ลิ้งค์เชื่อมต่อ

'2017' ปีแห่ง ‘fake news’ และจุดเริ่มต้นของความสัมพันธ์สื่อกับรัฐบาลยุคใหม่


ในช่วงหนึ่งปีที่ผ่านมาความน่าเชื่อถือของข่าวสารตกเป็นถูกเป้าโจมตี และอาจกล่าวได้ว่าเป็นปรากฏการณ์ใหม่ ที่เกิดพร้อมๆ กับสื่อออนไลน์ที่แพร่ข้อมูลได้อย่างรวดเร็ว

คำว่า ‘fake news’ ถูกใช้ในสองบริบทใหญ่คือ การเผยแพร่ข้อมูลเท็จเพื่อหวังผลทางการเมือง เช่น การใช้ระบบคอมพิวเตอร์กระพือข่าวเท็จจนส่งผลถึงความคิดของคนในวงกว้าง

อีกบริบทที่ได้ยินบ่อยครั้งคือ การเรียกสำนักข่าวต่างๆ ที่ทำงานมานาน ว่าเป็นผู้เสนอข่าว ‘fake news’ ที่เชื่อถือไม่ได้

เหตุการณ์อย่างหลังนี้เกิดขึ้นบ่อยครั้ง เห็นได้จากที่ผู้นำสหรัฐฯ ประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ แสดงความคิดเห็นต่อสื่อ เช่น CNN, New York Times, Washington Post และ NBC

โดยรวมแล้วกระเเส ‘fake news’ ไม่ส่งผลดีต่อสื่อที่รายงานข้อเท็จจริง เพราะความไม่เชื่อใจสื่ออาจนำมาซึ่งการคุกคามผู้เสนอข่าวในหลายประเทศทั่วโลก

In this April 1, 2017, tweet, President Donald Trump talks about the news media and what he calls "fake news."
In this April 1, 2017, tweet, President Donald Trump talks about the news media and what he calls "fake news."

คอร์ทนีย์ เเร้ดช์ (Courtney Radsch) ผู้อำนวยการฝ่ายระดมการสนับสนุนแห่งหน่วยงานปกป้องเสรีภาพสื่อ Committee to Protect Journalists หรือ CJR กล่าวว่า ขณะนี้เกิดทางโจมตีสื่ออย่างที่ไม่เคยมีมาทั้ง ต่อสถาบัน องค์กรและตัวนักข่าวในระดับบุคคล

การทำสำรวจของหน่วยงาน CJR ในปีนี้ พบว่ามีนักข่าว 262 คนทั่วโลกที่ถูกกักขัง ซึ่งสูงกว่าปีก่อนหน้านั้นเล็กน้อย กว่าครึ่งหนึ่งของนักข่าวที่ถูกสั่งจำคุกอยู่ในประเทศจีน ตุรกี และอียิปต์

คอร์ทนีย์ เเร้ดช์ ให้สัมภาษณ์กับ Voice of America ว่า CJR พบการใช้คำว่า ‘fake news’ ในฟิลิปปินส์ รัสเซีย จีน และอียิปต์ เพื่อเป็นเหตุผลในการกดขี่และบั่นทอนความน่าเชื่อถือของสื่อ

นักวิชาการชาวอียิปต์ ฮิชาม เฮลเยอร์ (Hisham Hellyer) กล่าวว่า กระเเสการใช้คำว่า ‘fake news’ จากประธานาธิบดีทรัมป์ ส่งแรงกระเพื่อมที่สำคัญและไม่ควรมองข้าม เขากล่าวว่า การที่ผู้นำสหรัฐฯ ใช้เสรีภาพของตนแสดงความเห็นที่ดูหมิ่นสื่อเรื่องการเสนอความจริง เป็นพฤติกรรมที่ส่งเสริมให้ผู้อื่นทำตามเช่นเดียวกัน

ทัศนะของนักวิชาการผู้นี้คล้ายกับผู้ช่วยรัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ ในสมัยประธานาธิบดีบารัค โอบามา นายทอม มาลินาวสกี้ (Tom Malinowski)

เขากล่าวว่า ตอนนี้ผู้นำเผด็จการทุกคนที่ต้องการจัดการกับสื่อที่ตนไม่ชอบ สามารถพูดได้เเล้วว่า “เมื่อทรัมป์ทำได้แล้วทำไมเราจะทำไม่ได้บ้าง?”

เมื่อครั้งที่ประธานาธิบดี บาชา อัล อาสสาด ของซีเรีย ถูกถามเกี่ยวกับรายงานของหน่วยงานต่างประเทศ Amnesty International เรื่องการสังหารคนอย่างต่อเนื่องในคุกของซีเรีย เขากล่าวว่า “เรากำลังอยู่ในยุคของ ‘fake news’ อย่างที่ทุกคนก็รู้”

และนายกรัฐมนตรี ฮุน เซ็น ของกัมพูชา ซึ่งมักยกคำกล่าวของประธานาธิบดีทรัมป์ เรื่อง ‘fake news’ อยู่บ่อยๆ ได้ออกคำสั่งปิดสถานีวิทยุกว่าสิบแห่ง รวมถึงให้หยุดเผยแพร่ข่าวสารของ Voice of America และ Radio Free Asia และนายกรัฐมนตรี ฮุน เซ็น ยังได้สั่งปิดหนังสือพิมพ์อิสระไปแล้วอีกแห่งหนึ่งด้วย

การใช้คำว่า ข่าวเท็จ ยังปรากฏในรายงานเกี่ยวกับทัศนะด้านข่าวสาร ที่นายกรัฐมนตรี พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา บอกกับผู้สื่อข่าวไม่นานนี้

นอกจากนั้น ในเดือนนี้ สื่อของทางการจีน People’s Daily กล่าวว่า ถ้าประธานาธิบดีสหรัฐฯ เรียกสื่อชั้นนำในประเทศของตนว่าเป็นรอยด่างของประเทศ ข่าวในเชิงลบต่อจีนและประเทศอื่นๆ ก็ควรถูกพิจารณาด้วยความรอบคอบ เพราะเป็นไปได้ว่าอคติและการหวังผลทางการเมือง อาจกำลังบิดเบือนภาพที่แท้จริง

ด้านเจ้าหน้าที่ระดับสูงของจีนด้านความมั่นคงบนอินเตอร์เน็ท เรียกรายงานที่ระบุว่า จีนรั้งท้ายในการจัดอันดับเสรีภาพในการใช้อินเตอร์เน็ท เป็น ‘fake news’ ด้วย

(รัตพล อ่อนสนิท เรียบเรียงจากรายงานของ Peter Heinlein)

XS
SM
MD
LG