กระแสผลิตภัณฑ์ลดน้ำหนักอย่างรวดเร็วในอเมริกากำลังกลายเป็นที่พูดถึงอย่างมากในช่วงนี้ ซึ่งผู้เชี่ยวชาญตั้งข้อสังเกตว่า รอบเอวชาวอเมริกันที่ลดลงไปจากผลิตภัณฑ์ดังกล่าว อาจหมายถึงยอดขายของอาหารขยะในอเมริกาที่ลดฮวบลงไปด้วยหรือไม่?
ในขณะที่ชาวอเมริกันหันมาลดน้ำหนักโดยการใช้ปากกาลดความอ้วน อย่างโอเซ็มปิค (Ozempic) สิ่งที่อาจทำให้สัดส่วนยอดขายของบรรดาบริษัทอาหารขบเคี้ยวทั้งหลายหดตัวลงไปด้วยเช่นกัน
พาเมลา คอฟแมน นักวิเคราะห์ด้านอาหารของบริษัทมอร์แกน สแตนลีย์ (Morgan Stanley) กล่าวไว้ในรายงานของบริษัทว่า “ความต้องการของผู้บริโภคในอุตสาหกรรมอาหาร เครื่องดื่ม และร้านอาหารอาจลดน้อยลงไป โดยเฉพาะอาหารที่ไม่ดีต่อสุขภาพ รวมถึงตัวเลือกที่มีไขมัน หวาน และเค็มสูง”
การสำรวจผู้ใช้ยาลดน้ำหนักประเภทเซมากลูไทด์อย่างเช่น โอเซ็มปิค จำนวน 300 คน พบว่ายาดังกล่าวสามารถลดปริมาณแคลอรี่ที่บริโภคเข้าไปได้วันละ 20% ถึง 30%
ผู้ร่วมการสำรวจกล่าวว่า โดยมากแล้วพวกเขาลดการบริโภคอาหารที่มีน้ำตาลและไขมันในปริมาณสูงลง โดยลดการบริโภคขนมหวาน เครื่องดื่มที่มีน้ำตาล และขนมอบลงในอัตราส่วน 2 ใน 3 ของอาหารที่บริโภค
นอกจากนี้ การสำรวจพบยังว่า 77% ของผู้ที่ใช้ยาลดน้ำหนักซื้ออาหารในร้านฟาสต์ฟู้ดกันน้อยลง ในขณะที่ 74% ไปร้านพิซซ่ากันน้อยลงอีกด้วย
ข้อมูลของศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่งสหรัฐฯ หรือ CDC ระบุว่า ราว 1 ใน 5 ของผู้ใหญ่ชาวอเมริกันเป็นโรคอ้วน
แองเจลิกา จิแอนชานดานี ศาสตราจารย์ด้านการตลาดจากมหาวิทยาลัย นิว เฮเวน รัฐคอนเนตทิคัต กล่าวว่า “บรรดาบริษัทอาหารและเครื่องดื่มล้วนมีส่วนทำให้ผู้คนเป็นโรคอ้วน” ครั้งหนึ่ง สิ่งเหล่านี้อาจเคยเป็นนวัตกรรม ซึ่งก็คือการสร้างผลิตภัณฑ์อาหารที่มีความแตกต่าง ที่สามารถบรรจุลงในถุงพลาสติกและซิปล็อค รวมทั้งพกพาและขนส่งได้ง่าย แต่การสร้างสินค้าอาหารในบรรจุภัณฑ์เหล่านี้ ล้วนแต่เป็นอาหารแปรรูป ซึ่งผลที่ตามมาก็คือ หากไม่รับประทานอาหารดังกล่าวในปริมาณที่พอเหมาะ อาจทำให้เป็นโรคอ้วนได้
นักวิเคราะห์ของมอร์แกน สแตนลีย์ ประมาณการว่าผู้คน 24 ล้านคน หรือราว 7% ของประชากรสหรัฐฯ จะใช้ยารักษาโรคอ้วนชนิดใหม่นี้ภายในปี 2035 และยังคาดการณ์ว่าการบริโภคน้ำอัดลม ขนมอบ และขนมขบเคี้ยวที่มีรสเค็มโดยรวมอาจลดลงถึง 3% ภายในปี 2035 อีกด้วย
แต่เจมส์ ชเรเจอร์ ศาสตราจารย์ด้านผู้ประกอบการและกลยุทธ์ที่มหาวิทยาลัยชิคาโกกล่าวว่า อุตสาหกรรมขนมขบเคี้ยวจะยังคงเติบโตต่อไป และเขาไม่ได้คาดหวังว่าการใช้เซมากลูไทด์ที่เพิ่มขึ้นจะมีผลกระทบที่สำคัญในระยะยาว โดยบอกว่า “การเติบโตของอุตสาหกรรมดังกล่าวมาจากกล่มที่อายุยังน้อย ซึ่งอาจไม่ใช่เป้าหมายหลักของการใช้ยาลดความอ้วน เพราะโดยปกติคนที่อายุน้อยเหล่านี้จะไม่อ้วน หรืออย่างน้อยก็ในหลาย ๆ กรณี ดังนั้นจึงไม่จำเป็นต้องใช้ยา”
ชเรเจอร์กล่าวต่อไปอีกว่า เขาเคยทำงานเป็นที่ปรึกษาให้กับบริษัทอาหารแปรรูปที่ใหญ่ที่สุดในโลกหลายแห่ง และบริษัทเหล่านั้นก็มีความกังวลเกี่ยวกับการจัดหาทางเลือกที่เป็นประโยชน์ต่อสุขภาพตั้งแต่ก่อนที่จะมีการใช้ยาลดความอ้วนอยู่แล้ว พวกเขามักจะพูดเสมอว่า การที่ผู้คนทั่วโลกหันมาใส่ใจในเรื่องของสุขภาพกันมากขึ้น บริษัทก็อาจจะต้องเลิกกิจการ หากไม่หาหนทางแก้ปัญหา
ขณะเดียวกัน การใช้ยาลดความอ้วนเซมากลูไทด์ที่เพิ่มขึ้นอาจส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการเป็นโรคอ้วนด้วย อย่างเช่น สัดส่วนของผู้ที่จ่ายค่าโปรแกรมลดน้ำหนักลดลงจาก 29% เหลือ 20% เมื่อผู้คนเริ่มหันมาใช้ยาลดน้ำหนัก ซึ่งจิแอนชานดานีกล่าวว่า บรรดาธุรกิจด้านการลดน้ำหนักต้องให้ความสำคัญในเรื่องของสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี หากต้องการให้ธุรกิจของตนอยู่รอดต่อไป
รายงานพบว่าผู้ป่วยที่รับประทานยารักษาโรคอ้วนกล่าวว่า พวกเขาลดการดื่มน้ำอัดลมที่มีน้ำตาลลง 65% และลดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ลง 62% นอกจากนี้เกือบ 25% เลิกดื่มแอลกอฮอล์โดยสิ้นเชิง
แต่จิแอนชานดานีกล่าวว่า บรรดาผู้ผลิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จะยังได้รับประโยชน์จากความนิยมในการใช้ยาเซมากลูไทด์ด้วย กล่าวคือ ผู้ผลิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้พัฒนาเครื่องดื่มที่มีแคลอรี่ต่ำมากขึ้นเรื่อย ๆ นอกจากนี้ ยังจะมีสายผลิตภัณฑ์ใหม่ที่กำหนดเป้าหมายไปยังกลุ่มประชากรที่ใช้ยาลดความอ้วนทั้งหมด ซึ่งจะเป็นตลาดที่มีมูลค่าหลายล้านดอลลาร์เลยทีเดียว
- ที่มา: วีโอเอ
กระดานความเห็น