รายงานชิ้นใหม่ที่เปิดเผยในสัปดาห์นี้ ระบุว่าการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศโลก อาจเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกษตรกรในอินเดียฆ่าตัวตายมากขึ้น
ถือเป็นรายงานชิ้นแรกที่มีการวิเคราะห์ความเชื่อมโยงระหว่างอัตราการฆ่าตัวตายกับสภาพอากาศในอินเดีย
แต่ละปี มีชาวอินเดียฆ่าตัวตายราว 130,000 คน ส่วนใหญ่เป็นเกษตรกรที่ยากจนและมีหนี้สินล้นพ้นตัว โดยอัตราการฆ่าตัวตายในอินเดียนั้น เพิ่มขึ้นเป็นสองเท่าตั้งแต่ปี ค.ศ. 1980
คุณ Tamma Carleton แห่ง University of California วิทยาเขต Berkeley ผู้จัดทำรายงานชิ้นนี้ เชื่อว่า ปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศโลกได้ทำให้มีชาวอินเดียเสียชีวิตเพราะการฆ่าตัวตายราว 59,300 คน ในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา คิดเป็นอัตราส่วนที่เพิ่มขึ้น 6.8%
คุณ Carleton ค้นพบว่า ทุกๆ อุณหภูมิเฉลี่ยที่เพิ่มขึ้น 1 องศาเซลเซียส จะมีคนฆ่าตัวตายเพิ่มขึ้นเกือบ 70 คนในแต่ละวัน และที่สำคัญอัตราการฆ่าตัวตายมักเพิ่มขึ้นในช่วงที่มีการเพาะปลูก
ที่ผ่านมามีงานวิจัยบางชิ้นที่พูดถึงผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศโลกและภาวะโลกร้อน ที่มีต่อพืชผลทางการเกษตรที่ลดลง รวมถึงการเสียชีวิตของประชากรโลกจำนวนหลายแสนคนต่อปี อันเนื่องมาจากคลื่นความร้อน โรคระบาด และภัยธรรมชาติต่างๆ
แต่รายงานชิ้นนี้ถือเป็นชิ้นแรกที่มีการวิเคราะห์ความเชื่อมโยงระหว่างสภาพภูมิอากาศกับการฆ่าตัวตายของเกษตรกรอินเดีย เพราะความยากจนและผลผลิตที่ไม่เพียงพอต่อการดำรงชีพ
ผช.ศ. Marshall Burke แห่งมหาวิทยาลัย Stanford ชี้ว่า รายงานชิ้นนี้มีความสำคัญ เพราะอินเดียคือประเทศที่มีบทบาทอย่างยิ่งทางการเกษตรของโลก และอินเดียก็มีแนวโน้มที่จะแซงจีนขึ้นมาเป็นประเทศที่มีประชากรมากที่สุดในโลกด้วย
ดังนั้นการศึกษาอย่างจริงจังถึงผลกระทบและความสัมพันธ์ที่เกิดขึ้นตามที่รายในชิ้นนี้ระบุ จึงมีความสำคัญต่อการจัดทำนโยบายด้านประชากรศาสตร์ในอนาคต
เมื่อปี ค.ศ. 2015 เกษตรกรชาวอินเดียผู้หนึ่งตัดสินใจปลิดชีวิตตัวเองด้วยการแขวนคอ เพื่อประท้วงรัฐบาลของนายกฯ นเรนธรา โมดี จนก่อให้เกิดกระแสเรียกร้องจากเกษตรกรทั่วประเทศ ให้รัฐบาลหันมาให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมมากขึ้น
(ผู้สื่อข่าว Ben Thompson รายงาน / ทรงพจน์ สุภาผล เรียบเรียง)