ขณะที่การแข่งกีฬาโอลิมปิคฤดูร้อนที่กรุงโตเกียวซึ่งถูกเลื่อนมาจากปีที่แล้วจะสิ้นสุดลงในวันที่ 8 สิงหาคมนี้ ในอีกราวหกเดือน คือระหว่างวันที่ 4-20 กุมภาพันธ์ปี 2565 จีนก็จะเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งกีฬาโอลิมปิคฤดูหนาว
แต่เมื่อสัปดาห์ที่แล้วคือปลายเดือนกรกฎาคม สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศในประเทศจีน (FCCC) ได้แสดงความกังวลและเตือนเรื่องความปลอดภัยของผู้สื่อข่าวต่างชาติ ท่ามกลางกระแสชาตินิยมที่รัฐบาลกรุงปักกิ่งสร้างขึ้นเพื่อตอบโต้การเสนอข่าวเชิงวิพากษ์วิจารณ์ของสื่อจากประเทศตะวันตกเหล่านี้
เป็นที่คาดกันว่ากีฬาโอลิมปิกฤดูหนาวซึ่งจีนจะเป็นเจ้าภาพจัดขึ้นในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ปีหน้าจะเป็นกิจกรรมที่ดึงดูดผู้สื่อข่าวต่างชาติหลายร้อยคน
แต่วิลเลียม แกลโล ผู้สื่อข่าววีโอเอรายงานว่ากองทัพผู้สื่อข่าวเหล่านี้อาจต้องพบกับกระแสต่อต้านที่รัฐบาลกรุงปักกิ่งสร้างขึ้นเพื่อโหมกระตุ้นความไม่พอใจเกี่ยวกับการทำงานของสื่อต่างชาติ โดยเฉพาะในเรื่องราวต่างๆ ที่สร้างภาพลบให้กับจีนและรัฐบาลปักกิ่งอ้างว่าเรื่องเหล่านี้ไม่เป็นความจริง ตัวอย่างเช่น ปักกิ่งได้มุ่งเป้าโจมตีการทำงานของ BBC ที่รายงานเกี่ยวกับค่ายปรับทัศนคติสำหรับชาวมุสลิมอุยกูร์ได้มณฑลซินเจียง เป็นต้น
การรณรงค์ที่มุ่งสร้างความเป็นปฏิปักษ์ต่อผู้สื่อข่าวต่างชาติทั้งโดยสื่อของทางการจีน จากนักการฑูตจีนในต่างประเทศ และจากหน่วยงานของรัฐในประเทศจีนเองนี้บางครั้งได้ส่งผลคุกคามต่อสวัสดิภาพของผู้สื่อข่าวจากประเทศตะวันตกที่รายงานข่าวเหตุการณ์ซึ่งไม่ใช่การเมืองเช่นกัน
ตัวอย่างเช่น เมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมามีกลุ่มชาวจีนที่โกรธแค้นเข้าห้อมล้อมและควบคุมตัวผู้สื่อข่าวที่เป็นชาวอเมริกันและชาวเยอรมนีสองคนจากการรายงานเรื่องน้ำท่วมที่จังหวัดเหอนาน โดยชาวเมืองกล่าวหาผู้สื่อข่าวสองคนนี้ว่าเผยแพร่ข่าวลือที่ต่อต้านจีน และหลังจากนั้นก็มีสื่อหลายสำนักรายงานว่าผู้สื่อข่าวของตนได้รับโทรศัพท์คุกคามหรือถูกถูกเอาชีวิตเช่นกัน
การคุกคามและข่มขู่สื่อต่างชาติในประเทศจีนที่ว่านี้มีขึ้นขณะที่กำลังเกิดกระแสชาตินิยมในโอกาสครบรอบ 100 ปีของการก่อตั้งพรรคคอมมิวนิสต์จีน และเท่าที่ผ่านมารัฐบาลจีนได้ใช้แนวทางการทูตแบบแข็งกร้าวและประจัญหน้าหรือที่เรียกว่า “wolf warrior” diplomacy ซึ่งอาศัยการตอบโต้ด้วยคำพูดอย่างเผ็ดร้อนและการข่มขู่เพื่อแสดงว่าจีนจะไม่เป็นฝ่ายที่ยอมถูกตำหนิโจมตีแต่เพียงฝ่ายเดียวเช่นกัน
บรรยากาศตึงเครียดที่ว่านี้นอกจากจะมีผลต่อการทำงานของผู้สื่อข่าวต่างชาติในจีนแล้วยังทำให้นักวิชาการและผู้สื่อข่าวที่อยู่ในต่างประเทศบางคนยอมรับว่าตนอาจไม่ต้องการเดินทางกลับเข้าไปในจีนอีกเพราะเกรงว่าอาจจะถูกข่มขู่รังควาน ถูกสะกดรอย หรืออาจถูกคุมขังได้
โดยผลการสำรวจซึ่งแม้อาจไม่ใช่ผลวิจัยอย่างเป็นทางการของ ChinaFile วารสารออนไลน์ของ Asia Society แสดงว่า 40% ของผู้ที่เป็นสมาชิกมีความรู้สึกในลักษณะนี้
อย่างไรก็ตามเจ้าหน้าที่รัฐบาลจีนได้บอกปัดเรื่องดังกล่าวและชี้ว่าเฉพาะผู้ที่ละเมิดกฎข้อบังคับของจีนเท่านั้นที่ควรกังวล และว่าความโกรธแค้นไม่พอใจของประชาชนจีนที่มีต่อการทำงานและการรายงานข่าวของผู้สื่อข่าวต่างประเทศนั้นเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นด้วยตัวเองและเป็นผลจากการทำงานที่มีอคติและการสร้างข่าวปลอมของสื่อประเทศตะวันตกด้วย
ถึงแม้ผู้สื่อข่าวบางคนจะแย้งว่าสาธารณชนจีนมักถูกปิดกั้นไม่ให้เข้าถึงเนื้อหาและการรายงานของสื่อชาติตะวันตกอย่างเต็มที่ดังนั้นกระแสต่อต้านที่ว่านี้จึงไม่น่าจะเกิดขึ้นได้เองตามธรรมชาติ
และถึงแม้ผู้เชี่ยวชาญบางคนจะเชื่อว่าการเป็นเจ้าภาพกีฬาโอลิมปิกฤดูหนาวในช่วงต้นปีหน้าอาจทำให้ปักกิ่งพยายามหลีกเลี่ยงการสร้างข่าวในทางลบเรื่องการจัดการหรือการควบคุมการทำงานของสื่อมวลชนต่างชาติและอาจใช้วิธีขับออกจากประเทศแทนที่จะคุมขังหรือกักตัวไว้หากผู้สื่อข่าวเหล่านี้ทำอะไรที่ไม่ถูกใจรัฐบาลก็ตาม
แต่รองศาสตราจารย์ลิม ไท เหวิน ผู้เชี่ยวชาญด้านจีนและเอเชียตะวันออกเฉียงเหนือที่มหาวิทยาลัย National University ในสิงคโปร์ก็เชื่อว่าในโอกาสครบรอบ 100 ปีของการก่อตั้งพรรคคอมมิวนิสต์จีนปีนี้ ผู้นำของจีนโดยเฉพาะประธานาธิบดีสี จิ้น ผิงมีความจำเป็นด้วยเหตุผลด้านการเมืองในประเทศที่จะไม่อ่อนข้อและคงจะพยามทำตัวให้ดูเข้มแข็งโดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องความมีอธิปไตยของประเทศ และว่าประธานาธิบดีสี จิ้น ผิงนั้นจำเป็นต้องแสดงให้ชาวจีนเห็นว่าตนแข็งแกร่งและสามารถควบคุมสถานการณ์ไว้ได้ ทั้งนี้เพื่อช่วยสร้างความชอบธรรมให้ทั้งกับตนเองรวมทั้งสำหรับพรรคคอมมิวนิสต์จีนด้วย
ที่มา: VOA