ลิ้งค์เชื่อมต่อ

เปิดใจ 'ทนายจูน - ศิริกาญจน์ เจริญศิริ' ทนายความหญิงไทย เจ้าของรางวัล "สตรีผู้หาญกล้า" 


เปิดใจ 'ทนายจูน-ศิริกาญจน์ เจริญศิริ" ทนายความหญิงไทย เจ้าของรางวัล"สตรีผู้หาญกล้า"

please wait

No media source currently available

0:00 0:04:50 0:00

'งานด้านสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตยเป็นงานที่ต้องทำต่อเนื่องและคงไม่สำเร็จลงได้โดยง่าย' คือสิ่งที่ น.ส. ศิริกาญจน์ เจริญศิริ ทนายความและผู้เชี่ยวชาญด้านข้อมูลของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน หรือ Thai Lawyers for Human Rights ยืนยันถึงความมุ่งมั่นในการทำงานของเธอ ระหว่างการให้สัมภาษณ์กับวีโอเอ ภาคภาษาไทย หลังขึ้นรับรางวัล International Women of Courage หรือ รางวัลสตรีผู้หาญกล้า ประจำปีคริสต์ศักราช 2018 จากนางเมลาเนีย ทรัมป์ สุภาพสตรีหมายเลข 1 ที่กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ในกรุงวอชิงตัน เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา

ในปีนี้มีสตรี 10 คนจากทั่วโลก ที่ได้รับคัดเลือกให้ขึ้นรับรางวัลที่ให้การยกย่องสตรีผู้มีผลงานโดดเด่น และแสดงความกล้าหาญ มีบทบาทในด้านการเป็นผู้นำปกป้องสิทธิมนุษยชน การส่งเสริมประชาธิปไตย ความเท่าเทียมทางเพศ และความก้าวหน้าทางสังคม แม้หลายคนจะต้องเผชิญกับภัยคุกคามและข้อจำกัดหลายด้านในแต่ละประเทศก็ตาม

ศิริกาญจน์ บอกว่า เธอทำงานเป็นทนายความ และเป็นหนึ่งในทนายความที่ร่วมก่อตั้งศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน หลังการรัฐประหาร เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 ทำงานให้ความช่วยเหลือด้านกฎหมายแก่ผู้ที่ถูกควบคุมตัวหรือละเมิดโดยมิชอบจากรัฐบาลทหาร

Sirikan Charoensiri (Thailand) - Co-Founder, Thai Lawyers for Human Rights.
Sirikan Charoensiri (Thailand) - Co-Founder, Thai Lawyers for Human Rights.

นอกจากนี้ยังรวมไปถึงการทำงานเพื่อปกป้องการใช้เสรีภาพชุมนุมโดยสงบ เสรีภาพในการแสดงออก และการเก็บข้อมูลการละเมิดสิทธิมนุษยชน

แต่ที่ผ่านมาเธอกลับถูกเดำเนินคดีจากเจ้าหน้าที่ถึง 3 คดี ในฐานะทนายความที่ทำงานช่วยเหลือด้านกระบวนการยุติธรรมแก่ลูกความของเธอ โดยเฉพาะการเป็นทนายคนแรกที่ถูกแจ้งข้อหา

ศิริกาญจน์ บอกว่า การรับรางวัลสตรีผู้หาญกล้าครั้งนี้หมายถึงการยอมรับจากเวทีนานาชาติ และมีความหมายอย่างมากต่องานที่เธอทำในการปกป้องสิทธิมนุษยชน ประชาธิปไตย เช่นเดียวกับเพื่อนร่วมงานของเธอ และผู้คนที่ต่อสู้ในเรื่องนี้ โดยเฉพาะการอยู่ภายใต้ข้อจำกัดหลายด้านในการแสดงสิทธิขั้นพื้นฐาน เช่น การชุมนุมโดยสงบ และในการแสดงออกความคิดเห็น ที่ยังเป็นข้อห้ามภายในการปกครองคณะรัฐบาลทหาร

ทนายความเจ้าของรางวัลสตรีผู้หาญกล้า กล่าวถึงสิ่งต้องทำต่อไปว่า เธอจะยังคงยืนหยัดทำงานของเธอ เพราะงานด้านสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตยเป็นงานที่ต้องทำต่อเนื่องและจะไม่สำเร็จลงได้ง่ายๆ

'ทนายจูน" กล่าวในท้ายที่สุดว่า การเดินทางมารับรางวัลครั้งนี้ เธอมาในฐานะตัวแทนของหญิงไทยอีกจำนวนมาก ที่ไม่เคยยอมแพ้ และพร้อมจะยืนหยัดต่อสู้เพื่อผู้อื่น

ขณะเดียวกันก็หวังว่าเรื่องราวของเธอจะเป็นแบบอย่างให้ผู้คนทั่วโลกได้รับรู้และกล่าวถึง เพื่อที่จะส่งความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันไปยังคนไทยทั้งประเทศด้วยเช่นกัน

ทนายจูน หรือ ศิริกาญจน์ เจริญศิริ ถือเป็นผู้หญิงไทยคนที่ 2 ต่อจาก 'รจเรข วัฒนพาณิชย์' เจ้าของร้านหนังสือ Book Re:public ที่เชียงใหม่ และผู้ก่อตั้งโครงการห้องเรียนประชาธิปไตย หรือ Cafe’ Democracy ในประเทศไทย ที่เดินทางมารับรางวัลเดียวกันนี้เมื่อปี พุทธศักราช 2559

รางวัลสตรีผู้หาญกล้า หรือ International Women of Courage โดยกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ พิจารณามอบรางวัลให้กับสตรีจากทั่วโลกเป็นประจำทุกปี มาตั้งแต่ ปีพุทธศักราช 2550 โดยตลอด 12 ปีที่ผ่านมามีผู้ได้รับรางวัลเป็นสตรีผู้กล้าในบทบาทต่างๆ มาแล้วกว่า 120 คน จาก 65 ประเทศ

XS
SM
MD
LG