นางเจเน็ต เยลเลน ผู้ที่ได้รับการทาบทามให้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีคลังสหรัฐฯคนต่อไป ภายใต้รัฐบาลของว่าที่ประธานาธิบดีโจ ไบเดน มีประวัติการทำงานทั้งงานที่ปรึกษาเศรษฐกิจให้กับรัฐบาลในอดีตและด้านนโยบายการเงินของระบบธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือเฟด (Federal Reserve)
เจเน็ต เยลเลน วัย 74 ปีในฐานะอดีตประธานเฟดและอดีตประธานสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจยุคอดีตประธานาธิบดีบิล คลินตัน กำลังเผชิญกับภารกิจสำคัญภายใต้รัฐบาลโจ ไบเดน ขณะที่เศรษฐกิจอเมริกันกำลังถูกรุมเร้าโดยผลกระทบจากการระบาดของโคโรนาไวรัส
หากได้รับอนุมัติในขั้นตอนกลั่นกรองของสภา เธอจะกลายเป็นสตรีคนเเรกที่ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีคลังของสหรัฐฯ
ในฐานะรัฐนตรีคลังงานส่วนหนึ่งจะเกี่ยวข้องกับปัจจัยการเมืองและกระบวนการต่างๆ ที่ต้องทำงานกับสมาชิกสภาคองเกรส โดยเฉพาะอย่างยิ่งการผลักดันมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ที่ขณะนี้เกิดความเห็นที่ไม่ลงรอยกันระหว่างฝ่ายการเมืองของพรรคเดโมเเครตและรีพับลิกัน
สำหรับงานสำคัญในอดีตของเธอที่คล้ายกับงานใหญ่ตรงหน้า นางเยลเลน เคยสนับสนุนมาตรการที่ช่วยคำ้จุนเศรษฐกิจสหรัฐฯ ภายหลังวิกฤตเมื่อปี ค.ศ. 2008 ซึ่งในตอนนั้นเฟดดำเนินมาตรการมูลค่า 3 ล้านล้านดอลลาร์ เพื่อพยุงเศรษฐกิจ
คาดว่าเธอมีความคิดที่สอดคล้องกับว่าที่ประธานาธิบดีไบเดน ที่ต้องการเห็นการออกความช่วยเหลือทางเศรษฐกิจต่อเจ้าของกิจการขนาดเล็ก เพื่อไม่ให้พวกเขาต้องล้มละลาย
เธอจะต้องรับไม้ต่อจากรัฐมนตรีคลังคนปัจจุบัน นายสตีฟ มนูชิน ที่มีความสัมพันธ์ค่อนข้างตึงเครียดกับประธานเฟด คนปัจจุบัน นายเจอโรม พาวเวลล์
กล่าวคือ รัฐมนตรีมนูชิน ภายใต้รัฐบาลประธานาธิบดีโดนัลด์ทรัมป์ตัดสินให้ยกเลิกโครงการให้เงินกู้ฉุกเฉิน ที่อยู่ในการบริหารของเฟด ซึ่งการตัดสินใจของนายมนูชิน ทำให้นายพาวเลล์แสดงความเห็นคัดค้าน
นางเจเน็ต เยลเลนเองถือว่าเป็นผู้เจนจัดในวงการนยบายเศรษฐกิจอเมริกันมานานหลายสิบปี
เธอเป็นสมาชิกของคณะกรรมการเฟด ที่ประกอบด้วยผู้ว่าการธนาคารกลางภูมิภาคต่างๆ ช่วงปี ค.ศ. 1994 ถึง ค.ศ. 1997 ภายใต้การนำของ นายอลัน กรีนสแปน ประธานเฟดในยุคนั้น
หลังจากนั้น นางเยลเลน รับตำแหน่งทางการเมืองสมัยอดีตประธานาธิบดีบิล คลินตัน ซึ่งมอบหมายให้เธอทำหน้าสำคัญเรื่องการให้คำปรึกษาด้านนโยบาย จนกระทั่งในปี ค.ศ. 2004 เธอหวนกลับมาทำงานด้านนโยบายการเงินให้กับเฟด ในตำแหน่งซีอีโอและกรรมการผู้จัดการใหญ่ของธนาคารกลางเขตซานฟรานซิสโก
เมื่อประธานาธิบดีบารัค โอบามาดำรงตำแหน่งผู้บริหารประเทศ เขาแต่งตั้งให้นางเยลเลน เป็นประธานเฟด ช่วงปี ค.ศ. 2014 ถึง ค.ศ. 2018 ถือเป็นจุดสูงสุดในเส้นทางอาชีพของเธอ
ในปีเเรกที่เธอดำรงตำแหน่งประธานเฟด สหรัฐฯเข้าสู่ปีที่ 6 หลังวิกฤตเศรษฐกิจ นางเยลเลนต้องรักษาสมดุลระหว่างการช่วยพยุงเศรษฐกิจและการควบคุมไม่ให้เกิดเงินเฟ้อ
นางเยลเลนจึงค่อยๆ ขึ้นอัตราดอกเบี้ย เริ่มตั้งแต่เดือนธันวาคมปี ค.ศ. 2015 ซึ่งก่อนหน้านี้ดอกเบี้ยนโยบายสหรัฐฯ อยู่ใกล้ระดับศูนย์เปอร์เซนต์มาหลายปี เธอยังค่อยๆ ให้เฟดขายสินทรัพย์ที่เคยรับซื้อไว้เพื่อพยุงเศรษฐกิจก่อนหน้านี้
ผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับเธอมองว่านางเยลเลนผ่อนคลายมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ช้าเกินไป และนักวิจารณ์มองว่าเเนวทางของเธออาจทำให้เกิดเงินเฟ้อได้
อย่างไรก็ตาม สหรัฐฯ มิได้เผชิญกับปัญหาเงินเฟ้อ และเมื่อนางเยลเลนหมดหน้าที่จากเฟดเมื่อ 2 ปีก่อน อัตราคนว่างงานของสหรัฐฯอยู่ที่ร้อยละ 4.1 ซึ่งถือว่าตำ่สุดในรอบเกือบ 20 ปี
สำหรับประวัติส่วนตัวและประวัติการศึกษา เจเน็ต เยลเลนเติบโตที่เขตบรูคลิน ของนครนิวยอร์ก เธอมีผลการเรียนเป็นที่หนึ่งของโรงเรียนรัฐในชั้นมัธยมปลาย ก่อนที่จะเรียนปริญญาตรีที่มหาวิทยาลัยบราวน์ และปริญญาเอกด้านเศรษฐศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยเยล
เธอยังเคยเป็นอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด มหาวิทยาลัยเเคลิฟอร์เนียวิทยาเขตเบิร์คลีย์ และมหาวิทยาลัย London School of Economics
นางเยลเลนสมรสกับ ศาสตราจารย์ด้านเศรษฐศาสตร์ เจ้าของรางวัลโนเบล นายจอร์จ เอเคอร์ลอฟ โดยเขาสอนอยู่ที่มหาวิทยาลัยจอร์จทาวน์ในกรุงวอชิงตัน