ผลการสำรวจชั่วโมงการทำงานของ 30 ประเทศในกลุ่มองค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ หรือ OECD พบว่า ชาวอเมริกันทำงานหนักในแง่ของจำนวนชั่วโมงต่อสัปดาห์ เมื่อเทียบกับกลุ่มประเทศที่มั่งคั่งอื่นๆ
ข้อมูลของ OECD เมื่อปี 2017 ที่เผยแพร่เมื่อวันศุกร์ ระบุว่า ชาวอเมริกันทำงานเฉลี่ย 1780 ชั่วโมงต่อปี ซึ่งสูงกว่าเยอรมนี ฝรั่งเศส อังกฤษ แคนาดา ญี่ปุ่น และอิตาลี
และเมื่อเปรียบเทียบเป็นวันหยุดพักร้อน กลุ่มประเทศ OECD อย่างฝรั่งเศสและเดนมาร์ด พนักงานที่ทำงานในบริษัทมาอย่างน้อย 10 ปี จะได้วันหยุดพักร้อนปีละ 25 วัน ส่วนเยอรมันอยู่ที่ 20 วัน ขณะที่พนักงานชาวอเมริกันจะได้วันหยุดพักร้อนเฉลี่ยปีละ 17 วัน
นอกจากจะมีวันหยุดน้อยกว่าเพื่อนในกลุ่ม OECD แล้ว มากกว่าครึ่งหนึ่งของชาวอเมริกันไม่ยอมใช้วันหยุดพักร้อนด้วย
ซึ่งผู้เชี่ยวชาญด้านแรงงาน เทเรซา กิลาร์ดุชชี มองว่า ชาวอเมริกันกลัวตกงานมากกว่าไม่ได้หยุดพักผ่อนเสียอีก ในอเมริกาพวกเขาสามารถถูกไล่ออกได้ง่ายกว่าประเทศอื่นๆใน OECD เพราะพวกเขาไม่มีเครื่องป้องกันหรือรับประกันการมีงานทำเหมือนประเทศอื่น โดยเฉพาะสหภาพแรงงานที่แข็งแกร่งพอ ทำให้พวกเขาต้องทำงานหนักเกินเหตุ โดยเฉพาะในช่วงเศรษฐกิจถดถอย
ขณะที่ ข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติสหรัฐฯ ระบุว่า พนักงานชาวอเมริกันร้อยละ 77 ได้รับวันหยุดพักร้อน แต่ที่อเมริกา นายจ้างอเมริกันไม่ถูกบังคับให้จัดสรรวันหยุดงานโดยมีการจ่ายเงินให้ หรือ Paid Time Off ให้กับพนักงาน ซึ่งส่วนใหญ่ผู้ที่ไม่ได้รับสวัสดิการนี้จะเป็นพนักงานพาร์ทไทม์ แรงงานรายได้น้อย และพนักงานในบริษัทเล็กๆ
คุณกิลาร์ดุชชี มองว่า ความสัมพันธ์แบบนายจ้างลูกจ้างอเมริกัน คือ นายจ้างต้องการให้ลูกจ้างทำงานอย่างเต็มกำลัง ก่อนจะหาคนใหม่มาแทนที่
ขณะที่ระบบ Paid Leave หรือวันหยุดที่นายจ้างต้องจ่ายค่าแรงในอเมริกาก็ไม่มั่นคงพอ และมีโอกาสที่นายจ้างจะลดชั่วโมงเหล่านี้ลงไปอีก โดยอ้างเหตุผลเรื่องต้นทุนการบริหารงานได้
ซึ่งคุณกิลาร์ดุชชี มองว่า การลดชั่วโมงหยุดงานลาพักร้อนไม่สมเหตุสมผล เพราะพฤติกรรมของลูกจ้างอเมริกันส่วนใหญ่ จะพยายามจัดสรรและจัดการงานของตนให้เสร็จสิ้นก่อนวันหยุดพักร้อน รวมทั้งมอบหมายให้เพื่อนร่วมงานช่วยสานต่อได้ ก่อนที่จะกลับมาชดใช้คืนด้วยการทำงานอย่างหนัก ซึ่งไม่กระทบกับประสิทธิภาพการทำงานโดยรวม