ลิ้งค์เชื่อมต่อ

ทำไมนาโต้ถึงหันมาจับตาดูจีนอย่างใกล้ชิด


Visitors watch a flag-raising ceremony as the sun rises at Tiananmen Square
Visitors watch a flag-raising ceremony as the sun rises at Tiananmen Square

ผู้นำรัฐบาลสมาชิกกลุ่มองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (นาโต้) มีกำหนดเข้าร่วมประชุมที่ประเทศสเปนในสัปดาห์หน้า โดยหัวข้อที่คาดว่าจะมีการหยิบยกขึ้นมาถกน่าจะเป็น กรณีสงครามในยูเครนและหนทางที่จะยับยั้งการรุกรานของกองทัพรัสเซียไปยังพื้นที่อื่น ๆ ของยุโรป

แต่สัญญาณล่าสุดจากพันธมิตรทางการทหารของชาติตะวันตกแสดงให้เห็นว่า นาโต้กำลังเริ่มหันไปมองสถานการณ์ในซีกโลกตะวันออกมากขึ้นแล้ว และหลายฝ่ายเชื่อว่า การประชุมที่จะมีขึ้นจะหารือประเด็นความท้าทายที่มาจากรัฐบาลกรุงปักกิ่งในแบบที่ลงลึกและรายละเอียดมากกว่าที่เคย

การประชุมครั้งนี้จะเป็นครั้งแรกที่นาโต้เชิญผู้นำจากเอเชีย-แปซิฟิก อันได้แก่ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ ซึ่งไม่ได้เป็นสมาชิกแต่แสดงความกังวลเกี่ยวกับอิทธิพลของจีนที่ขยายตัวต่อเนื่อง เข้าร่วมหารือด้วย

นับตั้งแต่ปี ค.ศ. 2020 มา กลุ่มพันธมิตรทางทหารแห่งนี้ได้ยกระดับความร่วมมือกับ 4 ประเทศที่นาโต้เรียกว่าเป็น “Asia-Pacific partners” หรือ หุ้นส่วนเอเชีย-แปซิฟิก มาโดยตลอด

การดึงประเทศนอกกลุ่มเหล่านี้เข้ามาร่วมด้วยแสดงให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงที่ชัดเจนเกี่ยวกับลำดับความสำคัญของประเด็นที่นาโต้ให้ความสนใจ จากที่เคยเป็นเรื่องของการร่วมกันปกป้องอเมริกาเหนือและประเทศสมาชิกในยุโรปเท่านั้น

เหตุผลที่นาโต้เริ่มหันมามองประเด็นดังกล่าวคงหนีไม่พ้นการที่จีนแผ่ขยายอิทธิพลของตนไปทั่วโลก รวมทั้งการที่กรุงปักกิ่งยกระดับความร่วมมือทางทหารกับรัสเซีย ซึ่งล้วนทำให้กลุ่มพันธมิตรทางทหารนี้ไม่สามารถทำไม่รู้ไม่เห็นได้

ผู้สังเกตการณ์หลายคนกล่าวว่า แม้ว่า นาโต้จะไม่ได้พูดถึงการขยายการรับสมาชิกใหม่จากประเทศในแถบเอเชีย การหันมาสนใจดูประเด็นความเป็นไปในภูมิภาคตะวันออกของทางกลุ่มนี้น่าจะเดินหน้าต่อไปอีกนาน

ซูซา แอนนา เฟเรนช์ซี อดีตที่ปรึกษาด้านการเมืองของรัฐสภายุโรป เป็นคนหนึ่งที่ไม่คาดหวังว่า นาโต้จะขยายงานเข้าไปในภาคพื้นอินโด-แปซิฟิก หรือจัดตั้งองค์กรใหม่เหมือนนาโต้ ในเวอร์ชั่นเอเชีย แต่คาดว่า ความร่วมมือระหว่างกลุ่มพันธมิตรนี้และประเทศต่าง ๆ ในเอเชียจะยกระดับเพิ่มขึ้นเพื่อรับมือกับภัยคุกคามจากพฤติกรรมก้าวร้าวและการขยายอิทธิพลทางเศรษฐกิจจากจีน

ความสัมพันธ์ยุโรป-จีน ที่เริ่มขม

การเริ่มหันไปมองซีกโลกตะวันออกของนาโต้นั้นไม่ได้สะท้อนให้เห็นเพียงภาวะการขับเคี่ยวที่เข้มข้นขึ้นเรื่อย ๆ ระหว่างสหรัฐฯ และจีนเท่านั้น แต่ยังแสดงให้เห็นถึงทัศนคติของยุโรปต่อกรุงปักกิ่งที่เริ่มเปลี่ยนไปด้วย

ในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา ยุโรปให้ความสำคัญต่อการสร้างความสัมพันธ์ที่มั่นคงกับจีนมาโดยตลอด จนจีนก้าวขึ้นมาเป็นคู่ค้าอันดับหนึ่งของสหภาพยุโรป แทนที่สหรัฐฯ เมื่อปี ค.ศ. 2020

แต่ความสัมพันธ์อันหวานชื่นระหว่างทั้งสองเริ่มขมลงเรื่อย ๆ ตั้งแต่ สี จิ้นผิง ก้าวขึ้นมาดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีจีน และดำเนินนโยบายปกครองในแบบเผด็จการมากขึ้นและนโยบายต่างประเทศที่ก้าวร้าวมากขึ้น

NATO Secretary-General Jens Stoltenberg speaks during a media conference after a meeting of NATO defense ministers at NATO headquarters in Brussels, June 16, 2022.
NATO Secretary-General Jens Stoltenberg speaks during a media conference after a meeting of NATO defense ministers at NATO headquarters in Brussels, June 16, 2022.

ภายใต้การนำของปธน.สี จิ้นผิง จีนจัดการปราบปรามฝ่ายค้านที่สนับสนุนระบอบประชาธิปไตยในฮ่องกง และยกระดับการใช้กำลังทหารเพื่อบีบและขู่ไต้หวัน ขณะที่รัฐบาลกรุงปักกิ่งยังถูกกล่าวหาว่า ทำการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวมุสลิมอุยกูร์ด้วย

ยิงกว่านั้น ปธน.สี ยังสั่งเดินหน้าส่งกองกำลังทหารไปประจำตามจุดต่าง ๆ นอกอาณาเขตของตนอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในบริเวณทะเลจีนใต้ ซึ่งถูกนานาชาติในภูมิภาคคัดค้านอย่างหนัก เพราะการกระทำดังกล่าวลุกล้ำเข้าไปยังอาณาเขตของประเทศเหล่านั้น

นอกจากนั้น ภายใต้แนวทางการทูตแบบแข็งกร้าวและประจัญหน้าหรือที่เรียกว่า “wolf warrior” diplomacy รัฐบาลจีนประกาศชัดเจนว่า ตนจะตอบโต้กับทุกประเทศที่วิพากษ์วิจารณ์ปักกิ่ง หรือออกนโยบายที่ขัดแย้งกับสิ่งที่ตนต้องการทำ

ยกตัวอย่างเช่น กรณีที่ประเทศลิทัวเนียอนุญาตให้ไต้หวันเปิด ‘สถานทูตทางพฤตินัย’ แล้ว กรุงปักกิ่งประกาศลดระดับความสัมพันธ์ทางการทูตกับลิทัวเนียและดำเนินมาตรการคว่ำบาตรทางการค้าทันที โดยคำสั่งห้ามนำเข้าสินค้านี้ไม่ได้มีผลกระทบต่อลิทัวเนียเท่านั้น แต่ยังมีผลต่อสินค้าในยุโรปทุกประเภทที่มีชิ้นส่วนมาจากประเทศนี้ด้วย

การระบาดใหญ่ของโควิด-19 เป็นอีกปัจจัยที่ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างยุโรปและจีนย่ำแย่ลง หลังจีนถูกกล่าวหาว่า ไม่ยอมให้ความร่วมมือมากพอกับองค์การอนามัยโลก ในการสอบสวนที่มาของโคโรนาไวรัสซึ่งปรากฏตัวขึ้นครั้งแรกในจีน

เมื่อนาโต้เริ่มเปลี่ยนวิธีรับมือสถานการณ์ต่าง ๆ

ความสงสัยที่ยุโรปมีต่อจีนเริ่มชัดเจนขึ้นไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้เอง

โดยในปี ค.ศ. 2019 นาโต้ระบุชื่อจีนในแถลงการณ์ของตนเป็นครั้งแรก แต่เป็นการพูดถึงเพียงสั้น ๆ ว่า กรุงปักกิ่ง “คือทั้งโอกาสและความท้าทาย”

และเมื่อเวลาผ่านไป 2 ปี ท่าทีของนาโต้ที่มีต่อจีนเริ่มเปลี่ยนไปอีก โดยในแถลงการณ์ร่วมจากที่ทำการใหญ่ของกลุ่มพันธมิตรนี้ระบุว่า จีนนั้นเป็น “ความท้าทายทางระบบต่อความสงบเรียบร้อยระหว่างประเทศตามที่กำหนดโดยกฎเกณฑ์ต่าง ๆ” และตำหนิว่า จีนนั้นดำเนินนโยบาย “แบบขู่เข็ญบีบบังคับ” ดำเนินการปรับปรุงพัฒนากองทัพ “แบบคลุมเครือ” และทำการซ้อมรบร่วมกับรัสเซียในพื้นที่ยูโร-แอตแลนติก ด้วย

เหตุผลสำคัญที่นาโต้ออกมาแสดงท่าทีที่เป็นมิตรน้อยลงก็คือ สงครามในยูเครน ซึ่งเกิดขึ้นในช่วงเดียวกับที่รัฐบาลกรุงปักกิ่งและรัฐบาลกรุงมอสโก ร่วมกันประกาศความเป็นหุ้นส่วน “แบบไร้ขีดจำกัด”

Russian President Vladimir Putin (L) and Chinese President Xi Jinping pose for a photograph during their meeting in Beijing, on February 4, 2022.
Russian President Vladimir Putin (L) and Chinese President Xi Jinping pose for a photograph during their meeting in Beijing, on February 4, 2022.

และหลังกรุงมอสโกสส่งกองทัพรุกรานยูเครน จีนพยายามแสดงตนว่า เป็นกลาง มาโดยตลอด แต่ผู้สังเกตการณ์จากฟากฝั่งยุโรปนั้นไม่เชื่อสักเท่าใด และระบุว่า จีนมักจะออกมาปกป้องรัสเซียทุกครั้งที่มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากนานาชาติ ทั้งยังกล่าวโทษกรุงวอชิงตันว่า ดำเนิน “แนวคิดแบบสงครามเย็น” ที่เป็นปัจจัยยั่วยุมอสโก

ปิแอร์ มอร์คอส นักวิชาการจากศูนย์ Center for Strategic and International Studies กล่าวว่า ความขัดแย้งในยูเครน “ยืนยันกรณีการสร้างสายสัมพันธ์เชิงกลยุทธ์ระหว่างจีนและรัสเซียที่ขยายตัวขึ้นเรื่อย ๆ” และนั่นคือเหตุผลที่ ประเทศในเอเชียที่คิดเหมือน ๆ กัน ออกมาแสดงจุดยืนสนับสนุนยูเครนและต่อต้านรัสเซียกัน

เมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา เยนส์ สโตลเทนเบิร์ก เลขาธิการองค์การนาโต้ กล่าวยืนยันว่า กลุ่มพันธมิตรนี้ไม่เคยมองจีนเป็นศัตรู แต่เปิดเผยว่า ในการประชุมกลุ่มที่กำลังจะมีขึ้นนั้นจะมีการออกแถลงการณ์ที่มีเนื้อความว่า “จีนนั้นกลายมาเป็นความท้าทายต่อคุณค่า ผลประโยชน์ และความมั่นคงของเรา(กลุ่ม) แล้ว”

ทั้งนี้ จีนไม่ได้นิ่งเฉยต่อท่าทีดังกล่าวของนาโต้ และในระหว่างการแถลงข่าวเมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา หวัง เหวินปิน โฆษกกระทรวงการต่างประเทศจีน กล่าวหานาโต้ว่า กำลังทำการ “ที่เป็นอันตรายยิ่ง” เพื่อสร้างกลุ่มก้อนที่เป็นปรปักษ์ในเอเชีย

โฆษก หวัง ระบุว่า “นาโต้ ได้ทำให้ความมีเสถียรภาพในยุโรปหยุดชะงักไปแล้ว” และว่า “(นาโต้) ไม่ควรพยายามทำแบบเดียวกันกับเอเชีย-แปซิฟิกและทั่วทั้งโลกอีก”

  • ที่มา: วีโอเอ
XS
SM
MD
LG