ลิ้งค์เชื่อมต่อ

คำในข่าว: บทเรียนหลังหุ้นสหรัฐฯ ร่วงหนักครั้งประวัติศาสตร์


Specialists John Parisi, left, and Michael Gagliano work on the floor of the New York Stock Exchange, Feb. 5, 2018.
Specialists John Parisi, left, and Michael Gagliano work on the floor of the New York Stock Exchange, Feb. 5, 2018.

หนึ่งปรากฏการณ์ที่สร้างแรงสั่นสะเทือนให้กับโลก หลังตลาดหุ้นสหรัฐฯดิ่งหนักสุดในประวัติศาสตร์ ดัชนีร่วงลงกว่า 1,100 จุด สร้างแรงกระเพื่อมต่อตลาดหุ้นทั่วโลกด้วยเช่นกัน

การร่วงดิ่งลงของตลาดหุ้นสหรัฐฯ ครั้งนี้ ส่งสัญญาณมาตั้งแต่เริ่มต้นเมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา เมื่อดัชนีดาวน์โจนส์ร่วงลงไป 2.5% หรือกว่า 600 จุด และเมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ดัชนีตลาดหุ้นสหรัฐฯ ลดลงกว่า 4% ดาวน์โจนส์ร่วงลงถึง 1,176 จุด ปรับลดลงมากที่สุดเป็นประวัติการณ์ ส่วน S&P ลดลงมากกว่า 100 จุด

บรรดานักวิเคราะห์คาดการณ์ว่า การดิ่งลงของตลาดหุ้นสหรัฐฯ เป็นผลจากความกังวลของนักลงทุนต่อภาวะเงินเฟ้อในสหรัฐฯ อัตราค่าจ้างของแรงงานอเมริกันที่เพิ่มขึ้นในระดับที่รวดเร็วที่สุดในรอบ 8 ปี จะเร่งให้ระบบธนาคารกลางสหรัฐฯ ขึ้นดอกเบี้ยเร็วกว่าที่คาดกันไว้ บวกกับรายงานผลประกอบการของบริษัทใหญ่ต่างๆ ที่ไม่สู้ดีนัก

การร่วงลงของตลาดหุ้นสหรัฐฯ ครั้งนี้ถือว่ามากที่สุดนับตั้งแต่ช่วงที่สหรัฐฯถูกปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือโดย Standard & Poor เมื่อเดือนสิงหาคม 2554 แต่ยังไม่เลวร้ายเท่ากับ Black Monday เมื่อปี 2530 และวิกฤตการเงินซับไพรม์ของสหรัฐฯ เมื่อปี 2551

สิ่งที่เราได้เรียนรู้จากเหตุการณ์นี้ นอกเหนือจากคำเตือนสำหรับการลงทุนที่ว่า “การลงทุนมีความเสี่ยง ผู้ลงทุนควรศึกษาข้อมูลก่อนตัดสินใจลงทุน” นั่นคือ คำในข่าวที่เกี่ยวข้องกับตลาดหุ้นที่ร้อนแรงอย่างมากในตอนนี้

ในกรณีที่ตลาดหุ้นปรับตัวลดลง มักจะพบคำว่า fall, drop, skid, decline, sideway down หรือจะพบผู้รายงานข่าวมักจะใช้คำว่า in the red นั่นคือ ตลาดหุ้นวันนี้อยู่ในแดนลบ

ส่วนกรณีที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์นั้น เป็นการปรับตัวลดลงอย่างหนักของดัชนีหุ้นสหรัฐฯ ซึ่งจะพบคำว่า plunge, nosedive, tumble, waterfall crashette, free fall, slump, sink ซึ่งล้วนหมายถึงหุ้นดิ่งหรือร่วงหลายร้อยหลายพันจุด

ฟ้าหลังฝนย่อมสดใสเสมอ ถ้าเป็นการฟื้นตัวของตลาดหุ้น จะพบคำว่า rebound ที่ภาษาหุ้นมักจะใช้ทับศัพท์ไปตรงๆ หรือจะคำว่า recover, regain ground, climb back, bounce back

ส่วนในกรณีวันที่ 6 กุมภาพันธ์ที่ตลาดหุ้นฟื้นตัวกลับมาจากวิกฤตนั้น นักวิเคราะห์เรียกปรากฏการณ์นี้ว่า Tuesday Turnaround ซึ่งถ้าดูการซื้อขายตลอดทั้งวันจะพบว่า การปรับตัวของดัชนีค่อนข้างผันผวน ซึ่งจะใช้คำว่า volatile, swing, gyrate, whipsaw และ seesaw

แต่ถ้าตลาดหุ้นสดใสอยู่ในแดนบวก ปรับตัวเพิ่มขึ้น จะพบคำว่า rise, soar, surge, spike, gain

XS
SM
MD
LG