องค์การอุตุนิยมวิทยาโลกรายงานว่าปรากฏการณ์เอลนีโญ่ในมหาสมุทรแปซิฟิกในเขตร้อนจะรุนแรงที่สุดปรากฏการณ์หนึ่งในประวัติศาสตร์
ในช่วงที่เกิดปรากฏการณ์เอลนีโญ่ น้ำทะเลในมหาสมุทรแปซิฟิกตอนกลางและทางฝั่งตะวันออกจะอุ่นขึ้นกว่าปกติอย่างมาก ปรากฏการณ์เอลนีโญ่ส่งผลให้เกิดภาวะผันผวนทางสภาวะอากาศหลายอย่าง ตั้งแต่ภาวะฝนตกหนักจนถึงภาวะฝนแล้งหนักในบางส่วนของโลก
คุณ Rupa Kumar Kolli นักวิทยาศาสตร์ระดับอาวุโสแห่งองค์การอุตุนิยมวิทยาโลก (World Meteorological Organization) กล่าวว่าลักษณะของสภาวะอากาศต่างๆ ที่กำลังเกิดขึ้นชี้ว่าอุณหภูมิของน้ำในมหาสมุทรแปซิฟิกทางเขตร้อนน่าจะเพิ่มขึ้นกว่าระดับเฉลี่ยราว 2 องศาเซลเซียส
คุณ Kolli คาดว่าปรากฏการณ์เอลนีโญ่หนนี้จะเข้าสู่ช่วงรุนแรงที่สุดราวปีนี้จนถึงเดือนมกราคมปีหน้า และอาจจะกลายเป็นหนึ่งในสี่ของปรากฏการณ์เอลนีโญ่ที่รุนแรงที่สุดตั้งแต่ปีคริสตศักราช 1950
ปรากฏการณ์เอลนีโญ่ที่รุนแรงที่สุดสามครั้งที่ผ่านมาเกิดขึ้นในปีคริสตศักราช 1972-1973 ปีค.ศ. 1982-1983 และในปีค.ศ. 1997-1998
ในปีค.ศ. 1997-1998 ปรากฏการณ์เอลนีโญ่ทำให้คนเสียชีวิตประมาณ 2,100 คน สร้างความเสียหายแก่บ้านเรือนและทรัพย์สินทั่วโลกราว 3 หมื่นสามพันล้านดอลล่าร์สหรัฐ
บรรดานักอุตุนิยมวิทยาต่างเตือนว่า ผลกระทบจากภัยธรรมชาติที่เป็นผลพวงของปรากฏการณ์เอลนีโญ่อาจสร้างความเสียหายรุนแรงได้ แต่ชี้ว่าเราสามารถเตรียมตัวให้พร้อมเพื่อรับมือกับภัยธรรมชาติรุนแรงที่จะเกิดขึ้น
องค์การอุตุนิยมวิทยาโลกหรือ WMO ชี้ว่า อากาศที่อุ่นขึ้นเนื่องจากปรากฏการณ์เอลนีโญ่ จะทำให้เกิดฝนตกมาขึ้นให้บริเวณชายฝั่งตะวันตกของละตินอเมริกา และภาวะฝนแล้งฝนในออสเตรเลีย อินโดนีเชียและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
WMO ยังชี้ด้วยว่าปรากฏการณ์เอลนีโญ่จะทำให้ฝนตกมากขึ้น และเกิดภาวะน้ำท่วมในบริเวณ Horn of Africa ในขณะที่จะเกิดภาวะแห้งแล้งในแอฟริกาใต้
โดยปกติปรากฏการณ์เอลนีโญ่จะทำให้เกิดภาวะฝนตกหนักในช่วงฤดูหนาวที่บริเวณชายฝั่งในรัฐแคลิฟอร์เนีย
แต่บรรดานักวิทยาศาสตร์ WMO ชี้ว่าไม่เข้าใจว่าทำไมปรากฏการณ์เอลนีโญ่หนนี้ จึงไม่ก่อให้เกิดฝนตกในแคลิฟอร์เนียอย่างที่ควรจะเป็น
แคลิฟอร์เนียประสบกับภาวะแห้งแล้งมานานตลอด 4 ปีที่ผ่านมา