รัฐประหารเมียนมาและการกลับไปนับ 1 ของเส้นทางสู่ประชาธิปไตย

Protesters take part in a demonstration against the Myanmar military coup in Inle lake, Shan state, Myanmar, Feb. 11, 2021.

Your browser doesn’t support HTML5

Myanmar Coup and Democracy


ทิศทางการเมืองในเมียนมายังคงเป็นประเด็นที่นานาประเทศจับตาดูอยู่อย่างใกล้ชิด หลังผู้นำกองทัพทำการก่อรัฐประหารเมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา โดยอ้างว่าการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อเดือนพฤศจิกายนของปีที่แล้วมีปัญหาการทุจริตอย่างกว้างขวาง แต่ไม่ได้นำเสนอหลักฐานชัดเจนใดๆ มาสนับสนุนคำกล่าวอ้างนี้ และยังทำการจับกุมนางอองซานซูจี ผู้นำรัฐบาลพลเรือนและสมาชิกคนสำคัญๆ ของพรรครัฐบาลที่ชนะการเลือกตั้งอย่างถล่มทลายไปด้วย

ขิ่น โซ วิน ซึ่งเป็นผู้สื่อข่าวอาวุโส ของ วีโอเอ ภาคภาษาพม่า กล่าวว่า การก่อรัฐประหารโดยกองทัพเมียนมาเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมาทำให้เส้นทางสู่ประชาธิปไตยของประไทยถอยกลับไปนับหนึ่งใหม่ โดยการยึดอำนาจล่าสุดนี้นับเป็นครั้งที่ 3 ในช่วงชีวิตของเธอ และเป็นสิ่งที่มีการคาดการณ์ว่าอาจจะเกิดขึ้นไว้แล้ว หลังมีรายงานข่าวว่า พรรคสหสามัคคีและการพัฒนา (USDP) ซึ่งมีทหารหนุนหลังและเป็นพรรคฝ่ายค้านในรัฐบาลชุดที่นำโดยพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (NLD) ของนางอองซานซูจี ได้เข้าพบกับผู้นำกองทัพก่อนการเลือกตั้งในเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา เพื่อเรียกร้องให้ทหารเข้าแทรกแซง หากพบว่ามีความผิดปกติใดๆ ก็ตาม ไม่ว่าจะเป็นกระบวนการหาเสียง หรือขั้นตอนต่างๆ ที่เกี่ยวข้องที่ทางพรรคคิดว่าไม่ชอบธรรม ซึ่งการเข้าพบและพูดคุยเช่นนั้น ชี้ให้เห็นถึงความน่าจะเป็นของการยึดอำนาจได้พอควร

ိDaw Aung San Suu Kyi and Thura Shwe Mann meet together with burmese media group at Naypyi Daw. July 18, 2013 photo by VOA Burmese Service group

ขิ่น โซ วิน ซึ่งเป็นผู้สื่อข่าวที่มีโอกาสเข้าสัมภาษณ์พิเศษ นางอองซานซูจี ประธานพรรค NLD หลังเธอได้รับการปล่อยตัวเมื่อปี ค.ศ. 2011 จากการควบคุมตัวในบ้านพักของเธอเป็นเวลากว่าทศวรรษ บอกด้วยว่า ก่อนการเลือกตั้ง นางอองซานซูจี เองได้ออกมาให้ความเห็นว่า กองทัพเมียนมาไม่ควรคิดทำการใดๆ ที่จะขัดกับความรู้สึกและความต้องการของประชาชนที่สนับสนุนรัฐบาลพลเรือนที่เธอเป็นผู้นำอยู่

นอกจากนั้น ทุกครั้งที่เธอได้ต้อนรับบุคคลสำคัญจากต่างประเทศที่มาเยือนเมียนมา เธอจะพยายามอธิบายว่า กองทัพยังคงมีบทบาทสำคัญในการบริหารประเทศ และรัฐบาลของเธอไม่ได้มีอำนาจเต็มที่ ซึ่ง ขิ่น โซ วิน มองว่า เป็นเหมือนการแสดงความกังวลว่า สักวันหนึ่ง ทหารอาจจะทำก่อการรัฐประหารยึดอำนาจอีกครั้ง

https://www.voathai.com/a/myanmar-talk-coup-democracy-with-khin-soe-win-voa-burmese/5774085.html

ในส่วนของความรู้สึกของประชาชนในเมียนมานั้น ผู้สื่อข่าวอาวุโส ของ วีโอเอ ภาคภาษาพม่า กล่าวว่า คนจำนวนมากย่อมรู้สึกผิดหวังอย่างมาก เนื่องจากพรรค NLD ชนะเสียงส่วนใหญ่ และนั่นคือเหตุผลที่มีผู้ออกมาชุมนุมประท้วงบนท้องถนนในหลายเมืองของเมียนมา เพื่อสนับสนุนรัฐบาลพลเรือนที่ชนะการเลือกตั้งอย่างถล่มทลายและเรียกร้องให้กองทัพคืนอำนาจให้แก่ประชาชน ตั้งแต่มีการจับกุมตัวผู้นำรัฐบาลคนสำคัญๆ ไป

Demonstrators flash a three-fingered symbol of resistance against the military coup and shout slogans calling for the release of detained Myanmar leader Aung San Suu Kyi during a protest in Mandalay, Myanmar on Feb. 10, 2021.

เมื่อถามถึงสถานการณ์ภายในประเทศที่ตกอยู่ภายใต้คำสั่งภาวะฉุกเฉินที่กำหนดไว้ถึง 1 ปี ขิ่น โซ วิน กล่าวว่า ประเด็นนี้เป็นสิ่งที่ชาวเมียนมาได้แต่ภาวนาว่าจะไม่ได้ดำเนินเป็นระยะเวลานานดังที่กองทัพประกาศไว้

และถึงแม้ตัวเธอจะใช้ชีวิตอยู่ในสหรัฐฯ เธอยืนยันว่า สามารถรู้สึกถึงความไม่พอใจ ความผิดหวัง ทั่วประเทศ ไม่ว่าจะเป็นผู้ที่อยู่ในพื้นที่เมือง หรือชนบทที่ห่างไกล ซึ่งเห็นได้จากการที่ประชาชนยอมเสี่ยงและฝ่าฝืนคำสั่งที่ออกมาเพื่อควบคุมการแพร่กระจายของโคโรนาไวรัสสายพันธุ์ใหม่ รวมทั้งมาตรการเคอร์ฟิวและการสั่งห้ามการชุมนุม เพื่อสนับสนุนพรรค NLD อย่างต่อเนื่อง

เธอบอกว่า ชาวเมียนมาที่ออกมาชุมนุมนั้น มีจุดมุ่งหมายที่จะดึงความสนใจของประชาคมโลกให้เข้าใจความเป็นไปที่เกิดขึ้น และเรียกร้องขอแรงหนุนจากนานาชาติ โดยเฉพาะจากสหรัฐฯ และองค์การสหประชาชาติเข้าแทรกแซงสถานการณ์ภายในประเทศ มากกว่าจะเพียงแค่ออกความเห็นเท่านั้น

สถานการณ์ที่เกิดขึ้นในเมียนมา และปฏิกิริยาของประชาชนยังชี้ชัดว่า การก่อการรัฐประหารนั้นเป็นเรื่องที่คนส่วนใหญ่ไม่ยอมรับและไม่ต้องการให้เกิดขึ้นอีกต่อไปในศตวรรษที่ 21 ซึ่งเป็นยุคดิจิทัลและสื่อสังคมออนไลน์ ที่แม้แต่ประชาชนในเมียนมาเองก็ได้ใช้แพลตฟอร์มต่างๆ เพื่อส่งสัญญาณต่อต้านการใช้อำนาจทางทหารต่อประชาชน การที่ตัวแทนกองทัพนั้นเข้าควบคุมกระทรวงสำคัญๆ ส่วนมากไว้หมด รวมทั้งการทำรัฐประหารโดยทหาร ซึ่งเป็นเรื่องตกยุคไปแล้ว

Senior General Min Aung Hlaing, Commander-in-Chief of Tatmadaw (Myanmar Armed Forces), addresses members of the United Nations Security Council at Bayint Naung villa in Naypyidaw, Myanmar, April 30, 2018. REUTERS/Kevin Fogarty

และเมื่อสถานการณ์ในเมียนมายังอ่อนไหว และเกิดการแชร์ภาพข่าวที่คลาดเคลื่อนจากข้อเท็จจริง เช่น ภาพที่สื่อไทยนำไปรายงาน เกี่ยวกับการจับกุมตัว นาย ซอ เท อดีตโฆษกรัฐบาลเมียนมา ซึ่ง ขิ่น โซ วิน กล่าวว่า ทีมงานได้ตรวจสอบแล้วพบว่าเป็นภาพตัดต่อ โดยมีการนำภาพของอดีตโฆษกรัฐบาลเข้าไปแทนที่ภาพของผู้อื่นที่ถูกจับกุมในคดีอาชญากรรมที่ไม่เกี่ยวข้องกัน

สำหรับตัวนางอองซานซูจี ที่ประสบปัญหาความนิยมลดลง และการยอมรับในสายตาประชาคมโลกที่หดหายไปนั้น ผู้สื่อข่าวอาวุโส ของ วีโอเอ ภาคภาษาพม่า มองว่า เหตุรัฐประหารน่าจะทำให้เธอยิ่งได้รับแรงสนับสนุนมากขึ้นด้วยซ้ำ นอกจากการที่ประชาชนในเมียนมาที่ชื่นชอบและเคารพในตัวเธอจะเรียกเธอว่าเป็น “แม่ของแผ่นดิน” มานานแล้ว

แต่สำหรับเมียนมาเอง ขิ่น โซ วิน เชื่อว่า หากไม่มีแรงกดดันจากประชาคมโลกมากพอ สถานการณ์อาจเลวร้ายลงไปอีก

เธอกล่าวทิ้งท้ายไว้ว่า หากนานาชาติไม่เข้ามาแทรกแซงปัญหาที่เกิดขึ้นในเมียนมา และไม่มีแรงกดดันเพียงพอเพื่อให้รัฐบาลทหารยุติทุกอย่าง เมียนมาก็จะตกอยู่ในชะตากรรมที่ยากลำบากอีกครั้ง และกลับไปเริ่มต้นใหม่ แต่เธอยังหวังว่า แรงต้านการทำรัฐประหาร จากประชาชนที่ผ่านช่วงเวลาอันขมขื่นภายใต้การปกครองโดยทหารมาแล้ว จะเดินหน้าต่อไป แม้ไม่มีใครสามารถคาดการณ์ได้ว่า กองทัพเมียนมาอาจจะดำเนินการขั้นรุนแรง หรือไม่ อย่างไร