ประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ ส.ส.แนนซี เพโลซี ถูกบันทึกไว้ในประวัติศาสตร์แล้วว่า เป็นเจ้าหน้าที่รัฐบาลระดับสูงที่สุดจากกรุงวอชิงตันที่ได้เดินทางเยือนไต้หวันในรอบ 25 ปี หลังเครื่องบินโดยสารกองทัพอากาศสหรัฐฯ ลงจอดที่สนามบินในกรุงไทเปเมื่อวันอังคาร ซึ่งสร้างความไม่พอใจให้รัฐบาลกรุงปักกิ่งอย่างมากจนออกมาประกาศแผนการซ้อมรบครั้งใหญ่เพื่อเป็นการตอบโต้แผนการเยือนนี้ ขณะที่ รัฐบาลกรุงไทเปให้การต้อนรับคณะผู้แทนสหรัฐฯ อย่างเต็มที่
เหตุผลที่การเยือนไต้หวันของประธานสภาล่างซึ่งเป็นผู้นำฝ่ายนิติบัญญัติสหรัฐฯ ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ และจีนตึงเครียดขึ้นนั้น เป็นเพราะ จีนอ้างกรรมสิทธิ์เหนือไต้หวันและระบุว่า เกาะที่ปกครองตนเองอยู่นี้เป็นส่วนหนึ่งของจีนแผ่นดินใหญ่ และการที่เจ้าหน้าที่รัฐบาลต่างประเทศเดินทางเยือนนั้นเท่ากับเป็นการแสดงจุดยืนยอมรับอธิปไตยของไต้หวันนั่นเอง
หลังมีข่าวแผนการเยือนกรุงไทเปของ ส.ส.เพโลซี ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ได้พยายามหาทางลดความตึงเครียดกับจีนด้วยการย้ำว่า รัฐบาลกรุงวอชิงตันยังคงยึดมั่นในนโยบาย “จีนเดียว” เหมือนที่ผ่านมา ซึ่งหมายความว่า สหรัฐฯ ยอมรับเพียงรัฐบาลกรุงปักกิ่งในฐานะทีมผู้บริหารประเทศจีนเท่านั้น แม้จะมีการรักษาความสัมพันธ์อย่างไม่เป็นทางการและการประสานงานด้านการทหารกับกรุงไทเปเสมอมา
ทั้งนี้ ส.ส.เพโลซี นั้นพยายามเน้นย้ำว่า แผนการนำคณะสมาชิกสภาคองเกรสเยือนไต้หวันนั้นเป็นส่วนหนึ่งของภาระผูกพันที่สหรัฐฯ มีอยู่ในการส่งเสริมการปกครองระบอบประชาธิปไตยเพื่อต้านระบอบเผด็จการทั้งหลายทั่วโลก ซึ่งในกรณีก็คือ ไต้หวันที่ปกครองในระบอบประชาธิปไตย กับระบอบเผด็จการของจีนแผ่นดินใหญ่นั่นเอง
แล้วทำไม เพโลซี ถึงเลือกไปไต้หวัน
ส.ส.เพโลซี ประกาศจุดยืนดำเนินภารกิจส่งเสริมและสนับสนุนการเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยมาเป็นเวลาหลายทศวรรษแล้ว และในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ประธานสภาล่างสหรัฐฯ ได้เดินทางไปหลายแห่งเพื่อทำตามคำมั่นนี้ เช่น ในปี ค.ศ.1991 ที่เธอเดินทางไปยังจัตุรัสเทียนอันเหมิน ในกรุงปักกิ่ง พร้อมกับสมาชิกสภาคองเกรสอื่น ๆ และเปิดป้ายเล็ก ๆ ที่มีข้อความสนับสนุนประชาธิปไตย ท่ามกลางกลุ่มเจ้าหน้าที่ด้านความมั่นคงจีนที่ไม่พอใจและพยายามยุติกิจกรรมดังกล่าวไปด้วย
การเดินทางไปกรุงปักกิ่งเพื่อแสดงจุดยืนดังกล่าวของ ส.ส.เพโลซี ครั้งนั้น เกิดขึ้นหลังจากกองกำลังจีนทำการปราบปราบกลุ่มผู้เคลื่อนไหวเรียกร้องประชาธิปไตยอย่างรุนแรงที่บริเวณจัตุรัสเทียนอันเหมินจนเป็นข่าวไปทั่วโลกเมื่อ 2 ปีก่อนหน้า
ในส่วนของการเยือนไต้หวันในสัปดาห์นี้ ประธานสภาล่างสหรัฐฯ ระบุว่า เป็นส่วนหนึ่งของกรอบแผนงานภารกิจกว้าง ๆ สำหรับช่วงเวลาที่ “โลกกำลังต้องเลือกระหว่างระบอบเผด็จการและระบอบประชาธิปไตย” โดยเมื่อไม่กี่เดือนก่อนหน้า ส.ส.เพโลซี เพิ่งนำคณะผู้แทนสภาคองเกรสเยือนกรุงเคียฟ ประเทศยูเครน เพื่อสนับสนุนการต่อต้านการรุกรานของรัสเซีย ตามคำมั่นที่จะส่งเสริมระบอบการปกครองในระบอบประชาธิปไตยในต่างแดนของเธอนั่นเอง
ส.ส.เพโลซี ระบุในบทความแสดงความคิดเห็นพิเศษที่ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ The Washington Post เกี่ยวกับการเยือนไต้หวันในครั้งนี้ว่า “เราต้องยืนเคียงข้างไต้หวัน” โดยมีการอ้างถึงคำมั่นที่สหรัฐฯ ให้ไว้กับรัฐบาลประชาธิปไตยไต้หวัน ภายใต้กฎหมาย ปี ค.ศ. 1979 และย้ำว่า “เป็นเรื่องสำคัญยิ่งที่อเมริกาและพันธมิตรของเราแสดงจุดยืนอย่างชัดแจ้งว่า เราจะไม่ยอมแพ้ต่อพวกเผด็จการ”
จริง ๆ แล้ว อะไรคือจุดยืนของสหรัฐฯ เกี่ยวกับไต้หวัน
ที่ผ่านมา รัฐบาลประธานาธิบดีโจ ไบเดน และ ส.ส.เพโลซี เอง กล่าวไว้ว่า สหรัฐฯ ยังคงยึดมั่นต่อ “นโยบายจีนเดียว” อยู่เสมอ
ทั้งนี้ ไต้หวันและจีนแผ่นดินใหญ่แยกตัวออกจากกันมาตั้งแต่ช่วงสงครามกลางเมืองในปี ค.ศ. 1949 แต่กรุงปักกิ่งยืนยันมาเสมอว่า เกาะไต้หวันนั้นเป็นส่วนหนึ่งของจีน และไม่เคยปฏิเสธว่า อาจจะมีการใช้กำลังทหารเพื่อยึดอาณาเขตนี้คืนกลับมา
และในช่วงไม่กี่ปีนี้ จีนได้ยกระดับการสร้างแรงกดดันผ่านทั้งช่องทางการทูตและการทหารต่อไต้หวันอย่างมาก หลังประกาศตัดขาดการสื่อสารกับรัฐบาลกรุงไทเปในปี ค.ศ. 2016 เมื่อประธานาธิบดีไช่ อิง-เหวิน ปฏิเสธที่จะรับรองคำอ้างของกรุงปักกิ่งว่า เกาะไต้หวันและจีนแผ่นดินใหญ่นั้นรวมกันแล้วคือจีนเดียว และรัฐบาลพรรคคอมมิวนิสต์จีนคือรัฐบาลผู้ปกครองอันชอบธรรม
ด้วยเหตุนี้ กรุงปักกิ่งจึงมองว่า การที่เจ้าหน้าที่รัฐบาลสหรัฐฯ มีการติดต่อสร้างสัมพันธ์กับรัฐบาลกรุงไทเปเป็นเหมือนการยุยงส่งเสริมให้ไต้หวันที่เป็นอิสระโดยพฤตินัยมาหลายสิบปี ประกาศอิสรภาพจากจีนเป็นการถาวร ซึ่งประเด็นนี้เป็นสิ่งที่ผู้นำสหรัฐฯ ย้ำว่า ไม่เคยสนับสนุนให้เกิดขึ้นเลย
ท่าทีตอบโต้ของกองทัพจีนต่อการเยือนไต้หวันของ ส.ส.เพโลซี
หลังจาก ส.ส.เพโลซี เดินทางถึงไต้หวันแล้ว จีนได้ออกมาประกาศแผนการซ้อมรบและปฏิบัติการทางทหารมากมายทันที พร้อมประกาศคำสัญญาว่าจะดำเนิน “มาตรการอันหนักแน่นและเด็ดเดี่ยว” หากประธานสภาล่างสหรัฐฯ เดินหน้าบรรลุแผนการเยือนครั้งนี้
กองทัพปลดปล่อยประชาชน (PLA) ของจีน เปิดเผยว่า การซ้อมรบและปฏิบัติการต่าง ๆ นั้นจะเกิดขึ้นทั้งทางน้ำและทางอากาศใกล้ ๆ กับไต้หวัน และจะมีการยิงกระสุนพิสัยไกลในพื้นที่ช่องแคบไต้หวันด้วย
สำนักข่าวซินหัวของทางการจีนรายงานด้วยว่า กองทัพจีนมีแผนที่จะทำการซ้อมรบตั้งแต่วันพฤหัสบดีจนถึงวันอาทิตย์ในพื้นที่หลายจุด และยังเผยแพร่ภาพถ่ายที่มีการระบุว่า การซ้อมรบนั้นจะจัดขึ้นในพื้นที่ทางน้ำ 6 จุดรอบ ๆ ไต้หวัน
กระทรวงกลาโหมไต้หวันกล่าวในช่วงเช้าของวันพุธว่า จีนได้ส่งเครื่องบิน 21 ลำบินมาทางไต้หวัน โดย 18 ลำนั้นเป็นเครื่องบินรบ ส่วนที่เหลือเป็นเครื่องบินเตือนภัยล่วงหน้าและเครื่องบินสงครามอิเลกทรอนิกส์
การโต้ตอบจากฝั่งสหรัฐฯ
ขณะที่ ปธน.ไบเดนแสดงความกังวลเกี่ยวกับการเดินทางเยือนไต้หวันของ ส.ส.เพโลซี รัฐบาลกรุงวอชิงตันเองกลับไม่ได้ออกมาคัดค้านแผนการดังกล่าวอย่างเปิดเผย และยังกล่าวด้วยว่า เป็นเรื่องของประธานสภาล่างที่จะตัดสินใจว่า จะแวะกรุงไทเปหรือไม่
และก่อนที่ ส.ส.เพโลซี จะออกเดินทางทัวร์เอเชียนั้น กองทัพสหรัฐฯ ได้ยกระดับกิจกรรมในภาคพื้นอินโด-แปซิฟิกไปแล้ว โดยเครื่องบินขนส่ง USS Ronald Reagan และกองบินจู่โจมได้ไปปรากฏตัวที่แถบทะเลฟิลิปปินส์ตั้งแต่วันจันทร์ ตามข้อมูลจากเจ้าหน้าที่สหรัฐฯ ที่ไม่สามารถเปิดเผยตัวตนได้
หลักจากนั้น เครื่องบินขนส่ง Ronald Reagan ที่ขนส่งพาหนะทางอากาศหลายชนิด เช่น เครื่องบินรบ F/A-18 และเฮลิคอปเตอร์ รวมทั้ง ระบบเรดาร์ล้ำสมัยและอาวุธอื่น ๆ เดินทางพร้อมเรือลาดตระเวณ USS Antietam และเรือพิฆาต USS Higgins แวะสิงคโปร์ ก่อนจะมุ่งหน้ากลับไปที่ฐานที่มั่นในญี่ปุ่น
ความเสี่ยงของการยกระดับความขัดแย้งสู่การใช้กำลัง
ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง และปธน.ไบเดน ต่างแสดงจุดยืนชัดเจนว่า ทั้งคู่ไม่ต้องการให้เกิดการเผชิญหน้าด้วยกำลังเลย โดยในระหว่างการประชุมผ่านระบบออนไลน์เมื่อสัปดาห์ก่อน ปธน.สี ยังให้ความเห็นสะท้อนแนวคิดของปธน.ไบเดน ด้วย ซึ่งก็คือ ทั้งสหรัฐฯ และจีน ควรร่วมมือกันในด้านที่เป็นประโยชน์ต่อตน
แต่ถ้าจะถามว่า ความเสี่ยงในเรื่องการใช้กำลังยังมีอยู่หรือไม่ คำตอบก็คือ ยังมีอยู่ ในกรณีที่ จีนพยายามใช้มาตรการยั่วยุต่าง ๆ ดังที่ดำเนินการหนักขึ้นเรื่อย ๆ ในพื้นที่ทะเลจีนใต้ เช่น การส่งเครื่องบินของกองทัพขึ้นบินประกบเครื่องบินของชาติอื่น หรือการให้เรือรบของตนล่องไปเผชิญหน้ากับเรือรบของประเทศอื่น ๆ เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม หากพูดถึงสหรัฐฯ ที่มีสรรพกำลังทางทหารยิ่งใหญ่ที่สุดนั้น หยู เจี่ย นักวิชาการอาวุโส จากองค์กรคลังสมองChatham House กล่าว่า “แม้จะมีเสียงประสานส่งข้อความรักชาติออกมา(จากจีน)มากมาย จีนจะยังคงระมัดระวังและไม่ถลำเข้าไปในอยู่ในความขัดแย้งที่มีความเสียหายขนานใหญ่รออยู่ทุกด้าน”
เจี่ย กล่าวว่า สำหรับจีนแล้ว วิธีที่ดีที่สุดก็คือ อดทนและรอเวลา ... ให้ถึงวันที่เศรษฐกิจและกองทัพของตนมีขนาดใหญ่เกินกว่าสหรัฐฯ จะท้าทายตนได้
- ที่มา: วีโอเอ