ลิ้งค์เชื่อมต่อ

อาณาจักรธุรกิจกองทัพเมียนมาเผชิญแรงกดดันหลังเหตุรัฐประหาร


FILE - People line up outside a bank branch in Yangon, Myanmar, Feb. 1, 2021.
FILE - People line up outside a bank branch in Yangon, Myanmar, Feb. 1, 2021.
Foreign Investment Myanmar Coup
please wait

No media source currently available

0:00 0:05:41 0:00


นานาประเทศยังคงจับตาดูสถานการณ์ในเมียนมาอย่างต่อเนื่อง หลังกองทัพทำรัฐประหารยึดอำนาจจากรัฐบาลพลเรือนที่ชนะการเลือกตั้งทั่วไปอย่างถล่มทลายเมื่อเดือนพฤศจิกายนของปีที่แล้ว และหนึ่งในประเด็นที่กองทัพเมียนเริ่มรู้สึกกดดันมากขึ้นคือ อาณาจักรธุรกิจที่ตนควบคุมอยู่ หลังจากบริษัทต่างประเทศหลายแห่งเริ่มประกาศถอนธุรกิจออกจากเมียนมากันแล้ว

ภายหลังการประกาศยึดอำนาจและจับกุม นางอองซานซูจี รวมทั้งผู้นำคนอื่นๆ ของพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (NLD) ไปเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ กองทัพเมียนมาได้ประกาศคำสั่งภาวะฉุกเฉินเป็นเวลา 1 ปี โดยอ้างว่า การทำรัฐประหารครั้งนี้เกิดขึ้นเพราะมีการทุจริตการเลือกตั้ง ซึ่งพรรค NLD เป็นได้รับชัยชนะเป็นสมัยที่ 2 แต่ไม่ได้มีการแสดงหลักฐานสนับสนุนคำกล่าวอ้างนี้แต่อย่างใด

ปฏิกิริยาตอบโต้จากสังคมโลกที่ต่อต้านการทำรัฐประหารในเมียนมาเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยรายแรกที่ออกมายืนยันจุดยืนของตน หลังมีข่าวการยึดอำนาจออกไม่นานคือ บริษัทผู้ผลิตเครื่องดื่มสัญชาติญี่ปุ่นอย่าง คิริน (Kirin) ที่ประกาศถอนตัวจากการทำธุรกิจร่วมทุนกับบริษัทที่กองทัพเมียนมาเป็นเจ้าของ และเป็นผู้ผลิตเบียร์ยอดนิยม ซึ่งก็คือ เมียนมา เบียร์ (Myanmar Beer)

และเมื่อวันอังคารนี้เอง บริษัท อาร์ เอ็ม เอช สิงคโปร์ (RMH Singapore) ออกมาประกาศยกเลิกการถือหุ้นของตนในบริษัท เวอร์จิเนีย โทแบคโค (Virginia Tobacco Company) ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนกับกองทัพเมียนมาเช่นกัน

อันที่จริง เสียงเรียกร้องให้บริษัทต่างชาติตัดสัมพันธ์กับกองทัพเมียนมานั้นมีออกมาสักพัก จากกรณีที่มีรายงานข่าวว่า กองทัพทำการวางเพลิง ข่มขืน และฆาตกรรมสมาชิกชนกลุ่มน้อยชาวมุสลิม โรฮินจา เมื่อช่วงปลายปี ค.ศ. 2017 โดยมีบริษัทบางแห่งตอบรับเสียงเรียกร้องนี้ไปบ้าง แต่อีกหลายแห่งยังคงนิ่งเฉยอยู่

จอร์จ แมคลอยด์ ผู้บริหารจากกลุ่ม Access Asia ซึ่งเป็นองค์กรที่ปรึกษาการทำธุรกิจในภูมิภาคเอเชีย ให้ความเห็นว่า เหตุรัฐประหารในเมียนมาเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว กลายมาเป็นปัจจัยที่ทำให้บริษัทต่างๆ ที่ยังลังเลว่าจะดำเนินธุรกิจในประเทศนี้ต่อไปดีหรือไม่ ตัดสินใจถอนตัวออกมาทันที เพื่อรักษาชื่อเสียงของตนไว้

แมคลอยด์ กล่าวว่า วิกฤติชาวโรฮินจา เป็นจุดเริ่มต้นกระบวนการตัดสัมพันธ์ แต่เหตุรัฐประหารที่เพิ่งเกิดขึ้นคือชนวนที่ทำให้บริษัทใหญ่ๆ จากชาติตะวันตกและพันธมิตรในภูมิภาคเอเชีย ตัดสินใจยุติความสัมพันธ์ทางธุรกิจในเมียนมา ในที่สุด

นับตั้งแต่เกิดการทำรัฐประหารมา องค์กรนิรโทษกรรมสากล (Amnesty International) และองค์กรไม่แสวงหาผลกำไร อย่าง โกลบอล วิทเนส (Global Witness) รวมทั้งกลุ่มเคลื่อนไหวด้านสิทธิ์ต่างๆ ออกมาเรียกร้องให้บริษัทต่างชาติทั้งหลายยกเลิกการทำธุรกิจกับองค์กรที่เกี่ยวข้องกับกองทัพเมียนมา รวมทั้ง ขอให้รัฐบาลประเทศต่างๆ ดำเนินมาตรการลงโทษต่อบรรดานายพลของเมียนมา และธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องทั้งหมดด้วย โดยเท่าที่ผ่านมา ทำเนียบขาวได้เปิดเผยแล้วว่า กำลังพิจารณามาตรการลงโทษเฉพาะจุดอยู่

ทั้งนี้ ธุรกิจที่เหล่านายทหารกองทัพเมียนมามีส่วนเกี่ยวข้องนั้นมักอยู่ในรูปของกลุ่มบริษัท เช่น the Myanmar Economic Corporation และ the Myanmar Economic Holdings Public Company Limited ซึ่งลงทุนในธุรกิจหลากหลายประเภท ตั้งแต่ เหมืองแร่ไปจนถึงอุตสาหกรรมการผลิต ธนาคาร อสังหาริมทรัพย์ ท่องเที่ยว การขนส่งคมนาคม และโทรคมนาคม

ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา รายงานโดยองค์การสหประชาชาติและองค์กรนิรโทษกรรมสากล แสดงให้เห็นว่า มีบริษัทต่างชาติจำนวนไม่น้อยที่มีสายสัมพันธ์ทางธุรกิจกับกลุ่มบริษัทดังกล่าว โดยมีธุรกิจจากญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ เป็นผู้ลงทุนอันดับต้นๆ ตามมาด้วย จีน อินเดีย ยุโรป และจากภูมิภาคอาเซียน

คริสโตเฟอร์ ซิโดติ นักกฎหมายด้านสิทธิมนุษยชนสากลจากออสเตรเลีย ผู้มีส่วนร่วมทำรายงานข้างต้น ให้ความเห็นว่า การที่สิงคโปร์ แสดงความไม่เห็นชอบต่อเหตุรัฐประหาร น่าจะเป็นเหมือนการส่งสัญญาณว่า บริษัทที่ดำเนินธุรกิจในเมียนมากำลังจะต้องเผชิญกับแรงกดดันให้ตัดสัมพันธ์กับกองทัพแล้ว ขณะที่ บริษัทข้ามชาติหลายแห่งที่ปกติไม่ค่อยกังวลเรื่องของชื่อเสียง อาจเริ่มต้องเตรียมรับแรงกดดันจากหลายประเทศที่ตนดำเนินธุรกิจอยู่ ให้ยุติความสัมพันธ์กับเมียนมาด้วย

แนวโน้มที่กำลังก่อตัวชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ นี้ ทำให้ผู้เชี่ยวชาญเชื่อว่า ภาวะไหลออกของหุ้นส่วนธุรกิจจากเมียนมาน่าจะส่งผลเสียหนักต่อกองทัพเมียนมาพอควร ซึ่งซิโดติ มองว่า ทั้งหมดนี้อาจจะก่อความเสียหายด้านการเงินต่อธุรกิจเมียนมาที่มีกองทัพเป็นเจ้าของไม่น้อยด้วย

ส่วน แมคลอยด์ จากกลุ่ม Access Asia เสริมว่า แม้บริษัทสัญชาติจีนหลายแห่งอาจจะพร้อมและยินดีเข้ามาเติมช่องว่างที่ธุรกิจต่างชาติอื่นๆ ทิ้งเอาไว้ ความไม่ไว้เนื้อเชื้อใจของเมียนมาต่อจีนที่มีมายาวนานอาจไม่ทำให้การเปิดอ้าแขนรับบริษัทจีนเข้ามาช่วยแก้ปัญหาให้กองทัพเมียนมาเป็นไปอย่างง่ายดายอยู่ดี

XS
SM
MD
LG