ลิ้งค์เชื่อมต่อ

ความแตกต่างด้านรายได้ 'หญิง-ชาย' และการเลือกเรียนวิชาเอกในมหาวิทยาลัย เกี่ยวข้องกันอย่างไร?


please wait

No media source currently available

0:00 0:03:13 0:00


ข้อมูลของสหประชาชาติชี้ว่า ทั่วโลกผู้หญิงคิดเป็นเพียงร้อยละ 28 ของผู้ที่ทำงานด้านวิทยาศาสตร์สาขาหลักๆ

นักการศึกษาในสหรัฐฯ ระบุว่าค่านิยมของสังคมมีส่วนอย่างมากในการเลือกสาขาเรียนระดับมหาวิทยาลัย สำหรับผู้หญิงและผู้ชาย

อาจารย์ Anthony Carnevale จากมหาวิทยาลัย Georgetown ในกรุงวอชิงตัน ให้ข้อมูลเพิ่มว่า จนถึงทุกวันนี้ผู้หญิงยังคงเป็นส่วนใหญ่ของผู้ลงเรียนในสาขาที่เป็นอาชีพรายได้ต่ำที่สุด

ตัวอย่างเช่น การเรียนครุศาสตร์ด้านการสอนเด็กปฐมวัย ที่ผู้เรียนด้านนี้ 97 เปอร์เซ็นต์เป็นผู้หญิง อาชีพด้านนี้เป็นงานที่ติดอันดับเกือบต่ำสุดด้านรายได้ในสหรัฐฯ คือได้เงินเดือนต่อปีเฉลี่ย 36,000 ดอลลาร์ต่อปี หรือ 3,000 ดอลลาร์ต่อเดือน คิดเป็นเงินไทยเดือนละ 105,000 บาท

ข้อมูลดังกล่าวมาจากศูนย์ Center on Education and the Workforce แห่งมหาวิทยาลัย Georgetown ที่อาจารย์ Carnevale เป็นผู้อำนวยการอยู่

และอีกตัวอย่างหนึ่งคือ การเรียนสาขาการบำบัดผู้มีปัญหาในการสื่อสารหรือ Communication Disorders ซึ่งร้อยละ 94 ของผู้ลงเรียนเป็นสตรี

และอาชีพนี้เป็นหนึ่งในสิบอาชีพที่ให้รายได้น้อยที่สุด

ในทางกลับกัน อาชีพที่ติดสิบอันดับแรกที่ให้ค่าตอบแทนดีที่สุด 8 ใน 10 อาชีพ มีผู้ชายเป็นผู้เรียนสาขานั้นๆ อยู่มากกว่าร้อยละ 80 ตามการวิเคราะห์ของสถาบัน AEIdea

ในบรรดาสาขาวิชาเหล่านี้ ประกอบด้วย วิศวกรรมเครื่องกลและวิศวกรรมเหมืองแร่ ซึ่งมีสัดส่วนผู้ชายร้อยละ 90 ในจำนวนนักเรียนที่ลงเรียนเป็นวิชาเอก

และผู้ที่จบสองสาขานี้รับรายได้เฉลี่ยต่อปี 80,000 ดอลลาร์ในสหรัฐฯ มากกว่าสองเท่าของสาขาครุศาสตร์ด้านการสอนเด็กปฐมวัย ที่ร้อยละ 97 ของผู้เรียนเป็นผู้หญิง

สถิติระดับนานาชาติจากหน่วยงาน UNESCO ของสหประชาชาติเมื่อ 2 ปีก่อน ชี้ว่า ทั่วโลก ผู้หญิงคิดเป็นเพียงร้อยละ 28 ของผู้ที่ทำงานด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรม และคณิตศาสตร์

แต่การวิจัยของรัฐบาลอเมริกันแสดงให้เห็นว่า ปัญหาเรื่องรายได้ต่ำและสาขาเรียนของสตรี อาจเป็นเรื่องที่คล้ายกับปัญหาไก่กับไข่ เพราะข้อมูลระบุว่า อาชีพที่ผู้หญิงเริ่มมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นในสายงานที่เดิมทีเป็นอาชีพของผู้ชาย อาชีพเหล่านั้นกลับค่อยๆ มีรายได้น้อยลง

(รายงานโดย Elly Yijin Kim / รัตพล อ่อนสนิท เรียบเรียง)

XS
SM
MD
LG