ในช่วงที่ผ่านมา เราได้เห็นผู้ชายในหลากหลายสาขาอาชีพ ต้องหมดอนาคตกับการเคลื่อนไหวของผู้หญิงร่วมวงการ ที่ลุกขึ้นมาเรียกร้องและเปิดเผยการถูกคุกคามทางเพศของพวกเธอ
ล่าสุดเป็นคราวของวุฒิสมาชิกจากพรรคเดโมแครต อัล แฟรนเคน (Al Franken) ประกาศลาออกจากตำแหน่งหลังจากมีผู้หญิง 6 คนร้องเรียนว่าถูกคุกคามทางเพศโดยวุฒิสมาชิกแฟรนเคน ตามหลัง จอห์น คอนเยอร์ส (John Conyers) ส.ส. ร่วมพรรค
แต่ในกรณีของนายแฟรนเคนนำไปสู่ประเด็นร้อนทางการเมืองอย่างมาก เพราะเรื่องของ อัล แฟรนเคน ถูกเปิดเผยพร้อมๆกับกระแสข่าวที่นายรอย มอร์ ผู้สมัครชิงตำแหน่งวุฒิสมาชิกจากรัฐแอละบามาจากพรรครีพับลิกันฝั่งตรงข้าม โดนรุมเร้าด้วยข้อกล่าวหาที่ว่าเขากระทำผิดทางเพศต่อเด็กสาววัยก่อนบรรลุนิติภาวะ เมื่อประมาณ 40 ปีก่อน ขณะที่เขาอายุ 30 กว่าปี
ในสื่ออเมริกันมีการหยิบยกกรณีของอัล แฟรนเคน มาพูดถึงอย่างมาก บทความจาก Washington Post หยิบยกกรณีของ อัล แฟรนเคน ที่แม้จะปฏิเสธข้อกล่าวหา แต่ก็ตัดสินใจลาออกอยู่ดี ซึ่งบางช่วงบางตอนนั้น ระบุว่า พรรคเดโมแครตต้องการให้นายอัล แฟรนเคน ลาออกจากตำแหน่ง เพื่อต้องการ “Clean the Stables” จากปัญหาการคุกคามทางเพศที่คาราคาซังของสมาชิกในพรรค
ขณะที่อีกบทความ “Roy Moore and the Augean Stables” จาก Chronicles Magazine พูดถึงกรณีที่วุฒิสมาชิกฝั่งแดโมแครตพากันลาออกเพื่อรับผิดชอบกับสิ่งที่เกิดขึ้น แต่ฝั่งพรรครีพับลิกัน กลับเดินหน้าออกมาแก้ต่างว่าไม่มีอะไรในกอไผ่ พ่วงท้ายด้วยประธานาธิบดีทรัมป์ออกมาตำหนินายอัล แฟรนเคน แต่กลับสนับสนุนนายรอย มอร์ ตัวแทนพรรครีพับลิกัน และอ้างว่านายมอร์ได้ปฏิเสธข้อกล่าวหาไปแล้ว นำไปสู่การวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก จนกระทั่ง New York Times ตั้งคำถามว่า เกิดอะไรขึ้นกับข้อกล่าวหาของผู้หญิง 16 คนที่ว่านายทรัมป์ล่วงละเมิดพวกเธอ?
สิ่งที่น่าสนใจของบทความทั้งสองนี้ คือ คำว่า The Augean Stables ที่มีที่มาที่ไปจากตำนานกรีกโบราณ ว่าด้วยหนึ่งในภารกิจอันหนักอึ้งของเฮอร์คิวลิส หรือ The Twelve Labours of Hercules
ภารกิจที่ 5 ของเฮอร์คิวลิส คือ การทำความสะอาดคอกปศุสัตว์ของออเจอัส หรือ Augean Stables ซึ่งความยากของงานนี้ เป็นงานที่สกปรก แถมคอกที่ว่าไม่ใช่เล็กๆ แต่สุดท้ายเฮอร์คิวลิสที่เป็นครึ่งมนุษย์ครึ่งเทพเจ้า ก็สามารถพิชิตภารกิจนี้ได้ภายในวันเดียว
ในยุคปัจจุบัน คอกปศุสัตว์ของออเจอัส หรือ The Augean Stables หมายถึง สถานการณ์ที่เต็มไปด้วยความสกปรกและความฉาวโฉ่ และเป็นสำนวนตะวันตกที่ว่า "To Clean the Stables" แปลว่า การพยายามชำระล้างมลทิน หรือกลบเกลื่อนเรื่องฉาวโฉ่
ซึ่งในกรณีของ อัล แฟรนเคน นั้น เปรียบได้กับการที่สมาชิกพรรคเดโมแครตพยายามจัดการกับผู้ที่ประพฤติตนไม่เหมาะสมในพรรค เพื่อให้สามารถโจมตีฝั่งตรงข้ามได้อย่างสนิทใจไม่มากก็น้อย!