เมื่อนาฬิกาในสหรัฐฯ เคลื่อนถึงเวลา 02.00 น. ในวันอาทิตย์ที่ 10 มีนาคมปีนี้ เข็มสั้นก็จะปรับเร็วขึ้นมาเป็น 03.00 น. ทันที ซึ่งหมายถึงการสูญเสียเวลานอนไป 1 ชั่วโมง แต่ก็หมายถึงการที่ผู้คนจะได้มีเวลาใช้ชีวิตกับช่วงวันที่ยาวขึ้นอีกนิด ขณะที่ ฤดูกาลค่อย ๆ เปลี่ยนผ่านออกจากฤดูหนาวสู่ฤดูใบไม้ผลิเพื่อไปยังฤดูร้อนอีกครั้ง
แอน บัคเคิล บรรณาธิการเว็บไซต์ของ timeanddate.com ซึ่งนำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับเวลา โซนของเวลา (time zone) และดาราศาสตร์ ให้ความเห็นว่า การปรับเวลาเร็วขึ้น 1 ชั่วโมงอาจทำให้ระบบในร่างการคนเราปั่นป่วนไปบ้าง แต่ข้อดีก็คือ การที่เรามีเวลาเพิ่ม 1 ชั่วโมงเพื่อจะใช้ชีวิตนอกบ้าน ภายใต้แสงแดดอบอุ่น เพื่อออกกำลังกายและกิจกรรมอื่น ๆ นั่นเอง
แต่ทำไมถึงต้องมีการปรับเวลาเพื่อการออมแสง หรือ daylight saving time กันในราว 70 ประเทศ หรือประมาณ 40%ของจำนวนประเทศทั่วโลก
เอพีระบุว่า ในช่วงคริสต์ทศวรรษที่ 1890 นั้น จอร์จ เวอร์นอน ฮัดสัน นักดาราศาสตร์จากนิวซีแลนด์ เสนอให้มีการปรับเวลาในฤดูใบไม้ผลิและฤดูใบไม้ร่วงเพื่อเพิ่มเวลาที่คนเราจะได้เห็นแสงแดดเพิ่มขึ้น ก่อนที่ในช่วงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 1900 วิลเลียม วิลเล็ต ผู้มีอาชีพรับสร้างบ้าน ออกมาสนับสนุนแนวคิดนี้เพราะเห็นว่า ผู้คนไม่ได้ใช้ประโยชน์จากช่วงวันที่ยาวขึ้นมากพอ
แต่ข้อเสนอของสองคนนี้ก็ไม่ได้ถูกนำไปปฏิบัติใช้จริงในทันที
จนกระทั่ง เยอรมนีเริ่มนโยบายออมแสงในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 เพื่อหวังช่วงประหยัดพลังงาน และสหรัฐฯ รวมทั้งประเทศอื่น ๆ ตัดสินใจทำตาม
ในปัจจุบัน ทุกรัฐของสหรัฐฯ ยกเว้น ฮาวายและอลาสกา และทุกประเทศในยุโรป พื้นที่ส่วนใหญ่ของแคนาดาและบางส่วนของออสเตรเลีย มีการปรับเวลาปีละ 2 ครั้ง
อย่างไรก็ดี การต้องปรับนาฬิกาปีละ 2 ครั้งทำให้หลายคนไม่ค่อยสนุกนัก และมีการเสนอให้ใช้เวลามาตรฐานเดียวตลอดทั้งปีแทนแล้ว
ถึงกระนั้น การยกเลิกการออมแสงในวงกว้างก็ยังไม่มีแววที่จะเกิดขึ้นในเร็ววันนี้อยู่ดี
- ที่มา: เอพี
กระดานความเห็น