธันวาคม

สำนักข่าวเอพีพยายามติดต่อไปยังบุคคลของฝ่ายจีนในบทความชิ้นนี้ เช่น หลี่ จิงจิง รวมถึง CGTN แต่ยังไม่ได้รับการตอบกลับ ทั้งนี้หน่วยงาน CGTN มีองค์กรที่จดทะเบียนนิติบุคคลในอเมริกาที่ชื่อ CGTN America ซึ่งมีความสัมพันธ์เชิงพาณิชย์กับองค์กรข่าวต่างประเทศหลายเเห่งเช่น เอพี ซีเอ็นเอ็น และรอยเตอร์

ขณะเดียวกัน โฆษกสถานทูตจีนประจำกรุงวอชิงตัน หลิว เพ็งหยูกล่าวว่า “สื่อจีนและนักข่าวจีนทำงานตามปกติของพวกเขา อย่างเป็นอิสระ และไม่ควรถูกสันนิษฐานว่าพวกเขาโดนชี้นำหรือเเทรกเเซงโดยรัฐบาลจีน”

ที่มา: เอพี