ลิ้งค์เชื่อมต่อ

ธนาคารโลกเผย เอเชียตะวันออกและแปซิฟิกเผชิญแรงกระแทก 3 ทางจากวิกฤตโควิด-19


Economy
Economy

ธนาคารโลก เปิดเผยว่า ภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิกต้องเตรียมรับแรงกระแทก 3 ทางจากทั้งวิกฤตการระบาดของโควิด-19 เอง และผลกระทบทางเศรษฐกิจจากการดำเนินมาตรการควบคุมต่างๆ รวมทั้ง แรงกระเพื่อมจากสภาวะเศรษฐกิจโลกถดถอย พร้อมเรียกร้องให้ทุกประเทศลงมือดำเนินการนโยบายที่จำเป็นเพื่อรักษาสภาพเศรษฐกิจและป้องกันไม่ให้ปัญหาความยากจนเพิ่มขึ้นหลังจากนี้

ในรายงานล่าสุดที่ชื่อ From Containment to Recovery ซึ่งเป็นการนำเสนอข้อมูลด้านเศรษฐกิจประจำเดือนตุลาคมของปีนี้ สำหรับภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก ธนาคารโลกชี้ว่า ขณะที่หลายประเทศในภูมิภาคนี้สามารถควบคุมการแพร่กระจายของเชื้อโคโรนาไวรัสได้ และทำการฟื้นฟูกิจกรรมทางเศรษฐกิจของตนได้พอควร สิ่งที่ปฏิเสธไม่ได้คือ เศรษฐกิจโดยรวมของภูมิภาคยังคงพึ่งพาเศรษฐกิจของทั่วโลกอย่างมากอยู่ดี แต่ความต้องการจากทั่วโลกกลับยังอยู่ในภาวะซบเซา

ธนาคารโลกคาดการณ์ว่า เศรษฐกิจจีนน่าจะเติบโตในอัตรา 2 เปอร์เซ็นต์ในปีนี้ อันเป็นผลมาจากการใช้จ่ายภาครัฐ การส่งออกที่ยังแข็งแกร่ง และอัตราการติดเชื้อโควิด-19 ที่ต่ำ แต่ในเวลาเดียวกัน การขยายตัวของเศรษฐกิจอื่นๆ ในภูมิภาคนี้น่าจะปิดตัวปีนี้ที่ติดลบ 3.5 เปอร์เซ็นต์

สำหรับในปีหน้า ธนาคารโลกคาดการณ์ว่า เศรษฐกิจจีนจะเติบโตประมาณ 7.9 เปอร์เซ็นต์ ส่วนเศรษฐกิจของประเทศอื่นๆ จะขยายตัวราว 5.1 เปอร์เซ็นต์ ภายใต้สมมติฐานว่า การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจยังดำเนินต่อไปและกิจกรรมทางเศรษฐกิจของประเทศสำคัญๆ กลับคืนสู่สภาพปกติได้ เนื่องจากมีวัคซีนต้านโควิด-19 ออกมาใช้งาน

อย่างไรก็ตาม มีการประเมินว่า อัตราความยากจนในภูมิภาคนี้จะขยายตัวเป็นครั้งแรกในรอบ 20 ปี ด้วยตัวเลขคนยากจนราว 38 ล้านคนที่ไม่สามารถหลุดพ้น หรือกลับเข้าสู่ภาวะยากจนอีกครั้งเพราะวิกฤติโควิด-19

วิกตอเรีย ควาควา รองประธานธนาคารโลกประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก กล่าวว่า โควิด-19 ไม่ใช่เพียงกระทบกลุ่มคนยากจนมากที่สุดเท่านั้น แต่ยังสร้าง “คนจนกลุ่มใหม่” ขึ้นมาด้วย ทำให้ภูมิภาคนี้ต้องเผชิญหน้ากับความท้าทายมากมายที่ไม่เคยมีมาก่อน และรัฐบาลที่เกี่ยวข้องต้องรับมือกับสถานการณ์ที่ต้องทำการตัดสินใจอย่างยากลำบากด้วย

ขณะเดียวกัน รายงานล่าสุดนี้ เตือนว่า หากรัฐบาลทั้งหลายไม่ดำเนินการต่างๆ เพื่อรับมือทุกทางแล้ว วิกฤตครั้งนี้อาจทำให้อัตราการเจริญเติบโตของโลกในช่วงทศวรรษหน้าลดลงได้ถึง 1 เปอร์เซ็นต์ต่อปี โดยครัวเรือนที่ยากจนจะเป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบรุนแรงที่สุด

XS
SM
MD
LG