เมื่อ 8 ปีก่อนในครั้งที่รัสเซียบุกยึดเเคว้นไครเมียจากยูเครนเป็นของตน เกิดกลุ่มนักรบอาสาสมัครจากต่างประเทศที่เข้ารบในฐานะเเนวร่วมยูเครน
กลุ่มดังกล่าว ซึ่งถูกก่อตั้งโดยนายทหารของประเทศจอร์เจีย มีชื่อว่า The International Legion of Defense of Ukraine แนวร่วมนักรบอาสาสมัครเหล่านี้กลายมาเป็นแหล่งรวมชาวต่างชาติที่ร่วมปกป้องยูเครนในสงครามครั้งใหม่ หลังรัสเซียบุกรอบล่าสุดในวันที่ 24 กุมภาพันธ์
กระทรวงการต่างประเทศยูเครนกล่าวเมื่อวันที่ 6 มีนาคมว่า กลุ่มเเนวร่วมดังกล่าวมีผู้สมัครเข้าเป็นสมาชิก เกือบ 20,000 ราย และทางการยูเครนระบุว่า ผู้เข้าร่วมมาจากอังกฤษ แคนาดา โครเอเชีย เดนมาร์ก อิสราเอล ลัทเวีย เนเธอร์เเลนด์ และโปแลนด์ จากทั้งหมดกว่า 50 ชาติ
สำหรับสหรัฐฯ มีผู้สมัครชาวอเมริกันประมาณ 3,000 คนที่อาสาช่วยยูเครนป้องกันประเทศ ตามข้อมูลเมื่อช่วงต้นเดือนนี้
วีโอเอไม่สามารถยืนยันข้อมูลจากเเหล่งข่าวอื่นนอกจากทางฝั่งยูเครนเพื่อตรวจสอบความถูกต้องของตัวเลขผู้เข้าร่วมทั้งหมดของกลุ่มนักรบอาสาสมัครดังกล่าว
แม้ว่าคนเหล่านี้จะมีความตั้งใจเช่นเดียวกัน รัฐบาลของประเทศต้นสังกัดของพวกเขามีท่าทีที่เเตกต่างกัน โดยมีทั้งชาติที่ประณามประชาชนของตนที่เป็นนักรบอาสาสมัครครั้งนี้ และชาติที่สงวนท่าทีที่ชัดเจน รวมถึงประเทศที่แสดงความเข้าใจประชาชนที่คิดเช่นนี้
แน่นอนว่า ในบรรดาชาติที่ต่อต้านกระเเสคนเข้าร่วมยูเครนรบในครั้งนี้ คือรัสเซีย และพันธมิตรของรัสเซียอย่างประเทศเบลารุส
ชาวต่างชาติที่ร่วมรบกับทหารยูเครนประกอบด้วย ชาวเชเชน จากเขตปกครองเชชเนียของรัสเซีย อันที่จริงพวกเขาเข้ามาในยูเครนตั้งเเต่ 8 ปีก่อนที่รัสเซียบุกยึดเเคว้นไครเมียแล้ว
ผู้นำกองทัพชาวเชเชน แรมซาน คาดิรอฟกล่าวว่าคนเหล่านั้นเป็นผู้ทรยศ เขายังขู่ที่จะใช้กองกำลังของตนสังหารชาวเชเชนที่สู้รบต้านรัสเซีย และว่า จะทำร้ายครอบครัวของคนเหล่านั้นด้วย
ในส่วนของเบลารุส ผู้นำประเทศ ประธานาธิบดีอเล็กซานเดอร์ ลูคาเชนโก ประณามประชาชนของตนที่เป็นทหารอาสาช่วยยูเครนป้องกันประเทศว่า “เสียสติ” และระบุว่าคนเหล่านั้นทำไปเพื่อเงิน
สำหรับประเทศในเอเชีย รัฐมนตรีต่างประเทศปากีสถาน ชาห์ มาห์มูด คูเรชี กล่าวกับวีโอเอภาคภาษาอูรดูว่า รัฐบาลปากีสถานไม่ต้องการให้ประชาชนของตนไปเกี่ยวข้องในความขัดเเย้งครั้งนี้ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายยูเครนหรือรัสเซีย
ส่วนที่ประเทศอุซเบกิสถาน กระทรวงยุติธรรมของประเทศกล่าวเมื่อวันที่ 28 กุมภพันธ์ว่า ชาวอุซเบคที่เข้าร่วมกองทัพต่างประเทศอาจจะเจอกับข้อหาอาญาที่มีโทษจำคุกสูงสุด 5 ปี
นักวิชาการไทเลอร์ เวนท์เซลล์แห่งมหาวิทยาลัยโตรอนโตในเเคนาดากล่าวว่าประเทศเหล่านี้เป็นตัวอย่างชาติที่มีท่าทีเช่นนี้เพราะอาจเกิดเหตุการณ์ที่ว่า มีประชาชนของตนที่เข้ารบร่วมกับรัสซีย และก็อาจจะมีที่เข้าช่วยยูเครนด้วยเช่นกัน ดังนั้น รัฐบาลจึงไม่อยากเห็นคนชาติเดียวกันสู้รบกันเองในต่างประเทศ และนั่นอาจจะสร้างความเเตกเเยกที่รุนเเรงขึ้นภายในประเทศต้นสังกัด
ในส่วนของสหรัฐฯ รัฐบาลอเมริกันพยายามโน้มน้าวไม่ให้คนไปร่วมรบกับกองทัพยูเครน และระบุว่า สถานการณ์ในยูเครนไม่ปลอดภัยต่อชาวอเมริกัน แต่ก็มิได้ออกคำเตือนเรื่องการเอาผิดทางอาญาหากประชาชนต้องการเป็นทหารอาสาในยูเครน
และที่เเคนาดา ซึ่งเป็นประเทศที่มีคนเชื้อสายยูเครนมากเป็นอันดับสามของโลกรองจากยูเครนและรัสเซีย รัฐมนตรีต่างประเทศเเคนาดา เมลานี โจลี กล่าวเมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ว่า เป็นเรื่องเข้าใจได้ที่ชาวเเคนาดาเชื้อสายยูเครนจะต้องการไปร่วมปกป้องชาติบรรพบุรุษของพวกเขา
ในวันเดียวกันที่อังกฤษ รัฐมนตรีต่างประเทศ ลิซ ทรัส บอกกับสื่อบีบีซี ว่า เธอสนับสนุนชาวอังกฤษอย่างเต็มที่ ถ้าพวกเขาตัดสินใจเเล้วว่าต้องการไปรบในประเทศยูเครน