เวลานี้ สหรัฐฯ มีผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่เกือบ 1 ล้าน 5 แสนคนต่อวัน ซึ่งนับเป็นจำนวนผู้ติดเชื้อใหม่รายวันสูงที่สุดเมื่อเทียบกับในทุกประเทศด้วย และความเครียด ความกังวล รวมทั้งความไม่แน่นอนของสถานการณ์ล้วนส่งผลกดดันต่อการใช้ชีวิตของผู้คน โดยมีบางส่วนกำลังเริ่มไม่แน่ใจว่าโรคระบาดใหญ่นี้จะผ่านพ้นไปได้เร็วอย่างที่เคยคาดไว้หรือไม่
อาจารย์ Karestan C. Koenen จากภาควิชาระบาดวิทยาของคณะสาธารณสุขศาสตร์ T.H. Chan ของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด เปรียบเทียบสถานการณ์เกี่ยวกับโควิด-19 ขณะนี้ว่าเหมือนกับเราเดินไปข้างหน้าได้สองก้าวแต่ก็ต้องถอยหลังกลับมาสองก้าวเช่นกัน เพราะทุกครั้งที่คิดว่าสถานการณ์เริ่มจะดีขึ้นก็มักจะมีปัญหาใหม่เข้ามาซ้ำเติมส่วน ดร. David Aronoff ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคติดเชื้อและหัวหน้าภาควิชาการแพทย์ที่คณะแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยอินเดียนา ก็กล่าวว่า ดูเหมือนว่าโลกกำลังขับยานพาหนะด้านสาธารณสุขท่ามกลางสภาพอากาศที่เลวร้ายจากโรคระบาดใหญ่ และถึงแม้รถคันนี้จะมีไฟหน้าซึ่งสว่างที่สุดก็ตาม แต่เราก็ไม่สามารถมองทะลุกลุ่มหมอกหนานี้ไปได้ ทั้งยังไม่รู้ว่าจะมีอุปสรรคกีดขวางอะไรอยู่บนถนน ซึ่งก็คือเชื้อกลายพันธุ์ใหม่ ๆ ที่รออยู่เพื่อสร้างปัญหานั่นเอง
ส่วนพาดหัวของบทความชิ้นหนึ่งบนเว็บไซต์ของบริษัทที่ปรึกษา McKinsey & Company เมื่อเดือนธันวาคม ถึงกับบ่นว่า เมื่อไรโควิด-19 ถึงจะจบลงเสียที? โดยบทความชิ้นนี้ยังเตือนด้วยว่า โอมิครอนนับเป็นเครื่องย้ำเตือนที่ทำให้ทุกคนตาสว่างว่า เชื้อไวรัสชนิดนี้มีข้อได้เปรียบจากการกลายพันธุ์ได้เก่ง ทั้งยังสามารถพัฒนาเป็นสายพันธุ์ใหม่เร็วกว่าที่เราคาดกันด้วย เรื่องดังกล่าวทำให้การเตรียมความพร้อมทั้งในแง่สุขภาพร่างกายและความเข้มแข็งของจิตใจเป็นสิ่งที่จำเป็น โดยอาจารย์ Christine Runyon จากภาควิชาเวชศาสตร์ครอบครัวและสุขภาพชุมชน ของคณะแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยแมสซาชูเซตส์ บอกว่า เราทุกคนล้วนแต่รู้สึกเหนื่อยล้าและคับข้องใจที่ไม่สามารถคาดการณ์อะไรได้เลยจากการระบาดใหญ่ครั้งนี้ และด้วยเหตุนี้ หากมีการระบาดใหญ่ครั้งต่อไปเกิดขึ้นผู้ที่มีความพร้อมและมีความยืดหยุ่นด้านอารมณ์และจิตใจมากกว่าก็จะรู้สึกท้อแท้และผิดหวังน้อยกว่าด้วยและถึงแม้อาจารย์ Runyon จะคาดว่า การระบาดของเชื้อสายพันธุ์โอมิครอนนี้จะขึ้นถึงขีดสูงสุดในช่วงปลายเดือนมกราคม แล้วจะค่อย ๆ ลดลงในช่วงเดือนกุมภาพันธ์และมีนาคมก็ตาม แต่เธอก็เตือนว่า อาจจะมีเชื้อกลายพันธุ์ชนิดอื่นตามมาอีกได้
ส่วนคุณ Kevin Antshel ผู้อำนวยการโครงการจิตวิทยาคลินิกของมหาวิทยาลัยซีราคิวส์ ก็บอกว่า ขณะนี้กำลังมีความรู้สึกในแง่ลบว่าโควิด-19 คงจะไม่หายไปไหนในเร็ววัน ดังนั้นเราจึงต้องมีความอดทนและยอมรับเรื่องความไม่แน่นอน เพื่อให้สามารถปรับตัวเข้ากับชีวิตวิถีใหม่ได้ รวมทั้งยังจะต้องอาศัยระบบช่วยสนับสนุนทางสังคมที่เข้มแข็งด้วย
ในส่วนของคนอเมริกันบางคนนั้น คุณ Rosemary McMahon จากรัฐฟลอริดา ยอมรับว่าโควิด-19 คงจะอยู่กับเราไปอีกนาน แต่เธอจะไม่ยอมให้เรื่องนี้มาเป็นปัญหาต่อสภาพจิตใจ ส่วนคุณ Carolyn Turner จากรัฐแคลิฟอร์เนีย ให้ความเห็นว่า รัฐบาลทุกประเทศควรต้องออกกฎบังคับให้ผู้คนฉีดวัคซีนสำหรับโรคระบาดใหญ่ทุกโรค เพราะคนที่ไม่ยอมรับวัคซีนทำให้สังคมโดยรวมตกอยู่ในอันตราย แต่ไม่ว่าความเห็นและความพร้อมเพื่อรับมือกับโควิด-19 จะเป็นอย่างไรก็ตาม อาจารย์ Koenen จากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด เชื่อว่า จะมีคนอเมริกันมากขึ้นที่เลือกจะใส่หน้ากากในแทบทุกเวลาและโอกาส และอาจจะมีวิถีใหม่ซึ่งผู้คนไม่ยอมรับผู้ที่เป็นหวัดแต่ไม่ยอมลางานส่วน ดร. Aronoff ของมหาวิทยาลัยอินเดียนา ก็เสริมว่า เรื่องที่สำคัญอย่างยิ่งคือความสามารถในการคาดการณ์ว่าโรคระบาดใหญ่ครั้งต่อไปจะเกิดขึ้นเมื่อใด เพราะเท่าที่ผ่านมาสำหรับโควิด-19 นั้น เรายังทำได้ไม่ดีในแง่ของการพยากรณ์โรค
อย่างไรก็ตาม จากการพัฒนาวัคซีนและยาบำบัดต่าง ๆ ที่ผ่านมา สำหรับโควิด-19 หากเรามีขีดความสามารถเรื่องการคาดการณ์และทำนายโรคได้ดีกว่านี้ ก็อาจจะช่วยให้ง่ายขึ้นที่จะใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับโรคระบาดใหญ่ครั้งต่อ ๆ ไปได้ในอนาคต